พฤติกรรมทำให้ ‘จน’

พฤติกรรมทำให้ ‘จน’

ไม่น่าเชื่อว่า สังคมปัจจุบันของเรา มีคน “จน” อยู่มากมายท่ามกลางความมั่งมี   มันเป็นความ“จน” อีกลักษณะหนึ่งที่แตกต่างจากความจนที่เราคุ้นเคย 

     คาดว่าไม่ต่ำกว่าสามในสี่ของคนไทยในช่วงอายุ 23-24 ปีขึ้นไปถึง 40 กว่า  มีการศึกษาตั้งแต่มัธยม 3 ขึ้นไป  ที่มีรายได้เฉลี่ยรายเดือน 18,000 บาท ถึงกว่า 100,000 บาท  มีพฤติกรรมเหมือนกันในหลายลักษณะที่ทำให้ “จน”  อุปมาคล้ายถังน้ำที่มีรูให้น้ำไหลออกซึ่งคือรายจ่ายและมีน้ำไหลหรือรายได้เข้าจากก๊อกน้ำปริมาณน้ำที่อยู่ในถังคือเงินออมสะสม   ไม่ว่าจะมีน้ำไหลเข้าถังมากมายเพียงใดในแต่ละเดือน  หากไหลออกในอัตราที่เท่ากัน ก็หมายถึงว่าไม่มีเงินออมสำหรับเดือนนั้น หากต้องการให้มีน้ำไหลเข้ามากกว่ารายได้จากก๊อกเดียวก็ต้องไปกู้มาซึ่งเสมือนกับมีน้ำจากอีกก๊อกไหลเข้ามาช่วย

             คนกลุ่มนี้มีพฤติกรรมแบบถังน้ำร่วมกันกล่าวคือน้ำที่เหลืออยู่ในถังล้วนมาจากการกู้ทั้งสิ้น ซึ่งวันหนึ่งก็ต้องใช้คืนทั้งดอกเบี้ย   นี่คือความ “จน” ในความหมายดังกล่าวพฤติกรรมที่กล่าวถึงมีดังนี้

                        (1) แยกไม่ออกระหว่าง “needs” และ “wants”     มนุษย์มีความจำเป็นต้องมี (needs) ในชีวิตเพื่อให้อยู่รอด  ปัจจัยสี่อย่างพอดีคือรายจ่ายที่หลีกเลี่ยงไม่ได้    อย่างไรก็ดีมีรายจ่ายอีกประเภทหนึ่งจากความต้องการมี (wants) ของคนกลุ่มนี้    เช่น    มีชีวิตดื่มกินที่หรูหรา    มีรถยนต์ เสื้อผ้าราคาแพง   นาฬิกาหรู ช็อปเปอร์มียี่ห้อ โฮมเธียร์เตอร์  สะสมของเล่นราคาแพง เที่ยวต่างประเทศ ฯลฯ   

          ซึ่ง การกินอยู่เกินฐานะ” เช่นนี้เกิดได้ง่ายในยุคปัจจุบันด้วยบัตรเครดิตรูดบัตรคือยืมเงินมาใช้ก่อนด้วยอัตราดอกเบี้ยที่สูง แล้วผ่อนคืนเดือนละเล็กน้อยโดยมีบัตรหลายใบหมุนกันไป  สไตล์ “จับแพะชนแกะ”  ก็ทำให้ได้สิ่งที่ต้องการมีตามเพื่อนฝูง เงินแต่ละเดือนไม่พอใช้แต่ที่อยู่ได้ก็เพราะมีบัตรเครดิตช่วยอย่างไม่รู้จะจบอย่างไร 

                        (2)  ใคร  ก็เป็นแบบนี้    เมื่อคนกลุ่มนี้มองกันและกัน  ก็เห็นว่าไม่มีอะไรแปลกประหลาด  ใคร ๆก็เป็นหนี้ในลักษณะนี้เพื่อให้มีของหรูหราใช้    ชีวิตเป็นของเรา  เมื่อทำงานหนักก็ต้องให้รางวัลชีวิตกันเป็นธรรมดา   คนจะมีระดับก็ต้องมีหนี้กันบ้าง  

                        (3) คิดอย่างขาดเหตุผลเกี่ยวกับอนาคต  อีกหน่อยก็มีเงินมากกว่านี้” “อีกหน่อยก็ถูกหวย ชนะพนันรวยแล้ว"    แบบแผนความคิดง่าย  ไร้เดียงสาเช่นนี้มิได้ช่วยให้สถานการณ์ที่เป็นอยู่ดีขึ้น     หนี้จะงอกขึ้นเหมือนดินพอกหางหมู     เมื่อถึงจุดที่ต้องแก้ไขหลายคนที่มีจริยธรรมอ่อนแอก็ต้องใช้วิธีที่ผิดจนนำไปสู่คุกตะราง     เช่น    เบียดบังหลวง คดโกง     ขโมย     จี้ปล้น ฯลฯ หากแต่ละวันหมกมุ่นอยู่กับการหาโอกาสทุจริตเพื่อได้เงินมาใช้หนี้  การงานจะก้าวหน้าได้อย่างไร

                        (4) เล่นการพนัน   หลายคนมีสไตล์การใช้ชีวิตที่เกี่ยวพันกับการพนันโดยเริ่มต้นที่ความสนุกและตามมาด้วย การหาเงินมาใช้หนี้ด้วยการพนันออนไลน์ที่มีอยู่เกร่อไปหมด   แทงฟุตบอล ตีไก่     เล่นหวย    ฯลฯ     บางคนกู้หนี้นอกระบบมาเล่นพนันแล้วเสียจึงโดนสองเด้งคือทั้งเจ้าหนี้นอกระบบ และเจ้ามือการพนันไล่ทวงหนี้จนถูกฆ่าตายก็มี  

                       (5) ขาดหลักการในการดำเนินชีวิต     มีชีวิตเพื่อความสุขสำราญในวันนี้โดยไม่คำนึงถึงอนาคตด้วยการคิดอย่างจริงจังว่าชีวิตจะเดินไปอย่างไรอย่างมีความมั่นคงทางการเงินในอนาคต   สิ่งที่ประสบเหมือนกันก็คือการมีเงินใช้ไม่ชนเดือนถึงแม้จะมีรายได้สูงก็ตาม    แต่ละวันคิดแต่การหาเงินมาใช้หนี้ที่ถูกทวงถามอยู่เสมอ 

                       (6) ใช้เวลาอย่างไร้ประโยชน์   แทนที่จะใช้เวลาว่างหาทางเพิ่มทักษะและความรู้เพื่อจะได้มีรายได้เพิ่มขึ้นอีกทางแต่กลับหมดเวลาไปกับการติดตามเรื่องราวซุบซิบของดารา ใช้เวลาส่วนใหญ่เล่นเกมส์  อ่านเรื่องไร้สาระในโซเชียลมีเดีย  ฯลฯ 

                        พฤติกรรมเหล่านี้อาจนำไปสู่ปัญหาสังคมที่ใหญ่โตได้เพราะเมื่อเผชิญกับปัญหาเรื่องเงิน   คนส่วนมากก็จะพยายามหาแพะมารับบาปเพื่อความสบายใจ  เกิดความโกรธแค้น ชิงชัง องค์กร    สถาบัน บุคคล พรรคการเมือง    ฯลฯ    โดยไม่เคยดูว่าตัวเองนั่นแหละคือต้นเหตุแห่งปัญหา    สถานการณ์เช่นนี้ทำให้สังคมปั่นป่วนได้ไม่ยากหากมีคนลักษณะนี้อยู่เป็นจำนวนมาก (ประเทศไทยมีหนี้ครัวเรือนรวมกันทั้งประเทศมีขนาดใกล้เคียง GDP หรือรายได้ของคนทั้งประเทศในปีหนึ่ง)          

                     หนี้บุคคลเกิดจากพฤติกรรมส่วนตัวที่ “อยู่กินเกินฐานะ”  กล่าวคือไม่ใช้จ่ายเงินในระดับใกล้เคียงกับรายได้ของตนเอง     ปล่อยให้อิทธิพลของการโฆษณา     การเลียนแบบเพื่อน    ความต้องการมี     ความปรารถนา “สุขสมอย่างทันด่วน”    ฯลฯ    เข้าครอบงำ จนรายได้ที่มีไม่น้อย(คนไทยเฉลี่ยมีรายได้ประมาณ 20,833 บาทต่อเดือน)  นั้นไม่เกิดประโยชน์แก่ตนเองและครอบครัวอย่างแท้จริง   หากกลับกลายเป็นสะพานไปสู่หนี้และความยุ่งยากของชีวิตที่ตามมาจนหาความสุขใจไม่ได้ 

                        ผู้เขียนขอออกตัวว่าเขียนบทความนี้ด้วยความปรารถนาดี หลังจากที่ได้รับทราบและสังเกตเห็นปัญหาการเงินที่เกิดกับคนชั้นกลางเหล่านี้ที่โชคดีกว่าคนมากมายในประเทศ    หัวใจสำคัญของการแก้ไขปัญหาคือการไตร่ตรองทบทวนและมุ่งมั่นแก้ไขพฤติกรรม     ไม่มีใครช่วยได้นอกจากตนเอง       ถ้าต้องการให้วันพรุ่งนี้แตกต่างไปจากที่เคยเป็น   ก็ต้องทำวันนี้ให้แตกต่างไปจากที่เคยทำมา.