ตลาดหุ้น…ญี่ปุ่น ที่ถูกลืม!

ตลาดหุ้น…ญี่ปุ่น ที่ถูกลืม!

ตลาดหุ้นญี่ปุ่นหลุดจากเรดาร์นักลงทุนมานานแม้ในช่วงที่ตลาดหุ้นประเทศพัฒนาแล้วอื่นๆ ได้รับความสนใจ เศรษฐกิจญี่ปุ่นเผชิญคำกล่าวว่าเป็น The Lost Decade ด้วยเศรษฐกิจที่เติบโตได้เฉลี่ย 0.83% ในช่วง 5 ปีก่อนวิกฤติโควิด

จากปัญหาโครงสร้างประชากรที่เป็นสังคมผู้สูงอายุ และความไร้ประสิทธิผลของมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในหลายยุคสมัย นอกจากนั้นตลาดหุ้นยังอ่อนไหวกับการเคลื่อนไหวของค่าเงินเยน เพราะบริษัทจดทะเบียนส่วนใหญ่เป็นธุรกิจส่งออก หากเงินเยนแข็งค่าก็จะไปถ่วงกำไร ต่างจากสหรัฐฯ ที่เศรษฐกิจพึ่งพาการบริโภคในประเทศเป็นหลัก และบริษัทจดทะเบียนใหญ่ๆ เป็นกลุ่มเทคฯ ยักษ์ใหญ่ที่มีกำไรเติบโตโดดเด่นกว่า

แต่ในช่วง 2-3 สัปดาห์ที่ผ่านมา ตลาดหุ้นญี่ปุ่นทะยานขึ้นอย่างโดดเด่นเมื่อเทียบกับหุ้นโลก โดยดัชนี Nikkei 225 พุ่งขึ้นกว่า 11% (ตั้งแต่วันที่ 20 ส.ค. ถึง 8ก.ย.) เพราะมีปัจจัยหนุนจากประเด็นทางการเมือง ที่นายกฯ ซูงะ ประกาศไม่ลงสมัครเลือกตั้งหัวหน้าพรรค LDP ที่จะเกิดขึ้นในวันที่ 29 กันยายน นี้ หลังจากคะแนนนิยมตกลงอย่างต่อเนื่องจาก 65% ในปีที่แล้ว มาแตะจุดต่ำสุดที่ 30% ในปัจจุบัน จากความล้มเหลวในการรับมือกับโรคโควิด-19 และการตัดสินใจเดินหน้าจัดโตเกียวโอลิมปิคท่ามกลางโรคระบาด

 

ตัวเต็งหัวหน้าพรรค LDP คนถัดไปคือ นายทาโร โคโนะ รัฐมนตรีฝ่ายกำกับดูแลด้านการรับมือกับโรคโควิด-19  นอกจากนี้ยังมีนายชิเงรุ อิชิบะ อดีต รมว.กระทรวงกลาโหม และนายฟูมิโอะ คิชิดะ อดีต รมว.กระทรวงการต่างประเทศ ที่มีคะแนนตามมา ทำให้ตลาดคาดหวังกับนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจทางการคลังหลังการเปลี่ยนแปลงผู้นำ ซึ่งอาจมีขนาดใหญ่ถึง 30 ล้านล้านเยน (2.7 แสนล้านดอลล่าร์สหรัฐฯ)

นอกจากประเด็นทางการเมืองแล้ว ตลาดหุ้นญี่ปุ่นก็พอมีแรงสนับสนุนจากปัจจัยพื้นฐาน เช่น

  1. จำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 เริ่มลดลงหลังจากที่พุ่งสูงขึ้นในช่วงเดือนสิงหาคม ทำให้มีความหวังว่าทางการจะผ่อนคลายการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินได้ในระยะข้างหน้า
  2. ก่อนหน้านี้ ญี่ปุ่นฉีดวัคซีนได้ล่าช้าเมื่อเทียบกับประเทศพัฒนาแล้วอื่นๆ แต่ระยะหลังอัตราการฉีดวัคซีนได้เร่งตัวขึ้น ล่าสุดประชากรเกือบครึ่งหนึ่งได้รับวัคซีนครบ 2 เข็มแล้ว
  3. ระดับ Valuation ดัชนี Nikkei 225 ซื้อขายที่ P/E ratio ใกล้เคียงค่าเฉลี่ย 10 ปีย้อนหลังที่ 18 เท่า ต่างจากประเทศอื่นๆ ที่ระดับ P/E ratio แพงกว่าค่าเฉลี่ยอยู่มาก ทำให้ตลาดหุ้นญี่ปุ่นถูกกว่าตลาดหุ้นสหรัฐฯ ราว 30% และถูกกว่าตลาดหุ้นยุโรปราว 8%
  4. นโยบายการเงินที่มีแนวโน้มผ่อนคลายไปอีกนาน ต่างจากในสหรัฐฯ และยุโรป ที่เริ่มหารือหรือสื่อสารถึงการถอนมาตรการพิเศษทางการเงิน ขณะที่ ธนาคารกลางญี่ปุ่นดำเนินนโยบาย Yield curve control คือเข้าซื้อสินทรัพย์ในตลาดด้วยปริมาณที่ยืดหยุ่น เพื่อคุมให้บอนด์ยีลด์ 10 ปี ของญี่ปุ่น อยู่ใกล้ๆ ศูนย์
  5. 1 ตุลาคม ดัชนี Nikkei 225 จะเพิ่มหุ้น 3 บริษัท ซึ่งถือเป็นบริษัทที่มีปัจจัยพื้นฐานดี ศักยภาพในการเติบโตสูง ได้แก่ Nintendo Co. (ผู้ผลิตเกมส์ชื่อดัง) Keyence Corp. (ผู้ผลิตระบบอัตโนมัติรายใหญ่ของญี่ปุ่น) และ Murata Manufacturing Co. (ผู้ผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ให้แก่บริษัทผลิต Smartphone อย่างบริษัท Apple)

ปัจจัยที่ว่านี้อาจหนุนให้ตลาดหุ้นญี่ปุ่นขยับขึ้นต่อได้ใน 2-3 เดือน ข้างหน้า แต่มองไประยะยาว ญี่ปุ่นยังขาดศักยภาพในการเติบโตที่โดดเด่น นักเศรษฐศาสตร์คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจญี่ปุ่นมีแนวโน้มเติบโตได้เพียงราว +2.5% ในอีก 1-2 ปีข้างหน้า ในขณะที่เศรษฐกิจสหรัฐฯ จะสามารถเติบโตได้กว่า 6% ในปีนี้ และ +4.3% ในปี 2022 ส่วนภูมิภาคยุโรปก็มีแนวโน้มเติบโตได้เกิน 4% ในปีนี้และปีหน้าเช่นเดียวกัน แม้จะมองในมุมของกำไรบริษัทจดทะเบียนก็ได้ภาพเช่นเดียวกัน หากไม่นับปีนี้ที่กำไรตลาดหุ้นญี่ปุ่นเติบโตได้ดีมากจากฐานต่ำ นักวิเคราะห์ต่างคาดการณ์กำไรต่อหุ้น ปี 2022 ของตลาดหุ้นญี่ปุ่นเติบโตเพียง +5.2% น้อยกว่าสหรัฐฯ และยุโรปที่จะเติบโต +8.8% และ +7.5% ตามลำดับ

ดังนั้น ตลาดหุ้นญี่ปุ่นจึงยังไม่น่าสนใจในแง่ของการลงทุนระยะยาว ทั้งนี้ปัจจัยพื้นฐานของญี่ปุ่นอาจ        เปลี่ยน แปลงได้และอาจทำให้ตลาดหุ้นญี่ปุ่นน่าลงทุนมากขึ้นในอนาคต สิ่งที่ต้องจับตาคือการเลือกตั้งหัวหน้าพรรค LDP ในเดือนกันยายน และการเลือกตั้งทั่วไปในเดือนตุลาคมนี้ ว่าใครจะเป็นนายกฯ คนถัดไป ซึ่งจะมีอิทธิพลต่อการดำเนินนโยบายการคลังเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจที่นักลงทุนรอคอย รวมทั้งอาจเป็นจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญสำหรับเศรษฐกิจญี่ปุ่นก็เป็นได้