สังคมประชาธิปไตย แบบประชาชนจัดการตนเอง

สังคมประชาธิปไตย แบบประชาชนจัดการตนเอง

ปีนี้ครบรอบ 100 ปี แห่งการจากไปของ พีเตอร์ โครพอตกิ้น นักปฏิวัติและนักวิทยาศาสตร์แนว Commune Anarchism (ชุมชนนิยมแบบไม่พึ่งรัฐบาล)

พีเตอร์ โครพอตกิ้น (1842-1921) ชาวรัสเซียคนสำคัญ แนวคิดหลายเรื่องของเขา (เช่น Mutual Aid การช่วยเหลือกันและกัน) ได้รับการยอมรับจากนักวิทยาศาสตร์ยุคปัจจุบันและเป็นแรงบันดาลใจให้ปัญญาชน ประชาชนหัวก้าวหน้ายังคงดำเนินรอยตาม เพื่อสร้างสังคมนิยมประชาธิปไตยหรือระบบสหกรณ์แบบประชาชนจัดการตนเองโดยไม่ต้องพึ่งรัฐบาลกลาง

คำว่า Anarchism (ที่มักจะแปลกันว่าอนาธิปไตย) ถูกทำให้มีความหมายไปในทางลบ ว่าเป็นพวกหัวรุนแรงที่ไม่ต้องการกฎระเบียบอะไรเลย แต่ Anarchism หมายถึงการให้ประชาชนมีเสรีภาพจัดการตนเองโดยไม่จำเป็นต้องมีรัฐบาลกลางแบบรวมศูนย์กว่า Anarchism แบ่งเป็นหลายสำนัก สำนักของโครพอตกิ้นคือสังคมนิยมประชาธิปไตยผ่านระบบสหกรณ์และระบบคนในประชาคมบริหารจัดการกันเอง เป็นสำนักคิดที่ท้าทาย น่าสนใจ ถึงความเป็นไปได้ เมื่อเทียบกับระบบสังคมนิยมแบบวางแผนจากส่วนกลางของอดีตสหภาพโซเวียตที่เพิ่งล่มสลายไปเมื่อไม่นานมานี้

โครพอตกิ้นเป็นนักปฏิวัติรุสเซียรุ่นก่อนเลนิน เขาเป็นลูกชนชั้นเจ้าที่ดินใหญ่ เรียนและใช้ชีวิตหนุ่มมาทางด้านการทหาร แต่เขาชอบวิทยาศาสตร์และอ่านหนังสือของนักคิดเสรีนิยมที่ก้าวหน้า นักสังคมนิยมอุดมคติและนักคิดสาย Anarchism จนกลายมาเป็นนักปฏิวัติสาย Anarchism ในยุคสมัยเดียวกันกับที่นักปฏิวัติสายมาร์กซิสต์พยายามหาทางปฏิวัติโค่นล้มสังคมแบบทุนนิยมอุตสาหกรรมอยู่

ตอนเป็นทหารเขาเลือกไปอยู่ไซบีเรีย จังหวัดชายแดนที่ยังมีธรรมชาติอยู่มาก สำรวจเรื่องภูมิศาสตร์ ชีวิตสัตว์ และเขียนรายงานทางวิชาการที่มีชื่อเสียงก่อนที่จะมาบรรยายและเขียนบทความแนวเศรษฐกิจการเมือง งานเขียนของเขามีหลักฐานพยานเหตุผลสนับสนุนมากกว่าการจินตนาการตามความคิดฝัน โครพอทกิ้นเคยถูกจับกุมคุมขังข้อหาเป็นนักปฏิวัติจนต้องใช้ชีวิตในวัยผู้ใหญ่ส่วนใหญ่อยู่ในประเทศยุโรปตะวันตก           พวกอนาร์คิสต์ต่อต้านระบบทุนนิยมที่กดขี่ขูดรีดสร้างความขัดแย้งความเป็นธรรมเหมือนพวกสังคมนิยม แต่ขณะที่พวกสังคมนิยมเชื่อว่าต้องปฏิวัติยึดอำนาจรัฐและสร้างรัฐสังคมนิยมขึ้นมาแทน พวกอนาร์คิสต์มองว่า การคงมีรัฐบาลกลางแบบใช้อำนาจลดหลั่นกันลงมาเป็นชั้นๆ ยังคงทำให้พวกเจ้าหน้าที่รัฐใช้อำนาจและมีสิทธิเสรีภาพมากกว่าประชาชนทั่วไป สังคมแบบรัฐบาลมีอำนาจมาก จึงไม่สามารถสร้างสังคมนิยมเป็นประชาธิปไตยและประชาชนมีเสรีภาพได้อย่างแท้จริง

พวกอนาร์คิสต์โดยเฉพาะสายโครพอตกิ้นเห็นว่าควรจะกระจายอำนาจให้ประชาชนกลุ่มต่างๆ ปกครอง บริหารจัดการตนเองในรูปแบบสหกรณ์ สภาคนงาน ประชาคม (Commune) อย่างเป็นประชาธิปไตยที่ประชาชนมีส่วนร่วมโดยสมัครใจ ตัดสินใจบริหารงานกันแบบลงความเห็นร่วมกัน องค์กรเหล่านี้จะทำงานเชื่อมโยงกับองค์กรในพื้นที่อื่น ในรูปเครือข่ายสหพันธ์ที่องค์กรต่างๆ มาตกลงกติการ่วมกัน โดยไม่ต้องมีรัฐบาลกลางที่ใช้อำนาจและความรุนแรง พวกอนาร์คิสต์ต่อต้านการมีรัฐบาลกลางแบบมีตำรวจ ทหาร เจ้าหน้าที่รัฐด้านปกครอง ฯลฯ ในแง่ที่ว่ารัฐแบบหนึ่งจะทำให้เจ้าหน้าที่รัฐผู้กดขี่คนทั่วไปได้ ต้องยกเลิกรัฐและบริการจัดการเป็นสังคมนิยมแบบอนาร์คิสต์ที่ประชาชนในแค่คอมมูนจัดการตนเอง ประชาชนจึงจะมีจะมีเสรีภาพ เสมอภาค มีความสุขได้

โครพอตกิ้นใช้ข้อมูลทางประวัติศาสตร์ สัตวศาสตร์ และชาติพันธ์วิทยามาอธิบายว่า Mutual Aid การช่วยกันและกันของสัตว์สังคมหลายเผ่าพันธุ์รวมทั้งมนุษย์ คือปัจจัยหลักที่ช่วยให้สมาชิกในชุมชนเข้มแข็ง และอยู่รอดได้ดีกว่าการแข่งขันแบบตัวใครตัวมัน แม้ในชีวิตจริงจะมีการแข่งขันและการเห็นแก่ตัวบ้าง แต่เป็นคนส่วนน้อย และชุมชน สังคมจะสามารถใช้วิธีการลงโทษ สั่งสอน ทำให้พวกเขาเข้าใจและทำตามกฎ ขนบธรรมเนียม ประเพณี ที่มุ่งความร่วมมือช่วยเหลือกันเพื่อประโยชน์ของสมาชิกทั้งหมดของชุมชนได้

โครพอตกิ้นอธิบายว่าสังคมแบบเสมอภาคโดยไม่ต้องพึ่งรัฐ เคยเกิดขึ้นมาแล้วในโลกยุคก่อนราชาธิปไตยรวมศูนย์ และก่อนระบบทุนนิยมส่วนใหญ่ เช่น สังคมระดับคนกลุ่มเล็กๆ ยุคหาของป่าล่าสัตว์นั้น คนอยู่ร่วมกันแบบพึ่งพาช่วยเหลือกันและกัน ทั้งปัจจัยการผลิตและผลิตหลายอย่างถือเป็นของชุมชนที่ใช้ร่วมกัน แบ่งปันกันอย่างให้ทุกคนมีชีวิตอยู่ได้อย่างพอเพียง

แม้แต่ในยุคกลางที่มีเมืองเกิดขึ้นแล้วพวกสมาคมอาชีพก็ทำหน้าที่คล้ายสหภาพแรงงานหรือสหกรณ์เพื่อประโยชน์ร่วมกันของสมาชิกทั้งหมด ในยุคศักดินาและทุนนิยมตอนต้น ก็ยังมีทุ่งหญ้า ป่าไม้ ชายทะเล ถนน สะพาน ฯลฯ ทรัพยากรหลายอย่างที่ถือเป็นของส่วนรวมที่คนในชุมชนใช้ประโยชน์ร่วมกัน อย่างมีขนบธรรมเนียม มีกติกาที่ทุกคนในชุมชนรับรู้และปฏิบัติตาม

โครพอตกิ้นเห็นว่าระบบชุมชนนิยมที่ประชาชนได้บริหารจัดการเองจะเป็นระบบที่มีประสิทธิภาพ เป็นธรรม ประชาชนมีเสรีภาพ มีความสุข มีความคิดสร้างสรรค์มากกว่าระบบที่อยู่ภายใต้การปกครองของรัฐบาลกลาง ไม่ว่าจะเป็น รัฐบาลศักดินา/ราชาธิปไตย หรือรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งในระบบทุนนิยมก็ตาม

โครพอตกิ้นมีแนวคิดที่ต่างจากมาร์กซิสต์ในเรื่องการกำหนดมูลค่าของแรงงาน เขาอธิบายในเชิงวิวัฒนาการว่าที่ดิน รางรถไฟ สะพาน ทรัพยากรที่มนุษย์ใช้ร่วมกันมาเป็นเวลาหลายร้อยหลายพันปีนั้น เป็นผลงานของคนหลายรุ่น จำนวนมากที่ได้ช่วยกันทำ ดูแล พัฒนา ดังนั้นจึงยากที่จะวัดได้ว่าคนไหนลงแรงไปเท่าไหร่และควรได้ค่าแรงเท่าไหร่ เราจึงควรถือของเหล่านี้เป็นของส่วนรวม ไม่ใช่เฉพาะปัจจัยการผลิตเท่านั้น แม้ผลผลิตก็ควรถือเป็นของส่วนรวม ที่ควรแบ่งปันให้ประชาชนทุกคนตามความจำเป็นอย่างทั่วถึง โดยไม่ต้องตีมูลค่าแรงงานว่าใครทำมากได้มาก

โครพอตกิ้นเชื่อว่ามนุษย์สามารถพัฒนาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี ให้ผลิตสินค้าบริการที่จำเป็นได้มากเพียงพอสำหรับทุกคน มนุษย์ในสังคมแบบอนาร์คิสต์นั้นควรใช้เวลาทำงานลดลง ให้เครื่องจักรทำงานแทนมากขึ้น และมนุษย์ทุกคนควรทำงานตามความสามารถ ความสมัครใจ และได้รับการแบ่งปันสิ่งของและบริการต่างๆ อย่างพอเพียง เป็นธรรม

ความจริงมาร์กซ์ก็เคยเขียนไว้คร่าวๆ ว่าสังคมคอมมิวนิสต์เต็มรูปแบบนั้นควรจะเป็นสังคมของกลุ่มสมาคมอิสระต่างๆ ที่มีเสรีภาพเป็นประชาธิปไตย มาทำงานร่วมกันแบบสมัครใจ แต่เลนินและพรรคบอลเชวิดคือคนที่สร้างสังคมนิยมแบบวางแผนจากส่วนกลางที่รัฐบาลที่มีอำนาจรวมศูนย์ ทำให้โครพอตกิ้นผู้อาวุโสเมื่อเดินทางกลับรุสเซียได้หลังจากปฏิวัติปี 1917 เขียนบอกคนในวงการปฏิวัติว่าการสร้างสังคมนิยมโดยรัฐบาลที่มีอำนาจมาก ในโซเวียตรัสเซียจะล้มเหลวในที่สุด และถึงวันนี้ก็เป็นจริงตามนั้น

ความฝันของโครพอตกิ้น ยังคงมีผู้พยายามสืบทอดและตีความใหม่เพื่อให้สอดคล้องกับสังคมโลกยุคใหม่ที่มีปัญหาวิกฤตความเสื่อมโทรมของระบบนิเวศมากขึ้น พวกนักอนุรักษ์ระบบนิเวศหัวก้าวหน้าหลายกลุ่ม หลายคนเห็นด้วยว่าต้องเป็นระบบสังคมนิยมอนาร์คิสม์แนวอนุรักษ์ระบบนิเวศ (Eco-Anarchism) เท่านั้น โลกมนุษย์จึงจะสามารถแก้ไขปัญหาวิกฤตของระบบทุนนิยมและระบบนิเวศของโลกได้อย่างแท้จริง.