Climate Tech โอกาสในวิกฤติ

Climate Tech โอกาสในวิกฤติ

Climate Tech เทคโนโลยีที่จะควบคุมหรือลดการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ กำลังเป็นสิ่งที่ผู้คนในวงการเทคโนโลยีและองค์กรธุรกิจ ให้ความสำคัญ

             คณะกรรมการด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศของสหประชาชาติ (IPCC) นำเสนอรายงานล่าสุด ระบุว่าปัญหาสภาพภูมิอากาศโลกกำลังอยู่ในจุดที่เป็นสัญญาณเตือนสีแดงและต้องการความเร่งด่วนขั้นสุดในการแก้ปัญหา ด้วยสถานการณ์ที่เลวร้ายกว่าที่คาดการณ์ไว้  ถ้าการบริหารจัดการสิ่งแวดล้อมและการใช้ชีวิตของผู้คนบนโลกยังไม่เปลี่ยนแปลง อีก 10 ปีข้างหน้าอุณหภูมิของโลกที่จะร้อนขึ้นถึง 1.5 องศาเซลเซียสจะทำให้เกิดปัญหาสิ่งแวดล้อมและภัยพิบัติทางธรรมชาติที่รุนแรงขึ้น จนถึงขั้นกระทบกับชีวิตผู้คนในวงกว้าง เช่นไม่สามารถผลิตพืชผลทางการเกษตรได้เลย หรือบางภูมิภาคของโลกอุณหภูมิอาจจะสูงขึ้นจนมนุษย์ไม่สามารถอยู่อาศัยได้

          นั่นคือเหตุผลที่ Climate Tech เทคโนโลยีที่จะเข้ามาควบคุมหรือลดการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศกำลังเป็นสิ่งที่ผู้คนในวงการเทคโนโลยี องค์กรธุรกิจ และนักลงทุนกำลังให้ความสำคัญ บริบทของ Climate Tech มีขอบเขตที่ใหญ่กว่า Clean Tech ที่คนส่วนใหญ่รู้จัก

ในอดีตกว่า 20 ปีที่ผ่านมา Clean  Tech เคยเป็นเซ็กเตอร์ที่ได้รับความสนใจจากนักลงทุนและองค์กรใหญ่ด้านพลังงานแต่ในที่สุดมีบริษัทด้าน Clean Tech เพียงไม่กี่รายที่ประสบความสำเร็จ เพราะหลายโครงการเป็นการลงทุนในเทคโนโลยีที่จับต้องไม่ได้และให้ความสำคัญในมิติของเรื่องพลังงานทางเลือกแต่เพียงอย่างเดียว ซึ่งแตกต่างกับ Climate Tech ที่มีขอบข่ายโฟกัส ในสาขาหลักๆ  7 สาขานั่นคือ 1) พลังงานทางเลือก 2) ยานยนต์และระบบขนส่ง 3) อาหารและเกษตร 4) อุตสาหกรรมหนัก 5) อุตสาหกรรมก่อสร้าง  6) การดักจับและการจัดเก็บคาร์บอน 7) การใช้ข้อมูลดาวเทียมเพื่อวิเคราะห์สำรวจ ติดตามทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม 

ในปัจจุบันการลงทุนในสตาร์ทอัพและบริษัทที่พัฒนาเทคโนโลยีนวัตกรรม เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกกำลังพุ่งไปทำนิวไฮ แค่ครึ่งปีที่ผ่านมาเม็ดเงินลงทุนก็แตะหนึ่งหมื่นสี่พันล้านเหรียญสหรัฐฯ เกือบเท่ากับตัวเลขการลงทุนของปีที่แล้ว

ข้อมูลล่าสุดจาก Pitchbook 2021 ระบุว่ามีกองทุนเกิดใหม่กว่า 10 กองทุนที่เพิ่งปิดรอบการระดมทุนด้วยเม็ดเงินกว่า 800 ล้านดอลลาร์ ส่วนในประเทศไทยเองก็มีกองทุนจากแบงค์ใหญ่หลายแห่งที่เริ่มเปิดขายกองทุนเพื่อนำเงินไปลงทุนในธุรกิจด้าน Climate Techในต่างประเทศ

           เม็ดเงินลงทุนในสตาร์ทอัพที่พัฒนานวัตกรรมลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกส่วนใหญ่ยังคงกระจุกตัวอยู่ในยุโรป อเมริกา และจีน สาขาที่ดึงดูดเม็ดเงินมากที่สุดคือ ยานพาหนะและระบบขนส่ง  พลังงานและอาหาร/เกษตร  เทรนด์ของการพัฒนานวัตกรรมเพื่อความยั่งยืนของโลกกำลังคืบคลานเข้าสู่ทุกอุตสาหกรรม ตั้งแต่พลังงานทางเลือก ยานยนต์ ไปจนถึงสิ่งที่ใกล้ตัวที่สุด

เช่น อาหารและเกษตร บริษัทด้านเกษตรและอาหารระดับโลกเช่น Pepsi  Nestle  General Mills ต่างหันมาให้ความสำคัญกับการพัฒนาโปรตีนทางเลือก และการทำเกษตรแบบไม่รุกรานพื้นที่เพาะปลูกและใส่ใจต่อสิ่งแวดล้อม (Regenerative Farming) การใช้เทคโนโลยีชีวสังเคราะห์เพื่อพัฒนาพันธ์พืชและเพิ่มผลผลิตภายใต้สภาวะอากาศที่เปลี่ยนแปลง ก็กำลังเป็นปัญหาใหญ่ที่ต้องการนวัตกรรมเข้ามาตอบโจทย์

           การเร่งสร้างสตาร์ทอัพเพื่อทำให้เกิดนวัตกรรมเพื่อความยั่งยืน ควรถูกบรรจุให้เป็นวาระสำคัญของประเทศ โอกาสของ Climate Tech ไม่ได้อยู่ที่การทำตามเทรนด์โลกหรือการจับกระแสการเติบโตทางธุรกิจ แต่คือการขับเคลื่อนนวัตกรรรมเพื่อความอยู่รอดของพวกเราทุกคน.