จัดพอร์ตตราสารหนี้แบบไหนดี เมื่อเฟดเตรียมจะลดวงเงิน QE

จัดพอร์ตตราสารหนี้แบบไหนดี เมื่อเฟดเตรียมจะลดวงเงิน QE

ตราสารหนี้ถือเป็นหนึ่งในสินทรัพย์ที่ค่อนข้างปลอดภัย เพราะนักลงทุนจะได้รายได้สม่ำเสมอจากดอกเบี้ยและได้เงินต้นคืนเมื่อครบกำหนด หรือหากต้องการขายก่อนก็สามารถทำได้

แต่ในปีนี้ตลาดตราสารหนี้ทั่วโลกต้องรับมือกับความผันผวนอย่างหนัก ริ่มจากเมื่อช่วงเดือนกุมภาพันธ์ที่อัตราเงินเฟ้อในสหรัฐฯ เร่งตัวขึ้นแรงากฐานต่ำในปีที่แล้ว ทำให้นักลงทุนกังวลว่าเฟดจะลดมาตรการผ่อนคลายทางการเงินพิเศษหรือพลิกกลับมาขึ้นดอกเบี้ยเร็วกว่าคาด ส่งผลให้บอนด์ยีลด์ 10 ปี ของสหรัฐฯ พุ่งขึ้นกว่า 0.8% มาทำจุดสูงสุดที่ราว 1.7% ในเดือนมีนาคม (จาก 0.9% ณ สิ้นปี 2020) และราคาตราสารหนี้ร่วงลงทั่วโลก แต่หลังจากนั้นไม่นาน นักลงทุนก็คลายกังวลหลังรับรู้ว่าเงินเฟ้อจะเร่งขึ้นเพียงชั่วคราว และเฟดต้องพิจารณาอีกหลายปัจจัยโดยเฉพาะการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและการจ้างงาน ก่อนจะตัดสินใจปรับเปลี่ยนนโยบายการเงิน

และในช่วงนี้ประเด็นร้อนแรงที่สุด คงหนีไม่พ้นยักษ์ใหญ่อสังหาริมทรัพย์ของจีนอย่างกลุ่มบริษัท Evergrande ที่ตกอยู่ในภาวะวิกฤตกับหนี้ก้อนโต กว่า 3 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งคิดเป็นถึง 2% ของ GDP จีน นักลงทุนกลัวว่าบริษัทจะผิดนัดชำระหนี้ หลัง Fitch ลดอันดับความน่าเชื่อถือลงมาที่ CC จาก CCC+ เพราะปัญหาสภาพคล่อง กดให้ราคาหุ้นร่วงลงกว่า 85% จากจุดสูงสุดในเดือนมกราคม ส่วนราคาหุ้นกู้ก็ตกลงอย่างต่อเนื่องเช่นกัน นอกจากนั้น นักลงทุนยังมองว่าความเสี่ยงนี้มีโอกาสกระทบเป็นลูกโซ่ในวงกว้าง จึงเกิดการเทขายหุ้นกู้ในกลุ่มผลตอบแทนสูงหรือ High Yield หุ้นกลุ่มอสังหาฯ ธนาคารและประกันในจีน ตลอดจนสินทรัพย์เสี่ยง อื่นๆ ทั่วโลก

ตลาดพันธบัตรไทยก็เผชิญกับแรงขายของนักลงทุนต่างชาติ จากข้อมูลที่ว่าจะมีปริมาณพันธบัตรออกมามากขึ้น ลังสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะประกาศแผนกู้เงินในปีงบประมาณหน้าว่าจะออกพันธบัตรราว 1.1-1.3 ล้านล้านบาท สูงกว่าที่ตลาดคาดไว้ที่ 8-9 แสนล้านบาท นอกจากนั้น คณะกรรมการวินัยการเงินการคลังยังได้เห็นชอบการขยายเพดานหนี้จาก 60% เป็น 70% ต่อ GDP เพื่อให้ภาครัฐสามารถเบิกจ่ายงบประมาณหรือออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติมได้ ทำให้บอนด์ยีลด์ 10 ปี ของไทยขยับขึ้นจากจุดต่ำสุดที่ราว 1.4% ในช่วงต้นเดือนสิงหาคม มาอยู่ที่ระดับใกล้เคียง 1.8% ณ ปัจจุบัน ทำให้ตั้งแต่ต้นเดือนกันยายน ผลตอบแทนของกองทุนรวมตราสารหนี้ไทยติดลบเกือบทั้งอุตสาหกรรม

ในช่วงที่เหลือของปีนี้ ตลาดตราสารหนี้จะยังต้องเผชิญความผันผวนต่อไป จากทั้งแผนการลดวงเงินการซื้อสินทรัพย์ของเฟด (Fed Tapering) หรือการเข้มงวดนโยบายทางการเงินของธนาคารกลางบางประเทศ โดยในปีนี้ ธนาคารกลางของเกาหลีใต้ บราซิล และรัสเซีย เริ่มปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยแล้ว มากไปกว่านั้น ตลาดอาจได้รับแรงกดดันจากการที่เศรษฐกิจบางประเทศเริ่มขยายตัวในอัตราที่ชะลอลงซึ่งอาจกระทบความสามารถในการชำระหนี้ของบริษัทที่ฐานะการเงินอ่อนแอ

 

 

ในภาวะเช่นนี้ เราแนะนำลงทุนในกองทุนรวมหุ้นกู้เอกชนในภูมิภาคเอเชีย เนื่องจากมีผลตอบแทนที่น่าพอใจมื่อเทียบกับหุ้นกู้ในฝั่งสหรัฐฯ และยุโรป โดยสามารถกระจายทั้งระดับความน่าเชื่อถือสูง (Investment grade) และแบบผลตอบแทนสูง เสี่ยงสูง (High Yield) เพราะอัตราดอกเบี้ยหุ้นกู้สูงกว่าพันธบัตรและพอจะรับมือผลกระทบของราคาที่จะลดลงจากแนวโน้มดอกเบี้ยที่ค่อยๆ เป็นขาขึ้นได้

นอกจากนี้ เศรษฐกิจเอเชียที่ฟื้นตัวได้ดีทำให้อัตราการผิดนัดชำระหนี้โดยรวมยังต่ำ และมีหุ้นกู้ให้เลือกจำนวนมาก ในหลากหลายอุตสาหกรรม รวมทั้งมีสภาพคล่องสูง ส่วนประเด็นด้านอัตราแลกเปลี่ยนนั้น แนะนำลงทุนหุ้นกู้เหล่านี้ในสกุลดอลลาร์สหรัฐฯ เพื่อลดความเสี่ยงค่าเงินท้องถิ่นที่อาจจะอ่อนค่าหรือผันผวนสูง

การปรับเปลี่ยนนโยบายการเงินของเศรษฐกิจขนาดใหญ่จะทำให้การลงทุนในตราสารหนี้มีความท้าทายมากขึ้นเรื่อยๆ หัวใจสำคัญคือการลงทุนผ่านกองทุนที่บริหารเชิงรุก มีผู้เชี่ยวชาญวิเคราะห์ปัจจัยรอบด้านทั้งแนวโน้มของอัตราผลตอบแทนพันธบัตร ซึ่งนอกจากจะขึ้นอยู่กับอัตราเงินเฟ้อและภาวะเศรษฐกิจแล้ว ยังต้องพิจารณาอุปสงค์อุปทานของตราสารในแต่ละประเทศด้วย นอกจากนั้น นักลงทุนยังจำเป็นดูปัจจัยพื้นฐานของแต่ละบริษัท ทั้งความสามารถในการสร้างรายได้ การทำกำไร ตลอดจนการบริหารกระแสเงินสดมาชำระหนี้ เพื่อสร้างผลตอบแทนสม่ำเสมอ บนความเสี่ยงที่จำกัด