แนวคำพิพากษาศาลฎีกาคดีบัตรเครดิต

แนวคำพิพากษาศาลฎีกาคดีบัตรเครดิต

การใช้บัตรเครดิตในการจับจ่ายใช้สอยซื้อสินค้า จ่ายค่าอาหารเครื่องดื่ม การบริการ เกิดความสะดวก ไม่ต้องพกเงินสดครั้งละมากฯ แต่บางครั้งก็จับจ่ายจนเพลิน

ขณะใช้บัตรเครดิตจับจ่ายซื้อสินค้าหรือบริการ หรือชำระค่าอาหารและเครื่องดื่มนั้น ไม่ได้ควักเงินสดจ่ายให้ผู้ประกอบการ แต่ผู้ออกบัตรจะรับภาระชำระค่าสินค้า บริการค่าอาหารเครื่องดื่มให้
    ผู้ประกอบการเมื่อเรียกเก็บ  แต่ครั้นถึงเวลาต้องชำระหนี้ให้ผู้ออกบัตร ก็อาจผิดนัดชำระหนี้ซึ่งจะต้องเสียดอกเบี้ย และค่าบริการเพิ่มขึ้นในอัตราสูง ยังโชคดีที่ธนาคารแห่งประเทศไทยที่กำกับดูแลการประกอบกิจการบัตรเครดิต ได้กำหนดมาตรการคุ้มครองผู้บริโภคไว้ไม่ให้ถูกเอาเปรียบมาก  การผิดนัดชำระหนี้บัตรเครดิตมีการฟ้องร้อง คดีขึ้นสู่การพิจารณาของศาลฎีกามากมายหลายคดีซึ่งมีคำพิพากษาที่เป็นบรรทัดฐานที่น่าสนใจ ที่ควรรู้ เช่น

 ๐ การชำระหนี้บางส่วน เท่ากับยอมรับสภาพหนี้ทำให้ อายุความสะดุดหยุดลง 
     คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7729/2557       จำเลยชำระหนี้ 2,000 บาท แก่โจทก์เมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2549 โดยผ่านเครื่องฝากถอนเงินอัตโนมัติของโจทก์ ถือได้ว่าจำเลยรับสภาพหนี้
                   ต่อโจทก์และเป็นเหตุทำให้อายุความใช้สิทธิเรียกร้องของโจทก์สะดุดหยุดลงและเริ่มนับอายุความใหม่ตั้งแต่เวลานั้นตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/15 อายุความจึงเริ่มนับตั้งแต่วันที่ 23 มีนาคม 2549 อันเป็นวันที่โจทก์อาจบังคับให้จำเลยชำระหนี้ได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/12 ซึ่งอายุความของมูลหนี้บัตรเครดิตมีกำหนด 2 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/34 (7) โจทก์ฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 20 มีนาคม 2551 ซึ่งยังไม่เกิน 2 ปี ฟ้องโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3896/2560       การชำระหนี้ครั้งแรกในบัตรเครดิตทั้งสามใบกระทำขึ้นหลังจากครบกำหนดชำระหนี้ที่โจทก์กำหนดไม่เกินสองปี ซึ่งอยู่ในกำหนดอายุความ
    ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/34 (7) และการชำระหนี้ในครั้งต่อมาแต่ละครั้งมีระยะเวลาห่างจากครั้งก่อนไม่เกินสองปี การชำระหนี้ในแต่ละครั้งจึงทำให้อายุความสะดุดหยุดลง ระยะเวลาที่ล่วงไปก่อนนั้น
    ไม่อาจนับเข้าในอายุความ และเมื่อเหตุที่ทำให้อายุความสะดุดหยุดลงสิ้นสุดเวลาใด ให้เริ่มนับอายุความใหม่ตั้งแต่เวลานั้น การนับอายุความจึงต้องเริ่มนับตั้งแต่วันที่31 กรกฎาคม 2552 ซึ่งเป็นวันชำระหนี้ในครั้ง สุดท้าย ตาม ป.พ.พ. มาตรา193/14 (1) และมาตรา 193/15 ฟ้องโจทก์จึงครบกำหนดอายุความในวันที่ 31 กรกฎาคม 2554 เมื่อโจทก์ฟ้องคดีนี้ในวันที่ 16 กันยายน 2552                      
    จึงยังไม่พ้นกำหนดอายุความสองปี

๐  เรียกให้ชำระหนี้ ต้องมีหนังสือแจ้งเตือนก่อน และใช้พยานบุคลนำสืบได้
    คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4573/2561     ประกาศธนาคารแห่งประเทศไทยมีวัตถุประสงค์เพื่อคุ้มครองบริโภค โดยกำหนดว่า ในการเรียกให้ชำระหนี้และติดตามทวงถามให้ ชำระหนี้
                     ผู้ประกอบธุรกิจต้องมี หนังสือแจ้งเตือนผู้บริโภคที่ผิดนัดชำระหนี้ล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 20 วัน ก่อนดำเนินการบังคับชำระหนี้ตามกฎหมายประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย   เป็นการกำหนดหลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการให้ผู้ประกอบธุรกิจใช้ปฏิบัติตาม ประกาศธนาคารแห่งประเทศไทยดังกล่าวจึงเป็นข้อเท็จจริง  เมื่อโจทก์นำสืบว่า จำเลยเป็นหนี้บัตรเครดิตและหนี้สินเชื่อพร้อมใช้ตามสำเนาใบแจ้งยอด
                   บัญชีโจทก์มีหนังสือบอกกล่าวทวงถามให้จำเลยชำระหนี้โดยชอบ และครบกำหนดจำเลยไม่ชำระหนี้ โจทก์จึงฟ้องจำเลยได้
                                             

๐ เป็นหนี้บัตรเครดิตและสัญญาบัญชีเดินสะพัด
    คำพิพากษาศาลฎีกาที่  6541/2555 หนี้ตามสัญญาที่เกิดจากการใช้บัตรเครดิตและหนี้ตามสัญญาบัญชีเดินสะพัด รวมอยู่ในบัญชีกระแสรายวัน  ข้อความในหนังสือ
                       ที่จำเลยรับรองว่าจำเลยเป็นหนี้โจทก์อยู่จริง  จึงเป็นหนังสือรับสภาพหนี้ทั้งหนี้ตามสัญญาที่เกิดจากการใช้บัตรเครดิตและหนี้ตามสัญญาบัญชีเดินสะพัด ย่อมทำให้อายุความสะดุดหยุดลง 
                       ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/14 (1) ระยะเวลาที่ล่วงไปก่อนนั้น  ไม่นับเข้าในอายุความ ต้องเริ่มนับอายุความใหม่ตั้งแต่วันรับสภาพหนี้ตามมาตรา 193/15 ซึ่งเมื่อนับถึงวันฟ้องเกิน 2 ปี แต่ไม่เกิน 10 ปี หนี้ตามสัญญาที่เกิดจากการใช้บัตรเครดิตซึ่งมีอายุความ  2 ปี จึงขาดอายุความ  ส่วนหนี้ตามสัญญาบัญชีเดินสะพัดซึ่งมีอายุความ 10 ปียังไม่ขาดอายุความ
     คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2484/2556   ข้อเท็จจริงปรากฏว่าการโอนเงินเข้าบัญชีกระแสรายวัน เป็นการใช้ชำระหนี้บัตรเครดิตทั้งสิ้น  แม้จะมีข้อตกลงให้ธนาคารหักบัญชี หรือโอนเงินจากบัญชีกระแสรายวันไปชำระหน  จะถือว่าหนี้ดังกล่าวเป็นหนี้ตามสัญญาบัญชีเดินสะพัดที่มีอายุตวาม 10ปีมิได้ ยังคงเป็นหนี้บัตรเครดิตอยู่เช่นเดิมซึ่งมีอายุความ 2 ปี

  ๐ ประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย..เป็นข้อเท็จจริง
     คำพิพากษาศาลฎีกาที่13756/2556 การวินิจฉัยข้อกฎหมายอันเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน ที่ศาลมีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้เองนั้น ต้องเป็นข้อกฎหมายที่ได้มาจากข้อเท็จจริงในการดำเนินกระบวนพิจารณาโดยชอบ คดีนี้จำเลยขาดนัดยื่นคำให้การและไม่ได้สืบพยาน
                       ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 5 หยิบยกเอาประกาศกระทรวงการคลัง เรื่อง กิจการที่ต้องขออนุญาตตามข้อ 5 แห่งประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 58 ประกาศ ณ วันที่ 11 พฤศจิกายน
                       2545 และประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย เรื่อง การกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขในการประกอบธุรกิจบัตรเครดิตสำหรับผู้ประกอบธุรกิจบัตรเครดิตมาวินิจฉัยว่า โจทก์ไม่ได้มีหนังสือเตือนจำเลยล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 20 วันก่อนดำเนินการบังคับชำระหนี้ตามกฎหมาย จึงไม่มีอำนาจฟ้องนั้น เนื่องจากประกาศทั้งสองฉบับดังกล่าวเป็นข้อเท็จจริง 
                        เมื่อไม่ปรากฏในสำนวนคดี  ศาลไม่อาจรับฟังมาวินิจฉัยข้อกฎหมายตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) ได้

๐ ผู้ใช้บัตรหลักและบัตรเสริมมีฐานะเป็นลูกหนี้ร่วม
    คำพิพากษาศาลฎีกาที่  271/2552        สัญญาการใช้บัตรเครดิตระบุไว้ว่า ในกรณีที่ธนาคารโจทก์อนุมัติให้ออกบัตรเสริมแก่ผู้ถือบัตรหลักรายใด ผู้ถือบัตรทั้งสองจะต้องร่วมรับผิดในฐานะลูกหนี้ร่วมในหนี้อัน เกิดจากการใช้บัตรเครดิตนั้น ซึ่งข้อสัญญาดังกล่าวจำเลยทั้งสองลงลายมือชื่อรับทราบแล้วย่อมแสดงให้เห็นว่าจำเลยที่ 2 ยินยอมตนเข้าร่วมรับผิดกับความรับผิดของจำเลยที่ 1 ในการใช้บัตรเครดิตสมาชิกบัตรหลักด้วยตั้งแต่วันสมัครเป็นสมาชิกบัตรเครดิตโจทก์ จำเลยทั้งสองจึงมีฐานะเป็นลูกหนี้ร่วม
                       ในหนี้ที่แต่ละคนเป็นผู้ก่อขึ้นจากการใช้บัตรเครดิตโดยไม่อาจแบ่งแยกได้ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 297.