ปรับตัวฉุกเฉิน

ปรับตัวฉุกเฉิน

คนที่อยู่รอดได้ล้วนเป็นคนที่มุ่งมั่นตั้งใจจริง และไม่ย่อท้อต่อการหาหนทางใหม่ๆ

หากมีโอกาสได้คุยกับเจ้าของกิจการเอสเอ็มอีในช่วงเวลานี้คงมีแต่ความอัดอั้นตันใจที่เขาระบายให้คนรอบข้างฟัง เพราะมองไปรอบตัวก็ยังไม่เห็นอนาคตว่าธุรกิจของเขาจะกลับมาเป็นปกติได้เมื่อไร 

แม้ก่อนหน้านี้นักวิชาการณ์คาดว่า การระดมฉีดวัคซีนให้มากๆ น่าจะช่วยให้ธุรกิจหวนคืนสู่ภาวะปกติได้ แต่หลายๆ ประเทศกลับเกิดการระบาดใหม่จนมีแนวโน้มว่าจะยืดเยื้อยาวนานกว่าที่คาดไว้อีกหลายปี

หลายคนที่ผมมีโอกาสได้พูดคุยด้วยบอกว่า พยายามหาทางออกด้วยการใช้ที่ปรึกษาหรือนักวิชาการมาช่วยปรับเปลี่ยนองค์กร โดยเฉพาะการทำ Digital Transformation เพื่อใช้เทคโนโลยีเปลี่ยนโฉมธุรกิจ แต่ก็ต้องพบกับปัจจัยภายใน เช่นความพร้อมด้านเงินทุน ความพร้อมของพนักงาน ฯลฯ จนทำให้เปลี่ยนแปลงไปตามทิศทางที่ต้องการได้ยาก

ในความเป็นจริงแล้วปัญหาที่ใหญ่กว่าคือ มุมมองความคิดต่อการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในครั้งนี้ เพราะโควิดผลักให้โลกของเราเข้าสู่มิติใหม่ แม้ว่าตัวตนของเราจะไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงแต่สภาพแวดล้อมนั้นเปลี่ยนไปจากเดิมมาก

ลองจินตนาการถึงการเดินทางของเราที่ต้องสะดุดลงด้วยเครื่องบินที่มีเหตุขัดข้องจนต้องร่อนลงฉุกเฉินในป่ากลางเกาะที่ไม่มีใครรู้จัก แน่นอนว่าเมื่อเครื่องตกถึงพื้นใหม่ๆ คงเต็มไปด้วยความโกลาหลวุ่นวาย

อาจมีคนบาดเจ็บล้มตาย แต่คนที่อยู่รอดได้ก็ต้องพยายามออกจากป่านั้น เมื่อตระหนักได้ว่าตัวเองอยู่บนเกาะร้างที่ต้องรอคอยความช่วยเหลือยาวนาน หรืออาจะไม่มีใครมาช่วยเพราะหาไม่เจอ เราก็จะหาทางเอาตัวรอดในป่าแห่งนั้น สัญชาติญาณการเอาชีวิตรอดจึงทำหน้าที่อย่างเต็มที่ทั้งการระวังภัยจากสัตว์ป่า ระวังภัยจากธรรมชาติ ฯลฯ

ในห้วงเวลานั้นคนที่รอดชีวิตจึงไม่มีใครแบ่งแยกกันอีกแล้วว่า ใครถือบัตรโดยสารชั้นหนึ่งหรือชั้นธุรกิจ ที่ต้องมีอภิสิทธิ์มากกว่าชั้นประหยัด เพราะเมื่อเราต้องเอาตัวรอดผู้โดยสารทุกคนก็กลายเป็นผู้ประสบภัยอย่างเท่าเทียมกัน

การรู้จักคนรอบข้างโดยไม่แบ่งแยกจะทำให้ได้รู้ว่า แต่ละคนมีความถนัดและความเชี่ยวชาญด้านใด บางคนเป็นแพทย์ก็ช่วยเหลือคนเจ็บป่วยได้ บางคนเก่งงานไม้รู้วิธีทำที่พักอาศัยชั่วคราวได้ บางคนรู้จักพืชผักต่าง ๆ รู้วิธีทำอาหารได้ ฯลฯ ความร่วมมือเพื่อเอาชีวิตรอดได้ก็จะเกิดขึ้น

ถึงเวลาจำเป็นเช่นนั้นคงต้องลืมความสะดวกสบายในชีวิตไปก่อน เพราะบางคนอาจไม่เคยทำอะไรด้วยตัวเองได้แต่อาศัยคนรับใช้ หรือมีผู้ช่วยคอยจัดการทุกสิ่งทุกอย่างให้ แต่เมื่อถึงเวลาจำเป็นเราก็ต้องละวางความสุขสบายส่วนตัวไว้ก่อนและหันมาร่วมมือกันเพื่อเอาชีวิตรอดไปให้ได้

กลับมาที่โลกแห่งความเป็นจริง เจ้าของธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็กที่อาจมีจำนวนพนักงานไม่มากนักอาจต้องหันกลับมาดูที่พนักงานแต่ละคนว่ามีความถนัดความเชี่ยวชาญด้านไหน บางคนเก่งเรื่องการขาย บางคนเก่งเรื่องการจัดส่ง ฯลฯ

เมื่อรู้ว่าเรามีจุดเด่นในด้านไหน ก็หันมาดูสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไปว่าสังคมมีความต้องการในเรื่องอะไรบ้าง สุดท้ายเราอาจจะพบหนทางใหม่ๆ ในการทำธุรกิจที่อาศัยจุดเด่นที่คนของเรามีร่วมกันเอามาพัฒนาจนกลายเป็นทางรอดให้กับธุรกิจของเราได้

แต่การหาหนทางดังกล่าวให้เจอไม่ใช่เรื่องง่ายๆ เลย เพราะในตอนแรกเมื่อวิกฤติการณ์มาถึงก็ไม่ต่างอะไรกับตอนที่เครื่องบินตกใหม่ๆ นั่นคือความสับสนวุ่นวาย ไม่รู้ว่าเกิดอะไรขึ้น ไม่รู้ว่าต้องทำอย่างไรต่อไป และเราจะต้องทำอะไรบ้างเพื่อให้อยู่รอดได้

จนเมื่อฝุ่นควันจางลง เราอาจเริ่มมองเห็นอะไรได้ชัดเจนมากขึ้น มองเห็นหนทางว่าจะต้องทำอะไรต่อไป ความถนัดที่เรามีอยู่อาจเป็นประโยชน์ในช่วงเวลานี้ เช่นเดียวกับทุกวันนี้ที่เราจะเห็นเบเกอรี่โฮมเมด อาหาร ขนม ยี่ห้อใหม่ๆ เกิดขึ้นมากมายเพราะมีคนปรับตัวหันมาทำสิ่งที่ตัวเองรักให้เป็นอาชีพใหม่ได้สำเร็จ

คนที่อยู่รอดได้ จึงล้วนเป็นคนที่มุ่งมั่นตั้งใจจริง และไม่ย่อท้อต่อการหาหนทางใหม่ๆ ที่อาจไม่เหมือนเดิมแต่อาจทำให้เราไปได้ไกลกว่าเดิมก็เป็นได้