4 จุดเปลี่ยนที่เจ็บปวด

4 จุดเปลี่ยนที่เจ็บปวด

ล่วงเข้าสู่ปลายไตรมาส 3 พัฒนาการเศรษฐกิจโลกและไทยเด่นชัดขึ้นเป็นลำดับ ผู้เขียนมองว่า มี 4 พัฒนาการด้านเศรษฐกิจการเมืองโลกและไทยที่ชัดเจนขึ้น

 จุดเปลี่ยนแรก ได้แก่ "โลกการเงินจะผันผวนขึ้น" ผลจากการเริ่มประกาศถอนสภาพคล่องของธนาคารกลางสหรัฐ โดยในการประชุมสัมมนาวิชาการในเมือง Jackson Hole รัฐไวโอมิง ในช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา เจอโรม โพเวลล์ ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (Fed) ประกาศชัดเจนว่าจะเริ่มถอนมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) ที่เคยเข้าซื้อเดือนละ 1.2 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐลง แต่ก็ประกาศว่าจะยังไม่รีบขึ้นดอกเบี้ย เพราะเชื่อว่าเงินเฟ้อจะยังไม่เพิ่มขึ้นเป็นการถาวร

 ผู้เขียนมองว่าการถอนสภาพคล่องออกไป ย่อมมีผลต่อเศรษฐกิจและการลงทุนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยจะมีผลใน 3 จุด

 (1) ประเทศตลาดเกิดใหม่ที่มีดุลบัญชีเดินสะพัดขาดดุล ทุนสำรองไม่สูง และการคลังขาดดุล จะเริ่มมีความเสี่ยงที่เงินทุนไหลออกมากขึ้น เช่น ตุรกี อินเดีย ปากีสถาน แอฟริกาใต้ ขณะที่ประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แม้ไม่เข้าข่ายนี้แต่ก็มีความเสี่ยงมากขึ้นจากการระบาดของ COVID รอบใหม่และอัตราการฉีดวัคซีนต่ำกว่าภูมิภาคอื่น ๆ

(2) สินทรัพย์เสี่ยง เช่น หุ้น คริปโต สินค้าโภคภัณฑ์ จะกลับเข้าสู่ปัจจัยพื้นฐานมากขึ้น โดยแม้ว่าข้อมูลในอดีตที่ผ่านมาในการทำ QE Tapering ในปี 2010-2016 หุ้นโลกจะไม่ได้ปรับลดลงทุกครั้ง แต่การถอนสภาพคล่องออกจะทำให้ตลาดหันมาสนใจความเสี่ยงเพิ่มมากขึ้น และเป็นไปได้ที่จะผันผวนมากขึ้น

(3) ทิศทางอัตราแลกเปลี่ยนจะผันผวนขึ้น เพราะโดยปกติแล้ว ทิศทางของอัตราแลกเปลี่ยนจะสอดคล้องกับปริมาณเงินที่ออกโดยธนาคารกลาง ฉะนั้น การลดทอน QE ของสหรัฐย่อมแปลว่าการเพิ่มของปริมาณเงินดอลลาร์จะเริ่มลดลง เงินดอลลาร์จึงน่าจะต้องแข็งค่าขึ้นและทำให้ค่าเงินสกุลอื่น ๆ อ่อนค่าลง

อย่างไรก็ตาม ผู้เขียนเชื่อว่า Fed น่าจะมีการบริหารจัดการไม่ให้ดอลลาร์ผันผวนมาก กระนั้นก็ตาม หากพิจารณาข้อมูลในอดีต การลดทอน QE มักมาพร้อมกับวิกฤตค่าเงินในตลาดเกิดใหม่ ขณะที่ในไทยเอง ในช่วง QE Tapering ปี 2014-16 เงินบาทอ่อนค่าลงไปถึงว่า 8%

 จุดเปลี่ยนที่สอง ได้แก่ "จีนจะโตช้าลง" ผลจากการเปลี่ยนนโยบายเศรษฐกิจและสังคมจีน นับตั้งแต่ปลายปีที่แล้ว เราเห็นการเปลี่ยนแปลงแนวแนวนโยบายเกี่ยวกับเศรษฐกิจและสังคมจีน 3 ประการ ได้แก่

(1) การหันมาคุมเข้มกฎระเบียบมากขึ้นโดยเฉพาะใน Sector ที่เคยปล่อยให้พัฒนาได้อย่างอิสระอย่าง Fintech

 (2) การที่หันกลับมาเน้นการขยายตัวของภาคอุตสาหกรรมอีกครั้ง แทนที่จะผลักดันต่อไปสู่ภาคบริการซึ่งเป็นรูปแบบของการเติบโตของเศรษฐกิจที่พัฒนาขึ้น และ

(3) การเน้นความเท่าเทียมกัน หรือ Common prosperity ที่ประธานาธิบดีสีจิ้นผิงเน้นอย่างชัดเจนในการประชุมพรรคคอมมิวนิสต์ โดยจะกระจายความมั่งคั่งให้กับประชาชนทุกคน โดยรัฐบาลส่งสัญญาณว่าจะมีการเก็บภาษีกลุ่มคนที่มีรายได้สูงมากขึ้น และกำกับดูแลไม่ให้ทรัพย์สินส่วนใหญ่ในประเทศกระจุกตัวอยู่กับคนรวยกลุ่มน้อย รวมถึงการชักจูงให้กลุ่มเศรษฐีและคนร่ำรวยตอบแทนสังคมมากขึ้น

 แนวนโยบายนี้แม้จะเป็นผลดีในแง่ความเท่าเทียมและเสถียรภาพเศรษฐกิจ แต่ก็จะจำกัดการเติบโตของเศรษฐกิจจีนในระยะยาวอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เนื่องจาก (1) กำกับไม่ให้ธุรกิจที่มีประสิทธิภาพสูงอย่าง Fintech ได้เติบโตอย่างเต็มที่ (2) กลับมาเน้นเครื่องยนต์เศรษฐกิจเดิมคือ การผลิตสินค้าและการลงทุน แทนการให้บริการและการบริโภคในประเทศ ที่จะเป็นการเพิ่มคุณภาพชีวิตประชาชน และ (3) ลดแรงจูงใจในการประกอบอาชีพ อันเป็นการย้อนนโยบายเดิมอันได้แก่ Chinese dream หรือ "ความฝันชาวจีน" ที่เคยประสบความสำเร็จ

 จุดเปลี่ยนที่สาม ได้แก่ "ความมั่นคงโลกจะปั่นป่วนมากขึ้น" โดยจุดเปลี่ยนที่สำคัญ ได้แก่ การที่สหรัฐถอนทหารในอัฟกานิสถานโดยไม่เตรียมพร้อม นำไปสู่การที่กองกำลังตาลีบันเข้ายึดครองคาบูลและเมืองสำคัญทั้งประเทศ และเกิดการอพยพของชาวอัฟกันออกจากประเทศเป็นจำนวนมาก รวมถึงเกิดเหตุการณ์ความไม่สงบในอัฟกานิสถานมากขึ้น

 ผู้เขียนมองว่า สถานการณ์ดังกล่าวบ่งชี้ถึงความเสี่ยงที่สูงขึ้น 3 ประการ คือ (1) แนวนโยบายการต่างประเทศของไบเดนไม่ได้เปลี่ยนจากยุคของทรัมพ์อย่างมีนัยสำคัญ นั่นคือ ลดบทบาทการเป็น "ตำรวจโลก" และหันมายึดกลยุทธ์ที่เป็นประโยชน์ต่อสหรัฐ เช่น หันมาให้ความสำคัญกับจุดยุทธศาสตร์ที่สำคัญมากขึ้น เช่น ช่องแคบไต้หวัน คาบสมุทรเกาหลี และทะเลจีนใต้ แต่การถอนทหารแบบไม่คำนึงถึงความไม่พร้อมด้านความมั่นคงทำให้อิทธิพลสหรัฐในเวทีโลกลดลง ท่ามกลางอิทธิพลจีนที่เพิ่มมากขึ้นหลังการรับรองรัฐบาลตาลีบัน

(2) ทุนทางการเมืองของรัฐบาลไบเดนจะลดลงในระยะต่อไป และ

(3) โอกาสในการสร้างกลุ่มกองกำลังผู้ก่อการร้ายใหม่ที่ใช้อัฟกานิสถานเป็นที่หลบซ่อนและโรงเรียนฝึกหัดมีมากขึ้น

 จุดเปลี่ยนที่สี่ ได้แก่ "เศรษฐกิจไทยจะหายไปถึง 4 ปี" จากการ (ไม่) เปลี่ยนแปลงนโยบายเศรษฐกิจ โดยหลังจากที่ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยได้เสนอแนะให้กระทรวงการคลังกู้เงินเพิ่มอีก 1 ล้านล้านบาทเพื่อนำมากลบ "หลุมรายได้" ที่เกิดจากการที่รายได้แรงงานที่หายไปแล้วกว่า 1.3 ล้านล้านบาท ตั้งแต่วิกฤต COVID ปีที่แล้ว และอาจถึง 2.6 ล้านล้านบาทในปีหน้า โดยผู้ที่จะได้รับผลกระทบสูงได้แก่ ผู้ประกอบอาชีพอิสระด้านการท่องเที่ยว ลูกจ้างที่ตกงานและนายจ้าง SMEs

 ผู้เขียนเห็นด้วยกับผู้ว่าการฯ อย่างไรก็ตาม ผู้เขียนก็เชื่อว่ามาตรการการเงินก็สามารถช่วยเพิ่มเติมได้เช่นกัน ไม่ว่าจะพิจารณาจากดอกเบี้ยที่ยังมีช่องทางให้ลงได้ จากมาตรการสินเชื่อฟื้นฟูและโครงการพักทรัพย์พักหนี้ที่ยังมีการเบิกจ่ายค่อนข้างน้อยกว่าวงเงินมาก และจากอัตราการหมุนของเงิน (Velocity of Money) ที่ต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ บ่งชี้ว่ามี Room ให้ทำมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) ได้ 

อย่างไรก็ตาม ผู้เขียนเชื่อว่าด้วยมุมมองของหน่วยงานที่กำกับนโยบายการเงินการคลังในปัจจุบัน คงยากที่หน่วยงานทางเศรษฐกิจของไทยจะออกมาตรการผ่อนคลายขนาดใหญ่มากกว่าที่เป็นอยู่ และแม้จะเข้าใจดีว่าผู้กำหนดนโยบายจะต้องพิจารณาอย่างรอบด้านถึงข้อดีข้อเสียต่าง ๆ แต่ก็เชื่อว่ากว่าที่เศรษฐกิจไทยจะกลับมาเหมือนก่อน COVID ก็อาจกินเวลากว่า 4 ปีก็เป็นได้ 

โลกการเงินผันผวน จีน U-turn การก่อการร้ายที่จะมีมากขึ้น และ สี่ปีที่หายไปของเศรษฐกิจไทย เหล่านี้คือ 4 จุดเปลี่ยนที่เจ็บปวด.

บทความนี้เป็นความเห็นส่วนตัวของผู้เขียน ไม่เกี่ยวข้องใด ๆ กับหน่วยงานที่ผู้เขียนสังกัดอยู่