การพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางดิจิตัล

การพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางดิจิตัล

ปี 2562 มีการตรา พ.ร.บ.ว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (ฉบับที่4 ) กำหนดให้บุคคลสามารถพิสูจน์และยืนยันตัวตนผ่านระบบการพิสูจน์ฯ ทางดิจิตัลได้

 การทำธุรกรรมภาครัฐหรือการทำธุรกรรมทางการเงินบางประเภทต้องมีการพิสูจน์และยืนยันตัวบุคคลด้วย

                  1 การทำธุรกรรมที่ต้องมีการพิสูจน์ยืนยันตัวตนที่ต้องแสดงตน เช่น       

                     1.1การจดทะเบียนที่เกี่ยวกับห้างหุ้นส่วนบริษัทตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ซึ่งเป็นไปตามระเบียบสำนักงานทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทกลางว่าด้วยการจดทะเบียนห้างหุ้นส่วนบริษัท ฉบับที่ใช้บังคับในปัจจุบันคือ ฉบับปีพ.ศ.2561

                     การลงลายมือชื่อในคำขอจดทะเบียนและเอกสารประกอบได้กำหนดไว้ ในส่วนที่13 ที่ระบุว่าผู้เป็นหุ้นส่วน ผู้เริ่มก่อการ กรรมการ หรือผู้ชำระบัญชี ต้องลงลายมือชื่อด้วยตนเอง ต่อหน้านายทะเบียนและต้องแสดงบัตรประจำตัวต่อนายทะเบียนและให้นายทะเบียนตรวจสอบ 

                      หากไม่ได้ลงชื่อต่อหน้านายทะเบียน ก็อาจลงชื่อต่อหน้าพนักงานฝ่ายปกครอง ตำรวจผู้ใหญ่ซึ่งประจำอยู่ในท้องที่ที่ผู้ขอจดทะเบียนมีภูมิลำเนาอยู่ หรือลงลายมือชื่อต่อหน้าสามัญสมาชิกหรือสมาชิกวิสามัญแห่ง เนติบัณฑิตยสภาผู้สอบบัญชีรับอนุญาตตามกฎหมายว่าด้วยสภาวิชาชีพบัญชี หรือบุคคลอื่นตามที่นายทะเบียนประกาศกำหนดก็ได้

                      ถ้าผู้ขอจดทะเบียนอยู่ในต่างประเทศ ผู้ขอจดทะเบียนต้องลงลายมือชื่อต่อหน้า เจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจของสถานฑูตไทยหรือสถานกงสุลไทยหรือหัวหน้าสำนักงานสังกัดกระทรวงพาณิชย์ซึ่งรับผิดชอบการดำเนินการ ณ ประเทศนั้น หรือเจ้าหน้าที่ผู้ได้รับมอบหมาย หรือบุคคลที่สามารถให้การรับรองที่สมบูรณ์ตามแบบกฎหมายแห่งประเทศนั้น หรือบุคคลที่ควรเชื่อถือได้สองคนมาลงลายมือชื่อรับรองต่อหน้านายทะเบียนว่าเป็นลายมือชื่อผู้นั้นจริง

                   (หมายเหตุ เหตุที่กำหนดให้ต้องลงลายมือชื่อต่อหน้านายทะเบียน หรือบุคคลที่กำหนด ก็เพื่อการพิสูจน์ตัวตนว่าเป็นผู้จดทะเบียนจริง เพราะการจดทะเบียนห้างหุ้นส่วนหรือบริษัท บางกรณีอาจมีภาระหน้าที่และความรับผิดที่ผู้จดทะเบียน ต้องรับผิดชอบเกิดขึ้นด้วย ดังนั้นเพื่อป้องกันไม่ให้มีการปฏิเสธความรับผิดได้ว่าผู้ที่จดทะเบียนไม่ใช่ตน )

  1. 2 การให้ลูกค้าของสถาบันทางการเงินและผู้ประกอบอาชีพตามมาตรา16แสดงตน ตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน  สาระสำคัญโดยสรุปคือตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 มาตรา20ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน(ฉบับที่3) พ.ศ.2552 กำหนดให้สถาบันการเงินและผู้ประกอบอาชีพตามมาตรา16 จัดให้ลูกค้าแสดงตนทุกครั้งก่อนทำธุรกรรม เว้นแต่ลูกค้าได้แสดงตนไว้ก่อนแล้ว

ทั้งนี้ธุรกรรมที่สถาบันการเงินและผู้ประกอบอาชีพตามมาตรา16ต้องจัดให้ลูกค้าแสดงตน เป็นไปตามที่กำหนดในกฎกระทรวง กำหนดธุรกรรมที่สถาบันการเงินและผู้ประกอบอาชีพตามาตรา16 ต้องจัดให้ลูกค้าแสดงตนพ.ศ.2559 ส่วนวิธีการแสดงตนเป็นไปตามประกาศสำนักนายกรัฐมนตรีเรื่องวิธีการแสดงตนของลูกค้าสถาบันการเงินและผู้ประกอบอาชีพตามมาตรา16 ลงวันที่11 กรกฎาคมพ.ศ. 2556

                      2 การพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางดิจิตัล

                           ในปีพ.ศ.2562 ได้มีการตราพระราชบัญญัติว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (ฉบับที่4 ) พ.ศ.2562 แก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 2544 เพื่อกำหนดให้บุคคลสามารถพิสูจน์และยืนยันตัวตนผ่านระบบการพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางดิจิตัลได้ เพื่อลดภาระต่อผู้ใช้บริการและผู้ให้บริการในการทำธุรกรรมในระบบเศรษฐกิจที่ต้องมีการแสดงตัวตน   โดยการเพิ่มหมวด3/1 ระบบการพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางดิจิตัล มาตรา34/3ถึงมาตรา34/4

                            บทบัญญัติในมาตรา34/3 เพิ่มช่องทางให้การพิสูจน์และยืนยันตัวตน สามารถกระทำผ่านระบบการพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางดิจิตัลได้  การพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางดิจิตัล เมื่อพิจารณาจากคำนิยามของคำว่า"การพิสูจน์และยืนยันตัวตน" และ"ระบบการพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางดิจิตัล" สรุปได้ว่าคือ กระบวนการพิสูจน์และยืนยันความถูกต้องของตัวบุคคลผ่านระบบเครือข่ายทางอิเล็กทรอนิกส์ที่เชื่อมโยงข้อมูลระหว่างบุคคลใดฯหรือหน่วยงานของรัฐ    ทั้งนี้ต้องมีการแจ้งเงื่อนไขเกี่ยวกับความน่าเชื่อถือของการพิสูจน์ยืนยันล่วงหน้า โดยเงื่อนไขเกี่ยวกับความน่าเชื่อถือต้องมีมาตรฐานไม่ต่ำกว่าที่คณะกรรมการกำหนด

                     ต่อมาหน่วยงานที่รับผิดชอบเกี่ยวกับธุรกรรมที่ต้องมีการแสดงตนได้แก้ไขปรับปรุงกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องให้สามารถพิสูจน์ และยืนยันตัวตนทางดิจิตัลได้เช่น

                     2.1 สำนักนายกรัฐมนตรีได้ออกประกาศ เรื่องวิธีกาแสดงตนของลูกค้าสถาบันการเงินและผู้ประกอบอาชีพตามมาตรา16  ลงวันที่9กรกฎาคม พ.ศ.2562ใช้แทนฉบับลงวันที่11กรกฎาคม พ.ศ.2556 ซึ่งตามข้อ10ได้กำหนดให้บรรดาข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ที่เกี่ยวกับการแสดงตนตามประกาศนี้ที่สถาบันการเงินหรือผู้ประกอบอาชีพตามมาตรา16ได้มาจากลูกค้าหรือแหล่งข้อมูลที่น่าเชื่อถือ ให้ถือว่าเป็นข้อมูลหรือหลักฐานเกี่ยวกับการแสดงตนตามประกาศนี้ โดยสถาบันการเงินหรือผู้ประกอบอาขีพตามมาตรา16 ไม่ต้องจัดให้ลูกค้าแสดงตนอีก

                       2.2สำนักงานทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทกลางได้แก้ไขปรับปรุงระเบียบว่าด้วยการจดทะเบียนห้างหุ้นส่วนและบริษัทผ่านระบบจดทะเบียนนิติบุคคลทางอิเล็กทรอนิกส์(e-Registration) ออกใช้บังคับ ฉบับที่เป็นปัจจุบัน คือระเบียบการจดทะเบียนห้างหุ้นส่วนและบริษัทผ่านระบบจดทะเบียนทางนิติบุคคลทางอิเล็กทรอนิกส์(e-Registration) พ.ศ.2564 ซึ่งทำให้การจดทะเบียนนิติบุคคลทางออนไลน์ที่ยังไม่สามารถกระทำได้โดยสมบูรณ์ เพราะติดปัญหาอุปสรรคการลงชื่อของผู้ขอจดทะเบียนที่ต้องกระทำต่อหน้านายทะเบียนหรือบุคคลที่กำหนดหมดไป

                 2.3 ธนาคารแห่งประเทศไทย

                     2.3.1 ออกประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย เรื่องหลักเกณฑ์การรู้จักลูกค้า (Know Your Customer :KYC) สำหรับการเปิดบัญชีเงินฝากของสถาบันการเงิน ลงวันที่23 สิงหาคม 2562 มีผลใช้บังคับวันที่3 กันยายน 2562 สาระสำคัญคือ สถาบันการเงินสามารถให้บริการเปิดบัญชีเงินฝากได้ทั้งแบบพบเห็นลูกค้าต่อหน้า และไม่พบเห็นลูกค้าต่อหน้า  ในส่วนของการแสดงตนของลูกค้าให้สถาบันการเงินถือปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ของกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน   และสถาบันการเงินสามารถพิสูจน์ตัวตนของลูกค้าด้วยสถาบันการเงินเอง หรือพิสูจน์ด้วยระบบการพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางดิจิตัล ก็ได้ เช่นผ่าน National Digital ID Platform)

                       2.3.2  ออกประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย ที่สนข.1/2563 เรื่องหลัเกณฑ์การรู้จักลูกค้า (Know Your Customer :KYC)สำหรับการเปิดใช้บริการเงินอิเล็กทรอนิกส์ ลงวันที่ 13 มีนาคม 2563 มีผลใช้บังคับวันที่ 6 พฤษภาคม 2563ให้ผูประกอบธุรกิจสามารถตรวจสอบความถูกต้องความแท้จริงและความเป็นปัจจุบันของข้อมูลและหลักฐานแสดงตนของลูกค้า รวมทั้งพิสูจน์ว่าลูกค้าเป็นเจ้าของข้อมูลจริงผ่านระบบการพิสูจน์และยินยันตัวตนทางดิจิตัลแทนการพิสูจน์ตัวตนลูกค้าได้.