สถิติสำคัญเพื่อประเมินและรับมือสถานการณ์โควิด (ตอนที่ 2)

สถิติสำคัญเพื่อประเมินและรับมือสถานการณ์โควิด (ตอนที่ 2)

ประเทศไทยจากที่เคยขึ้นชื่อว่าเป็นประเทศที่ควบคุมการระบาดได้ดีที่สุดแห่งหนึ่งของโลก ด้วยระบบสาธารณสุขที่เคยได้รับการจัดอันดับดีที่สุดเป็นที่ 6 ของโลก จากการเผยแพร่ใน CEOWORLD เมื่อปี 2563 ผ่านมาเพียงปีเดียว

วันนี้กลับกลายมาเป็นประเทศรั้งท้ายที่ฟื้นตัวจากโควิด จาก Nikkei โดยล่าสุด (31 ส.ค. 2564) ​ได้จัดอันดับประเทศที่ฟื้นตัวเร็วที่สุดและช้าที่สุดจาก COVID-19 (Recovery Index) พบว่าประเทศที่จะฟื้นตัวได้เร็วที่สุดอันดับ 1 คือประเทศจีน ในขณะที่ประเทศไทยถูกจัดให้อยู่อันดับที่ 118 จาก 121 ประเทศ ซึ่ง Index นี้มีการประเมินรวมทั้งหมด 3 ด้าน ได้แก่ การบริการจัดการด้านการติดเชื้อ ทั้งการตรวจและพบเชื้อ, การกระจายวัคซีนให้กับประชากร,​ และการเคลื่อนย้ายของประชาชนและความเข้มงวดในการควบคุมโรค เมื่อมองจากผลของตัวชี้วัดนี้ต้องยอมรับแล้วว่าสถานการณ์ปัจจุบันและอนาคตอันใกล้ของไทยกำลังน่าเป็นห่วง

อัตราผู้เสียชีวิตต่อผู้ติดเชื้อของไทยยังไม่ลดลง แม้อัตราการฉีดวัคซีนจะเพิ่มขึ้น

ข้อมูลจาก Our World in Data ชี้ให้เห็นว่าแม้ประเทศไทยจะมีอัตราเร่งของจำนวนในการฉีดวัคซีนได้ดีเทียบกับประเทศอื่น ๆ เช่น สหรัฐอเมริกาและอังกฤษแล้ว (ซึ่งระบบสาธารณสุขของสหรัฐอเมริกาได้รับการจัดลำดับต่ำกว่าไทย และอังกฤษได้รับการจัดลำดับสูงกว่าไทยเล็กน้อย) แต่เป็นที่น่าสังเกตว่าเทรนด์ของ “อัตราผู้เสียชีวิตต่อผู้ติดเชื้อ” (7-day rolling average) ยังไม่มีแนวโน้มลดลงหลังเกิดการระบาดของสายพันธุ์เดลต้าที่มาตั้งแต่ช่วง เม.ย.-พ.ค. 64 เมื่อเทียบกับประเทศดังกล่าวซึ่งใช้ mRNA เป็นวัคซีนหลัก ซึ่งตัวชี้วัดนี้ค่อนข้างน่าสนใจที่จะใช้ในการวัดคุณภาพของวัคซีนที่รัฐบาลจัดหาและเกณฑ์การคัดเลือกชนิดวัคซีนหลักซึ่งเป็นที่กังขามาตลอด (แน่นอนว่า time-lag ของการฉีดวัคซีน-การป้องกันการติดเชื้อ-การตายจากการติดเชื้อ ต้องนำมาประกอบการติดตามเทรนด์นี้ด้วย)

สถิติสำคัญเพื่อประเมินและรับมือสถานการณ์โควิด (ตอนที่ 2)

 

รู้ปัญหาและแก้ปัญหาให้ตรงจุดด้วยดาต้า

ส่วนในมุมของการปฏิบัติ การจะแก้ปัญหาโรคระบาดได้นั้นปัจจัยที่สำคัญที่สุดคือการติดตามสถานการณ์และแก้ไขปัญหาบนพื้นฐานของความเป็นจริง ซึ่งเราฐานข้อมูลทั้งภายในประเทศและทั่วโลกอยู่แล้ว การบูรณาการข้อมูลเหล่านั้นมาแสดงผลและวิเคราะห์ให้สะดวกรวดเร็วต่อการใช้งานเพื่อร่วมกันแก้ไขสถานการณ์จากทุกฝ่ายคือสิ่งที่รัฐบาลสามารถทำได้และต้องทำทันที วันนี้ประเทศใกล้เคียงเราอย่างอินโดนีเซีย แม้พื้นฐานระบบสาธารณสุขจะด้อยกว่าไทย (ประมาณอันดับ 50+ ของโลก) และแม้จะเคยเลือกใช้วัคซีนชนิดเดียวกันกับของไทยมาก่อนที่จะเริ่มเปลี่ยนเป็น mRNA แล้ว แต่ด้วยการบริหารจัดการด้านข้อมูลดังกล่าวก็ช่วยให้ภาครัฐได้มีการวางแผนแก้ไขปัญหาได้อย่างตรงจุด ภาคประชาชนสามารถช่วยเหลือตัวเองรวมถึงช่วยเหลือกันและกันได้อย่างมีประสิทธิภาพ จนอัตราการติดเชื้อและตายลดลงต่ำกว่าไทยมากในวันนี้

อินโดนีเซียได้รวบรวมและเรียบเรียงข้อมูลเพื่อจุดประสงค์ดังกล่าวไว้ในระบบเดียว ที่สามารถ Monitor ได้ทั้ง อัตราการติดเชื้อ อัตราการเสียชีวิต อัตราการกระจายวัคซีน ทั้งภาพรวมและแยกย่อยเป็นระดับเมืองใหญ่และเมืองรอง เพราะสถานการณ์และเงื่อนไขของแต่ละเมืองไม่เหมือนกัน โดยระบบนี้ยังสามารถเข้าถึงจำนวนผู้ป่วยที่อยู่ใน ICU, จำนวนผู้ป่วยในโรงพยาบาล, จำนวนผู้ป่วยที่ทำ Home Isolation, จำนวนเตียงที่ยังว่างในโรงพยาบาลต่าง ๆ  อีกทั้งยังสามารถจองและดูคิวการฉีดวัคซีนของจุดบริการต่าง ๆ ได้อีกด้วย

 

นอกจากนี้ประชาชนยังสามารถดูแผนที่แสดงความหนาแน่นในการแพร่กระจายของโรคระบาดเพื่อตรวจสอบการเดินทางสัญจรของตนและช่วยลดความเสี่ยงในการติดเชื้อของประชากรในแต่ละเมืองได้ ระบบกลางดังกล่าวยังช่วยรวบรวมความช่วยเหลือด้านต่าง ๆ ที่แต่ละองค์กรในประเทศร่วมกันทำ ทั้งการบริจาค, การช่วยเหลือธุรกิจ SME, การช่วยเหลือนักเรียนให้เข้าถึงการศึกษา เป็นต้น

ข้อมูลเหล่านี้นอกจากจะช่วยให้ประชาชนสามารถปฏิบัติตัวได้อย่างถูกต้อง โดยไม่ต้องกังวลว่าจะถูกรัฐบาลกล่าวโทษแล้ว ภาครัฐเองยังสามารถใช้ในการวางแผนและประเมินผลกระทบของมาตรการต่าง ๆ  ไม่ว่าจะเป็นการกระจายวัคซีนและความช่วยเหลือไปยังเมืองใดที่มีความหนาแน่นของปัญหาสูงสุด จนไปถึงการเปิดปิดเมืองและกิจกรรมต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องได้อย่างมีประสิทธิภาพ กระจายความช่วยเหลือได้อย่างโปร่งใสด้วยงบประมาณที่ไม่แพงอีกด้วย

วันนี้ผู้บริหารประเทศจำเป็นต้องศึกษาจากประเทศที่แก้ไขปัญหาได้ดีในแต่ละด้าน และนำมาปรับใช้แก้ปัญหาของเราให้ได้โดยเร็ว อย่าให้ระบบสาธารณสุขของไทยเราที่เคยเป็นผู้นำโลก ต้อง “พลาด” และ “พัง” เพราะการบริหารที่ไม่มีประสิทธิภาพมากขึ้นเรื่อย ๆ  จนถึงวันที่คนไทยทั้งประเทศต้อง “แพ้” เลยนะครับ