สามยุทธศาสตร์เทคโนโลยีสู้จีนของไบเดน

สามยุทธศาสตร์เทคโนโลยีสู้จีนของไบเดน

สมรภูมิการแข่งขันด้านเทคโนโลยีดิจิทัลระหว่างจีนและสหรัฐ จะเป็นเกมกำหนดผู้ชนะทั้งในด้านเศรษฐกิจและความมั่นคง

เทคโนโลยีที่เป็นแกนกลางของยุคดิจิทัล ไม่ว่าจะเป็น เซมิคอนดักเตอร์ ปัญญาประดิษฐ์ หุ่นยนต์ ไปจนถึงเทคโนโลยีการสื่อสารไร้สายอย่าง 5G และ 6G ล้วนนำไปสู่การเปลี่ยนโฉมหน้าเศรษฐกิจยุคใหม่ทุกวงการ ตั้งแต่การค้า การเงินการธนาคารยุคฟินเทค การแพทย์ยุคผ่าตัดจากทางไกล ไปจนถึงอุตสาหกรรมรถยนต์ไร้คนขับ ที่สำคัญกว่านั้น ยังนำไปปรับใช้ในการทหาร ไม่ว่าจะเป็นอาวุธบังคับอัตโนมัติ (autonomous weapon) ไปจนถึงการทำสงครามไซเบอร์และการลักลอบข้อมูล
    โทมัส ฟรีดแมน คอลัมนิสต์ชื่อดังของ เดอะนิวยอร์กไทมส์ ได้เคยให้ข้อสังเกตที่เฉียบคมว่า ในอดีตที่จีนส่งออกสินค้าอุปโภคบริโภคสู่สหรัฐ นั้น สหรัฐ ไม่สนใจเรื่องอุดมการณ์ทางการเมืองหรือระบบการปกครองของจีน และไม่สนใจว่าจีนจะใช้เทคโนโลยีสหรัฐ เป็นฐานในการผลิตอุตสาหกรรม 
    แต่ในวันนี้ที่จีนเริ่มส่งออกสินค้าเทคโนโลยีชั้นสูง เช่น สมาร์ทโฟนและสัญญาณเครือข่าย 5G ซึ่งมีผลต่อความปลอดภัยของข้อมูลอย่างมหาศาล สหรัฐ จึงมองว่าความแตกต่างของระบบการเมืองและอุดมการณ์ทางการเมืองเป็นประเด็นสำคัญที่เป็นภัยคุกคามต่อความมั่นคงของสหรัฐ และสหรัฐ ไม่สามารถยินยอมให้จีนต่อยอดจากฐานเทคโนโลยีสหรัฐ และรุดหน้าในเทคโนโลยีดิจิทัลได้อีกต่อไป 

จากมวยวัดมุ่งตัดแข้งตัดขาจีนฝ่ายเดียวในยุคของทรัมป์ แนวทางการทำศึกเทคโนโลยีของไบเดนดูเป็นระบบและมียุทธศาสตร์กว่าอย่างชัดเจน โดยทำครบถ้วนทั้งเดินหน้าตัดแข้งตัดขาจีนต่อไป พร้อมกับแสวงพันธมิตรสร้างห่วงโซ่เทคโนโลยีสหรัฐ เชื่อมโลก รวมถึงลงทุนเพื่อให้ตนเองวิ่งได้เร็วและไกลกว่าคู่แข่ง
    ยุทธศาสตร์แรก ตัดแข้งตัดขาจีน จากเดิมที่ในเดือนพฤศจิกายน 2020 ทรัมป์เคยประกาศแบนบริษัทยักษ์ใหญ่ของจีนด้านเทคโนโลยี การก่อสร้าง และโทรคมนาคม ที่มีความสัมพันธ์กับกองทัพจีนจำนวน 31 บริษัท ปรากฏว่าในเดือนมิถุนายน 2021 ไบเดนประกาศเพิ่มเป็น 59 บริษัท 
ปัจจุบันสหรัฐ ยังคงมีอำนาจต่อรองมหาศาลในอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ เพราะบริษัทของสหรัฐ เป็นเจ้าของสิทธิทรัพย์สินทางปัญญาและซอฟต์แวร์ EDA (electronic design automation) ซึ่งเป็นหัวใจของการผลิตเซมิคอนดักเตอร์ถึงร้อยละ 70 
    เรียกได้ว่าการผลิตเซมิคอนดักเตอร์ต้องใช้ฐานเทคโนโลยีซอฟต์แวร์ของบริษัทสหรัฐ เมื่อสหรัฐ ห้ามบริษัทจีนใช้เทคโนโลยีซอฟต์แวร์เหล่านี้ รวมทั้งห้ามบริษัทชาติอื่นที่ผลิตเซมิคอนดักเตอร์ด้วยเทคโนโลยีซอฟต์แวร์สหรัฐ ขายให้กับบริษัทจีนที่ถูกแบน ก็หมายความว่าหัวเว่ยไม่มีชิพมาผลิตสมาร์ทโฟนอีกต่อไป
    ยุทธศาสตร์ที่สอง แสวงพันธมิตรสร้างห่วงโซ่เทคโนโลยีสหรัฐ เชื่อมโลก ยุทธศาสตร์นี้จะทำให้โลกการค้าแตกเป็นสองห่วงโซ่ระหว่างห่วงโซ่สหรัฐ เชื่อมโลกกับห่วงโซ่จีนเชื่อมโลก เป้าหมายคือทำให้เกิดความมั่นคงเรื่องซัพพลายเชนและความปลอดภัยเรื่องระบบและการรักษาข้อมูล ไม่ให้ตกอยู่ในมือของบริษัทเทคโนโลยีจีนที่อาจมีความสัมพันธ์กับรัฐบาลจีน หรือถูกบังคับให้ต้องร่วมมือกับรัฐบาลภายใต้กฎหมายความมั่นคงทางไซเบอร์ของจีน

ยุทธศาสตร์สุดท้ายที่สำคัญที่สุด และเป็นการรุกชนิดที่ทรัมป์ไม่ได้ทำ ก็คือการลงทุนกับตนเอง ตั้งเป้าไม่ใช่เพียงตัดแข้งตัดขาคู่แข่ง แต่ต้องวิ่งให้เร็วและไกลกว่าคู่แข่งด้วย 
    ในเดือนมิถุนายน 2021 ร่างกฎหมายนวัตกรรมและการแข่งขันของสหรัฐ (The US Innovation and Competition Act) ได้ผ่านความเห็นชอบจากวุฒิสภาสหรัฐ ด้วยเสียงสนับสนุนจากทั้งสองพรรค และกำลังเข้าสู่การพิจารณาของสภาล่างต่อไป
    ร่างกฎหมายความยาว 2,400 หน้า ตั้งเป้าใช้งบประมาณ 250,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ระยะเวลา 5 ปี ได้ชื่อว่าเป็นการลงทุนครั้งใหญ่ที่สุดในด้านนวัตกรรมของสหรัฐ 
ลองมาดูเม็ดเงินและเป้าการลงทุนกันครับ
    52,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ สำหรับอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์
    80,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ สำหรับอุตสาหกรรมปัญญาประดิษฐ์ หุ่นยนต์ และเทคโนโลยีชีวภาพ 
    1,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ สำหรับอุตสาหกรรมเทคโนโลยีสื่อสารไร้สาย 5G และ 6G
    23,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ สำหรับอุตสาหกรรมสำรวจอวกาศ
    10,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ สำหรับสร้างเขตนวัตกรรมทั่วประเทศ (นอกจาก Silicon Valley)

    นอกจากนี้ ในร่างกฎหมายดังกล่าวยังมีเนื้อหาตอบสนองประเด็นความมั่นคงและการจัดการความท้าทายของเทคโนโลยีจีนโดยเฉพาะ ตัวอย่างเช่น กำหนดให้รัฐบาลสหรัฐ คว่ำบาตรบริษัทจีนที่โจมตีทางไซเบอร์หรือขโมยความลับทางการค้า จัดตั้งกองทุนสู้กับอิทธิพลจีน (Countering Chinese Influence Fund) มูลค่า 1,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพื่อต่อสู้กับอิทธิพลจีนในภูมิภาคต่างๆ ห้ามใช้แอพฯ TikTok ในเครื่องมือสื่อสารของราชการ และกำหนดให้ซื้อวัตถุดิบจากสหรัฐ เป็นหลักสำหรับการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานภายในสหรัฐ โดยที่ไบเดนวางแผนจะออกแผนการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์สหรัฐ มูลค่า 2 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ
    ในวงนโยบายสหรัฐ เคยมีการกล่าวกันว่าจุดอ่อนของสหรัฐ อยู่ที่ต้องพึ่งจีนเรื่องตลาดขนาดใหญ่ มีคำถามว่า หากสหรัฐ ไม่ขายตลาดจีนแล้ว บริษัทเทคโนโลยีสหรัฐ จะเอาเงินที่ไหนมาทุ่มให้กับการวิจัยและพัฒนา (R&D) เพื่อเป็นผู้นำเทคโนโลยีต่อไป คำตอบของไบเดนก็คือ รัฐบาลสหรัฐ จะทุ่มเงินให้เอง และยังจะบุกสร้างความร่วมมือกับประเทศพันธมิตรและบุกตลาดประเทศกำลังพัฒนาอื่นๆ เพื่อแข่งกับยุทธศาสตร์เส้นทางสายไหมใหม่ของจีนด้วย
    แผนเทคโนโลยีของไบเดนเป็นการเปลี่ยนแนวคิดทางเศรษฐกิจ จากยุคเอกชนต่างคนต่างทำตามกลไกตลาด มาสู่ยุคยุทธศาสตร์อุตสาหกรรมขับเคลื่อนและนำโดยรัฐ เรียกว่าไบเดนทุ่มทุนสุดตัวแข่งกับจีน โดยเงินอัดฉีดจากรัฐบาลนั้น เน้นไปที่ R&D เพื่อเปลี่ยนยุคนวัตกรรมเป็นสำคัญ ซึ่งความสามารถในการสร้างสรรค์ถือเป็นจุดแข็งแกร่งของสหรัฐ 
    ในจีนชอบกล่าวกันว่า จีนโชคดีที่ขึ้นรถด่วนขบวนสุดท้ายของโลกอุตสาหกรรมการผลิตยุค 2.0 และ 3.0 ได้สำเร็จ และขึ้นรถด่วนขบวนแรกของโลกอุตสาหกรรมดิทิทัลยุค 4.0 และ 5.0 ได้ทัน แต่จุดมุ่งหมายของสหรัฐ ในวันนี้ คือจะเตะจีนลงจากรถด่วนขบวนปัจจุบัน และบีบจีนตกรถด่วนขบวนใหม่ยุค 6.0 ให้ได้ด้วย.