Megatrend Stocks after QE Tapering  

Megatrend Stocks after QE Tapering   

 ในเดือน มี.ค.2563 โลกเผชิญกับการระบาดของ โควิด-19 ระลอกแรก ทำให้ FED มีการทำ QE วงเงิน 1.2 แสนล้านดอลลาร์

 

พร้อมกับปรับลดดอกเบี้ยนโยบายจาก 1.75% เหลือเพียง 0.25% โดยนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายช่วยสนับสนุนการฟื้นตัวของตลาดหุ้น แต่การฟื้นตัวในแต่ละอุตสาหกรรมกลับแตกต่างกัน ดัชนี NASDAQ 100 ซึ่งมีสัดส่วนของหุ้นเติบโต (Growth) เช่น กลุ่ม IT, Innovative Healthcare, Cloud และ E-commerce มากกว่าดัชนีอื่น สร้างผลตอบแทนในปี 2563สูงถึง +47% เทียบกับดัชนี Dow Jones ที่ถึงแม้จะมีหุ้นกลุ่มเติบโตอยู่ แต่สัดส่วนหลักของดัชนีประกอบไปด้วยหุ้นกลุ่มกลุ่มวัฏจักร (Cyclical) และหุ้นคุณค่า (Value) เช่น สถาบันการเงิน พลังงาน สินค้าอุตสาหกรรม ไปจนถึงกลุ่มอุตสาหกรรมการแพทย์ สร้างผลตอบแทนในปี 2563 เพียง +7% ด้วยผลตอบแทนที่ต่างกันระหว่างหุ้นกลุ่ม Growth กับ Cyclical และ Value ทำให้นักลงทุนเรียกการฟื้นตัวของตลาดหุ้นรูปแบบดังกล่าวว่า “K-shape”

ภาพในปี 2564 แตกต่างจากปี 2563เนื่องจากเศรษฐกิจสหรัฐฯ มีการฟื้นตัว นำไปสู่การคาดการณ์ว่า FED จะเริ่มส่งสัญญาณชะลอการอัดฉีดเงินเข้าระบบ หรือ QE tapering ในปีนี้ ทำให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ (Bond Yield) อายุ 10 ปีปรับตัวสูงขึ้นจากจุดต่ำสุด 0.5% ขึ้นสู่ระดับ 1.75% ภายในระยะเวลาเพียง 6 เดือน นอกจากจะทำให้หุ้นกลุ่มวัฏจักร เช่น สถาบันการเงิน พลังงาน ธีมหุ้นเปิดเมือง ได้รับประโยชน์จากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจแล้วนั้น ยังสร้างแรงกดดันต่อหุ้นเติบโตที่มักจะให้ผลตอบแทนน้อยลงในช่วงที่สภาวะดอกเบี้ยปรับตัวสูงขึ้น เนื่องจากบางบริษัทถึงแม้จะมียอดขายและส่วนแบ่งตลาดที่เพิ่มสูงขึ้น แต่ยังไม่สามารถสร้างกำไรได้ เมื่อต้นทุนทางการเงินอย่างอัตราดอกเบี้ยมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น ทำให้การประเมินมูลค่าหุ้นกลุ่มนี้จะได้มูลค่าที่เหมาะสมลดลงมากกว่าหุ้นที่สามารถสร้างผลกำไรได้แล้ว ส่งผลให้ตลอด 7 เดือนที่ผ่านมา หุ้นวัฏจักรให้ผลตอบแทนได้ดีกว่าหุ้นเติบโตซึ่งเคยเป็นพระเอกในปีที่แล้ว

การทำ QE Tapering ถูกพูดถึงเป็นครั้งแรกวันที่ 22 พ.ค. 2556 หากอ้างอิงสถิติสำหรับการส่งสัญญาณ QE Tapering ในช่วงปี 2556-2557 พบว่า ตั้งแต่ FED เริ่มส่งสัญญาณ QE Tapering ครั้งแรก จนถึงปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายใช้ระยะเวลาประมาณ 20 เดือน ซึ่ง TISCO ESU ประเมินว่าการส่งสัญญาณ QE Tapering ในครั้งนี้ ตลาดได้ตอบรับข่าว (Price-in) ไปค่อนข้างมากแล้ว สะท้อนให้เห็นใน Bond Yield อายุ 10 ปี ที่ปรับขึ้นมาแล้วราว 1% ตั้งแต่ช่วงปลายปีก่อน ใกล้เคียงกับการปรับเพิ่มขึ้น 1.2% หลัง FED ส่งสัญญาณ QE Tapering ในเดือน พ.ค. 2556 ทำให้ผลกระทบเรื่องการขึ้นของดอกเบี้ยจากตรงนี้ไปเริ่มมองว่าจำกัด สอดคล้องกับ Bond Yield อายุ 10 ปีของสหรัฐฯ ในเดือน ส.ค. 2564 ยังทรงตัวอยู่ระดับ 1.2-1.3% เทียบกับช่วงกลางปีที่ 1.7% สำหรับการปรับลดขนาดของการเข้าซื้อสินทรัพย์มองว่าเป็นอย่างค่อยเป็นค่อยไป คาดว่าจะปรับลดไตรมาสละ 3 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เป็นเวลา 4 ไตรมาส (1 ปี) ก่อนจะเริ่มปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในไตรมาส 3 ปี 2566 และประเมินดอกเบี้ยระยะยาวจะอยู่ระดับ 1.8% ต่ำกว่ารอบก่อนหน้าที่ 2.5% ซึ่งยังถือว่าอยู่ในระดับต่ำกว่าในอดีต

ตลาดหุ้นมักจะผันผวนรุนแรงที่สุดล่วงหน้า 3 เดือน ก่อนการทำ QE Tapering และการขึ้นดอกเบี้ย ดัชนีหุ้นของกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว (Developed Market) เช่น สหรัฐฯ ยูโรโซน ปรับตัวลดลงโดยเฉลี่ย -5 ถึง -10% ขณะที่กลุ่มประเทศกำลังพัฒนา (Emerging Market) เช่น จีน อินเดีย เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ปรับตัวลดลงเฉลี่ย -20% จะเห็นได้ว่า หุ้นของกลุ่มประเทศกำลังพัฒนามีความผันผวนมากกว่าจากการเผชิญกับสภาวะเงินทุนไหลออกที่รุนแรง ต่หลังจากนั้นดัชนีหุ้นต่างก็เริ่มฟื้นตัวและทำจุดสูงสุดใหม่ภายใน 1 ปี ด้วยวิธีการสื่อสารที่มีประสิทธิภาพมากขึ้นของ FED ทำให้ผลกระทบต่อตลาดหุ้นในระยะหลังมีการปรับตัวลดลงที่น้อยกว่าในอดีต จากการขึ้นดอกเบี้ยครั้งล่าสุดในปี 2559 โดยตลาดหุ้นมีการเคลื่อนไหวค่อนข้างทรงตัว และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อหลังจากนั้นเช่นเดียวกับในปี 2556-2557

สำหรับพอร์ตการลงทุนในกลุ่ม Megatrends โดยส่วนใหญ่แล้วจะมีลักษณะเป็นหุ้นเติบโต ซึ่งได้รับแรงกดดันจาก Bond Yield ที่ปรับตัวสูงขึ้นแรงและเร็ว ปัจจุบันการปรับตัวสูงขึ้นของ Bond Yield อายุ 10 ปี ใกล้เคียงกับปี 2556 ทำให้มองว่าตลาดได้สะท้อนการทำ QE Tapering ไประดับหนึ่งแล้ว แน่นอนว่าความผันผวนระยะสั้นยังมีโอกาสเกิดขึ้นได้ แต่หากมองไปข้างหน้า จังหวะที่หุ้นกลุ่มเติบโตปรับตัวลดลงมานี้เป็นจังหวะที่ดีสำหรับเข้าลงทุน เนื่องจากผลตอบแทนในระยะยาวนั้นจะขึ้นอยู่กับการเติบโตของผลกำไรบริษัทจดทะเบียนมากกว่าปัจจัยเรื่องสภาพคล่อง ซึ่งการลดวงเงิน QE และการขึ้นดอกเบี้ยนั้นเป็นตัวบ่งชี้ถึงเศรษฐกิจที่กำลังฟื้นตัว

การลงทุนในหุ้นของบริษัทที่มีการเติบโตสูง ถึงแม้จะไม่ได้ผลตอบแทนดีที่สุดทุกปี เนื่องด้วยสภาวะตลาดที่ไม่สามารถควบคุมได้ แต่หากมองในภาพของการลงทุนในระยะยาวนับตั้งแต่ปี 2556 เป็นต้นมาจะพบว่าหุ้นเติบโตที่อ้างอิงจากดัชนี NASDAQ 100 สามารถสร้างผลตอบแทนถึง 445% สูงกว่ากลุ่มบริษัทที่มีการเติบโตไปพร้อมกับวัฏจักรเศรษฐกิจอย่างดัชนี Dow Jones ที่ให้ผลตอบแทน 155% อย่างชัดเจน