เก็บภาษี VAT e-Service ก้าวแรกของการลดช่องว่าง UNFAIR TRADE

เก็บภาษี VAT e-Service ก้าวแรกของการลดช่องว่าง UNFAIR TRADE

เรื่องของ E-Commerce/E-Marketplace ที่นำสินค้าเข้าจากต่างประเทศ เป็นหนึ่งในประเด็นสำคัญ

ที่สมาคมผู้ค้าปลีกไทยได้เรียกร้องให้ภาครัฐเร่งพิจารณามาตรการดูแลการแข่งขันที่ไม่เป็นธรรมของแพลตฟอร์มออนไลน์มาตลอด 5-6 ปีที่ผ่านมา และแล้ว...ก็เป็นเรื่องน่ายินดีที่กรมสรรพากรได้ประกาศ จัดเก็บภาษี e-Service (VAT for Electronic Service) ในอัตรา 7% ต่อปี จากแพลตฟอร์มต่างประเทศที่ให้บริการทางออนไลน์แก่ผู้ใช้บริการในประเทศไทย และมีรายได้เกินกว่า 1.8 ล้านบาทต่อปี ซึ่งมีผลบังคับใช้ทางกฎหมายวันที่ 1 ก.ย.นี้ 

รายงานข่าวแจ้งว่า ขณะนี้ได้มีผู้ให้บริการแพลตฟอร์มออนไลน์ต่างชาติในไทยที่มาลงทะเบียนเสียภาษีผ่านระบบ VES (VAT for Electronic Service) ของกรมสรรพากรแล้ว 18 ราย จากบริษัทที่เข้าข่ายต้องเสียภาษีนี้ประมาณ 100 ราย (ณ 16 ส.ค.2564) กรมสรรพากรมั่นใจว่าผู้ให้บริการแพลตฟอร์มออนไลน์จะทยอยมาลงทะเบียนครบตามเวลาที่กำหนด

แค่ VAT ยังไม่พอ ยังต้องหาทางเก็บทั้งภาษีนำเข้าและภาษีเงินได้ต่อไป

การที่กรมสรรพากร ประกาศจัดเก็บภาษี e-Service ก็เป็นข้อดีที่จะสร้างความเป็นธรรมในการเสียภาษีระหว่างผู้ประกอบการไทย กับผู้ประกอบการจากต่างประเทศระดับหนึ่ง แต่ก็ยังไม่เพียงพอ! 

ทั้งนี้ สมาคมผู้ค้าปลีกไทยได้เรียกร้องภาครัฐยังต้องเร่งหามาตรการภาษีอื่นๆในการดูแลการแข่งขันที่ไม่เป็นธรรมที่จะส่งผลเสียหายต่อโครงสร้างราคาที่ถูกบิดเบี้ยวจากความเป็นจริง

จากข้อมูลแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซ ปี 2564 บริษัท ไพรซ์ซ่า จำกัด ระบุมูลค่าตลาดอีคอมเมิร์ซในช่วงสถานการณ์โควิด-19 ของตลาดบีทูซีและซีทูซีที่ผ่านแพลตฟอร์ม Market Place เติบโต 81% จาก 163,300 ล้านบาท เป็น 294,000 ล้านบาทในปีที่ผ่านมา เมื่อเจาะลึกลงไปพบว่า ส่วนแบ่งการตลาดของจำนวนสินค้าในไทยยังคงเป็นสินค้าจากต่างชาติที่กินส่วนแบ่งกว่า 63% เพราะการแข่งขันด้วยราคาไม่อาจสู้สินค้าจากต่างประเทศได้ ตัวอย่างเช่น กรณีแพลตฟอร์มออนไลน์ยักษ์ใหญ่ ที่เข้ามาเปิดเว็บไซต์จำหน่ายสินค้าในประเทศไทย แต่ไม่มีการแสดงตัวตนหรือการจดทะเบียนที่ถูกต้อง ส่งผลต่อการค้าที่ไม่เป็นธรรม หรือกรณีเว็บไซต์จีนที่ส่งสินค้าเข้ามาให้ลูกค้าในไทย แต่มิได้มีการเสียภาษีนำเข้า เนื่องจากเข้าเกณฑ์ยกเว้นของกรมศุลกากร เพราะราคาสินค้าต่ำว่า 1,000 บาท ซึ่งวิธีการเช่นนี้ ทำให้การตรวจสอบต้นทุนสินค้าเป็นไปได้ยาก ส่งผลให้ไม่ต้องเสียภาษีนำเข้า ภาษี VAT และภาษีเงินได้อีกด้วย

ต้องมีกฏหมายมากำกับการกินรวบจากหัวสู่หาง

จากข้อมูล ETDA มูลค่า E-Commerce อยู่ที่ราว 300,000 ล้านบาท ถือว่าเป็นธุรกิจขนาดใหญ่ที่มีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง และมีการพบเห็นอยู่เนืองๆ ผู้ประกอบการที่ค้าขายและให้บริการบนแพลตฟอร์มออนไลน์ มีการขายสินค้าในราคาที่ต่ำกว่าทุน ทำให้ SME ไทยไม่สามารถแข่งขันได้ ภาครัฐยังไม่มีมาตรการเรื่องการเก็บภาษีนำเข้า และภาษีมูลค่าเพิ่มตั้งแต่บาทแรก ซึ่ง SME ไทยมีการเสียภาษีนำเข้าและภาษีมูลค่าเพิ่มเต็มจำนวนตั้งแต่บาทแรก ถือว่าเป็นการแข่งขันทางการค้าที่ไม่เป็นธรรม (Unfair Trade) และจะสร้างความเสียหายให้แก่ระบบค้าปลีกไทยในระยะยาว

ข้อมูลของไพรซ์ซ่าพบว่า การขยายตัวของแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซในประเทศไทยจะกินรวบตั้งแต่ต้นน้ำยันปลายน้ำ จากจุดเริ่มต้นของแพลตฟอร์มที่เน้นให้บริการเดียว ได้ขยายตัวให้บริการในด้านอื่นๆ กันมากขึ้น จากภาพเราจะเห็นได้ชัดเจนว่า หลายๆ แพลตฟอร์มขยายตัวให้บริการตั้งแต่สื่อ โฆษณา อีคอมเมิร์ซ ธนาคาร ไปจนถึงระบบขนส่งอีกด้วย

บทบาทภาครัฐในการสนับสนุน e-Commerce

ภาครัฐต้องให้ความสำคัญกับการยกระดับการพัฒนาธุรกิจ e-Commerce ภายในประเทศไทยให้เติบโตต่อไปอย่างสอดคล้องกับบริบททางเศรษฐกิจ สังคม และความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี ด้วยการ

1.เร่งขจัดอุปสรรคทางด้านกฎระเบียบที่แตกต่างกันระหว่างการค้าแบบออฟไลน์และออนไลน์ ยังรวมไปถึงการปรับปรุงกฎระเบียบด้านโลจิสติกส์เพื่อทำให้ห่วงโซ่อุปทานทั้งทางกายภาพและทางเทคโนโลยีดิจิทัลมีความสอดคล้องกัน ตลอดจนปรับปรุงกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับ e-Commerce ทุกระดับให้เป็นไปในทิศทางเดียวกันด้วย

2.กำหนดแนวทางในการดำเนินธุรกิจออนไลน์ให้สอดคล้องกับกรอบการกำกับดูแลทางด้านกฎหมาย เพื่อที่จะเสริมสร้างการดำเนินกิจกรรมซื้อขายที่มีความโปร่งใส ในขณะเดียวกัน ก็ควรมีแนวทางการกำกับดูแลในเชิงรุกและมีการสื่อสารกับภาคธุรกิจที่ดียิ่งขึ้น โดยเฉพาะในเรื่องของกฎระเบียบที่เกี่ยวกับ e-Commerce

3.การปรับปรุงมาตรการทางภาษี โดยเฉพาะภาษีจากสินทรัพย์ที่ไม่มีตัวตน (Intangible Assets) ซึ่งหมายถึงสินทรัพย์ที่ไม่ใช่ตัวเงิน ไม่สามารถจับต้องได้ แต่สามารถวัดมูลค่าได้อย่างน่าเชื่อถือ โดยอยู่ภายใต้การควบคุมของกิจการและจะให้ผลประโยชน์เชิงเศรษฐกิจในอนาคต เนื่องจากรูปแบบธุรกิจในปัจจุบันได้แปรเปลี่ยนเป็นแบบดิจิทัล หรือในรูปแบบ e-Commerce มากขึ้นเรื่อย ๆ

4.ส่งเสริมการแข่งขันที่หลากหลายในตลาด e-Commerce ทั้งนี้เพื่อป้องกันการผูกขาดทางการค้าและการสมคบคิดกันระหว่างธุรกิจรายใหญ่เพียงไม่กี่ราย โดยต้องปรับเนื้อหาของนโยบายป้องกันการผูกขาดแบบเดิมที่บังคับใช้กับธุรกิจแบบออฟไลน์ ให้มีกลไกในเชิงปฏิบัติที่สอดคล้องกับกิจกรรมการค้าแบบดิจิทัลมากขึ้น

5.จัดตั้งหน่วยงานรับผิดชอบธุรกิจพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์เป็นการเฉพาะ ทุกวันนี้ มีหน่วยงานมากมายที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ อาท กรมสรรพากร กรมศุลากร กรมพัฒนาธุรกิจ สำนักงานคุ้มครองผู้บริโภค กระทรวงเทคโนโลยี่สารสนเทศและการสื่อสาร ธนาคารแห่งประเทศไทย และกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี่ และ ตณะกรรมการส่งเสริมแข่งขันทางการค้า ซึ่งรวมแล้วกว่า 8 หน่วยงาน หลากหลายองค์กร