ทำได้ในสิ่งที่ต้องการ

ทำได้ในสิ่งที่ต้องการ

ภายใต้วิกฤติโควิด และภาวะล็อกดาวน์เช่นนี้ ธุรกิจอุตสาหกรรมโดยเฉพาะ SMEs ที่ประคองตัวให้อยู่รอดปลอดภัยในวันนี้และวันหน้าได้ ต้องถือว่าสุดยอด

ในภาวะวิกฤติเช่นนี้  ผู้บริหารต่างต้องปรับเปลี่ยนวิธีคิดวิธีทำงานโดยใช้ทุกยุทธวิธีเพื่อความอยู่รอด เราจึงไม่สามารถพึ่งพาทฤษฎีทางการบริหารจัดการวิธีใดวิธีหนึ่งโดยเฉพาะ หากแต่ต้องบูรณาการความรู้และนำไปสู่การปฏิบัติอย่างจริงจัง

แนวความคิดทางทฤษฎีบริหารจัดการที่ใหม่ๆ ก็ยังมีให้เห็นไม่น้อย เช่น Agile Leadership, Resilient, Business Continuity Management (BCM), Design Thinking, Enterprise Architecture  เป็นต้น แต่ก็คงหนีไม่พ้นเรื่องของ การเตรียมพร้อม และการวางแผน

เรามักจะได้ยินกันจนคุ้นหูว่า “วางแผนดีมีชัยไปกว่าครึ่ง แต่ในความเป็นจริงสำหรับ นักปฏิบัติ อาจจะไม่ยอมคล้อยตามคำขวัญข้างต้น เพราะเหตุว่า แพลนแล้วนิ่ง เป็นส่วนใหญ่ คือปัญหาที่เรื้อรังมานานในองค์กรต่างๆ แม้จะมีการวางแผนแก้ปัญหาแล้ว แต่ก็ไม่ได้นำไปใช้หรือไม่ได้ทำตามแผน จึงมีแต่ ปัญหาซ้ำซาก จนยากที่จะแก้ไขในวันนี้

ว่าไปแล้ว การตั้งเป้าหมายที่ดีและมีแผนปฏิบัติงานที่ดี จะถือว่ามีชัยเพียง 20% เท่านั้น แต่การนำแผนไปปฏิบัติจนได้ผลลัพธ์สุดท้ายที่บรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้จะเป็นชัยชนะอีก 80% ที่เหลือ

โดยปกติในองค์กรทั่วไปแล้ว คำสั่งจะเกิดจากระดับบนลงล่าง (นายสั่งให้ทำฯ) ส่วนผลลัพธ์มักจะเกิดจากระดับข้างล่าง (แต่นายเอาไปหมด) และมักปรากฏว่า สิ่งที่ทำได้  ไม่ใช่สิ่งที่ต้องการ

ทุกวันนี้ เครื่องมือทางการบริหารจัดการที่ผู้บริหารหลายองค์กรนิยมใช้ เพราะเกี่ยวเนื่องกับผลการปฏิบัติงานที่สอดคล้องตรงตามเป้าหมายขององค์กรก็คือ “OKRs” (จากหนังสือ Measure What Matters ของ John Doerr ซึ่งเขียนเมื่อปี 2560)

“OKRs” ย่อมาจาก Objectives and Key Results คือ เทคนิคทางการบริหารจัดการและการดำเนินงาน  โดยการถ่ายทอดวัตถุประสงค์หลักหรือเป้าหมายหลัก (Objectives) ขององค์กรจากผู้บริหารระดับสูงลงไปสู่ระดับต่างๆ จนถึงทุกระดับปฏิบัติการ โดยสามารถกำหนดผลลัพธ์สำคัญๆ (Key Results) ของแต่ละคน ซึ่งเป็นการกำหนดผลลัพธ์ของการทำงานในระดับปฏิบัติการให้สอดคล้องกับเป้าหมายหลักขององค์กรได้อย่างตรงประเด็น และเชี่อมโยงไปในทิศทางเดียวกัน

OKRs จึงเป็นวิธีการตั้งเป้าหมายหรือผลลัพธ์สำคัญๆ ของแต่ละบุคคลในองค์กรให้สอดคล้องกับวัตถุประสงค์หลักหรือเป้าหมายหลัก และกำหนดตัววัดผลลัพธ์ที่ทำให้เป้าหมายเป็นจริง (Key Results) จึงทำให้พนักงานทราบวิธีปฏิบัติงานให้บรรลุเป้าหมายขององค์กรในทิศทางเดียวกัน  ซึ่งจะทำให้องค์กรก้าวไปข้างหน้าอย่างรวดเร็ว

OKRs จึงสามารถตอบคำถามสำคัญในเชิงกลยุทธ์ 2 ข้อที่ว่า (1) เราจะไปที่ไหน (เป้าหมายหลักขององค์กรรวมไปถึงเป้าหมายของระดับต่างๆ จนไปถึงระดับผู้ปฏิบัติงาน) และ (2) เราไปถึงเป้าหมายแล้วหรือยัง (ผลลัพธ์สำคัญจะเป็นเสมือนตัวชี้วัดผลงานหลัก (KPIs) ของเป้าหมายแต่ละข้อ)

ประโยชน์ที่เห็นได้ชัดของ OKRs ก็คือ กระบวนการกระจายเป้าหมายขององค์กรจากระดับสูงเรื่อยลงไปสู่ระดับล่างทุกระดับ จนถึงผู้ปฏิบัติงานแต่ละคน จะมีความเป็นระบบ สอดคล้องไปในทิศทางเดียวกัน และมีความชัดเจนมากขึ้น ซึ่งทำให้พนักงานทุกคนรู้ถึงความรับผิดชอบของตนเองที่จะต้องทำให้ได้ผลลัพธ์ตามเป้าหมายนั้นๆ

ทุกวันนี้  ผู้บริหารที่เก่งและมีความสามารถในการวางแผนและตั้งเป้าหมาย แต่ถ้าหากไม่สามารถกระจายเป้าหมายไปสู่การปฏิบัติให้เกิดผลลัพธ์จริงตามเป้าหมายขององค์กร ก็คงไม่สามารถทำให้องค์กรบรรลุเป้าหมายโดยรวมได้

ปัญหาในปัจจุบัน  มักเกิดจากความสามารถของผู้บริหารระดับสูงในการถ่ายทอดและกระจายเป้าหมายหลักขององค์กรจากระดับสูงลงสู่ระดับปฏิบัติการอย่างถูกต้องตรงประเด็น ดังนั้น การประเมินผลงานของผู้บริหารระดับสูง จึงอยู่ที่ความสามารถในการบริหารจัดการเพื่อให้ได้ “ผลลัพธ์ ตรงตาม เป้าหมาย ขององค์กรอย่างแท้จริง (ทำได้ในสิ่งที่ต้องการ) ครับผม !