สิ่งที่ 'กรรมการบริษัท' ควรรู้และทำหลังโควิด

สิ่งที่ 'กรรมการบริษัท' ควรรู้และทำหลังโควิด

อาทิตย์ที่แล้วผมได้รับเชิญเป็นวิทยากร ในงานสัมมนาของสถาบันกรรมการบริษัทมาเลเซีย (MACD) ปี 2021 เป็นการสัมมนาออนไลน์

งานสัมมนาดังกล่าวมีวิทยากรเข้าร่วมจากหลายประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกา แคนาดา อังกฤษ นิวซีแลนด์ แอฟริกาใต้ สวิตเซอร์แลนด์ นอร์เวย์ มาเลเซีย สิงคโปร์ ไทยและฟิลิปปินส์  สัมมนาในหัวข้อ “ธรรมาภิบาล 4.0 : แปรรูปธุรกิจ แปรรูปบอร์ด” (Transforming Business, Transforming Boards) โดยผมให้ความเห็นในหัวข้อ ธรรมาภิบาล ความเสี่ยงและการปฏิบัติตาม (Compliance) เป็นงานสัมมนาที่น่าสนใจมาก และต้องแสดงความยินดีกับผู้จัด  วันนี้จึงขอแชร์สิ่งที่ได้เรียนรู้และความเห็นที่ผมได้ให้ไปให้แฟนคอลัมน์ “เศรษฐศาสตร์บัณฑิต” ทราบ

 เจน ดิปลอค์ (Jane Diplock) อดีตประธานองค์กรคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์นานาชาติ (IOSCO) เปิดประเด็นในหัวข้อที่ผมร่วมให้ความเห็นอย่างน่าสนใจว่า หลังโควิดจะมีการปฏิวัติใหญ่สองอย่างในเศรษฐกิจโลก หนึ่ง  ภาวะโลกร้อนที่ประชาคมโลกจะต้องร่วมมือกันเอาชนะ สอง ดิจิทัลเทคโนโลยีที่ธุรกิจต้องปรับตัวแปรรูปด้วยเทคโนโลยีเพื่อการเติบโตที่ยั่งยืน สองเรื่องนี้เป็นโจทย์สำคัญต่อบริษัทธุรกิจทั่วโลก

 ใครที่ตามเรื่องภาวะโลกร้อน คงทราบดีว่า โลกกำลังเดินเข้าใกล้ขีดเส้นตายของภาวะโลกร้อนคือ 1.5 องศาเซลเซียส หมายถึงอุณหภูมิโลกสูงขึ้นจากระดับก่อนการพัฒนาอุตสาหกรรมเกิน 1.5 องศา ซึ่งจะถึงเร็วกว่าที่คาดคือ ในเวลาไม่ถึง 20 ปีข้างหน้า และภาษาที่ใช้โดยผู้ทรงคุณวุฒิที่กล่าวเตือนเรื่องนี้ได้เปลี่ยนจาก “อาจเกิดขึ้น” เป็น “เตรียมตัวรับผลกระทบ” ทำให้ประชาคมโลกโดยเฉพาะภาคธุรกิจต้องปรับตัวและร่วมแก้ไขปัญหาอย่างจริงจัง โดยเปลี่ยนเศรษฐกิจจากปัจจุบันที่ใช้น้ำมันและเชื้อเพลิงฟอสซิลมากไปสู่เศรษฐกิจที่ใช้คาร์บอนต่ำ ต้องเร่งทำในทุกประเทศ เพราะภาวะโลกร้อนเป็นมหันตภัยต่อมนุษยชาติเหมือนโควิด เพียงแต่คราวนี้จะไม่มีใครสามารถหลบหรือเอาตัวรอดได้เพราะเป็นการล่มสลายของระบบนิเวศคือธรรมชาติ

 สำหรับดิจิทัลเทคโนโลยีคือ การปฏิวัติที่เปลี่ยนรูปแบบความเป็นอยู่ของคนทั่วโลกในทุกเรื่อง ไม่ว่าจะเป็น การทำธุรกิจ พฤติกรรมการบริโภค การทำงานของตลาด การแข่งขัน การติดต่อสื่อสาร การระดมเงินทุน การมีงานทำ และโอกาสในการเข้าถึงของประชาชนไม่ว่าจะเรื่อง การศึกษา สาธารณสุข บริการทางการเงินและบริการของภาครัฐ คือ ทั่วโลกกำลังเปลี่ยนไปสู่โลกที่คนจะติดต่อและอยู่ร่วมกันผ่านเทคโนโลยี ซึ่งเป็นทั้งโอกาสและความเสี่ยง ใครที่ปรับตัวได้ก็จะได้ประโยชน์ ใครที่ปรับตัวไม่ได้ก็จะถูกทิ้งไว้ข้างหลัง ที่สำคัญเทคโนโลยียิ่งวันยิ่งเปลี่ยนเร็ว  ทำให้ช่องว่างระหว่างคนที่ตามทันกับคนที่ตามไม่ทันยิ่งวันจะยิ่งห่าง กลายเป็นคนที่ถูกลืม ซึ่งสำหรับบริษัทธุรกิจก็เช่นกัน รวมถึงประเทศด้วยถ้าปรับตัวไม่ทัน

ด้วยเหตุนี้ กรรมการบริษัทหลังโควิดจึงมีความรับผิดชอบมาก เพราะโลกจะไม่กลับไปเหมือนเดิม  หน้าที่กรรมการจะไม่ใช่เข้าประชุมตามวาระที่ฝ่ายจัดการเสนอเหมือนแต่ก่อน แต่ต้องร่วมคิดและทรานส์ฟอร์มหรือแปรรูปบริษัท เพื่อให้บริษัทสามารถอยู่ได้ในโลกใหม่ที่ขับเคลื่อนด้วยดิจิทัลเทคโนโลยี เติบโตได้อย่างยั่งยืน และมีความพร้อมกับปัญหาโลกร้อนรวมถึงมีส่วนร่วมในการแก้ปัญหา เป็นหน้าที่สำคัญของกรรมการที่หลีกเลี่ยงไม่ได้เพราะคณะกรรมการเป็นจุดสูงสุดขององค์กร

ในรายละเอียด ผมคิดว่ามีอย่างน้อยสามประเด็นที่กรรมการบริษัทต้องเตรียมตัวรับมือกับการเปลี่ยนแปลง

หนึ่ง ต้องสร้างยุทธศาสตร์ (Strategies) ที่จะทรานส์ฟอร์มบริษัททั้งในแง่เทคโนโลยี โมเดลธุรกิจ สิ่งแวดล้อม สังคม ธรรมาภิบาลและภาวะโลกร้อน เพื่อให้บริษัทสามารถแปรรูปได้อย่างเป็นขั้นเป็นตอน ไม่ให้กระทบธุรกิจของบริษัทรุนแรงเกินไป พร้อมสื่อสารให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียของบริษัททราบ เพราะการแปรรูปของบริษัทจะส่งผลกระทบในวงกว้าง เช่น ปรับใช้พลังงานจากน้ำมันและเชื้อเพลิงฟอสซิลไปสู่พลังงานทางเลือก เป็นต้น

สอง ต้องให้ความสำคัญกับการแก้ปัญหาโลกร้อน เพื่อให้บริษัทเป็นที่ไว้วางใจของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย เพราะเป็นการปรับตัวที่ธุรกิจทั่วโลกต้องทำและเป็นสิ่งที่นักลงทุนต้องการเห็น การปรับตัวจะเริ่มจากการเปิดเผยและรายงานข้อมูลบริษัทที่เกี่ยวกับภาวะโลกร้อนและความยั่งยืน คือ Climate and Sustainability Disclosures โดยเปิดเผยสิ่งที่บริษัททำและไม่ได้ทำในการเปลี่ยนไปสู่บริษัทที่ใช้คาร์บอนต่ำ ซึ่งล่าสุดเกณฑ์การเปิดเผยข้อมูลลักษณะนี้มีออกมาแล้วอย่างเป็นทางการโดยคณะทำงานเปิดเผยข้อมูลทางการเงิน (TCFD) ของสภาเสถียรภาพทางการเงิน (Financial Stability Board) เห็นชอบโดยที่ประชุมรัฐมนตรีคลังและผู้ว่าธนาคารกลางของกลุ่มประเทศ จี7 เมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา

เกณฑ์การเปิดเผยข้อมูลเสนอให้บริษัทต้องเปิดเผยข้อมูลที่เกี่ยวกับภาวะโลกร้อนในสี่เรื่องคือ ธรรมาภิบาล ยุทธศาสตร์ธุรกิจ การบริหารความเสี่ยง และการวัดผลเทียบกับเป้าต่างๆ ของบริษัท บริษัทจดทะเบียนในบ้านเราก็คงต้องเตรียมตัวในเรื่องนี้ หลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะเป็นแนวทางสากลที่ทุกฝ่ายให้ความสำคัญ  

สาม คุณสมบัติของกรรมการและองค์ประกอบของคณะกรรมการคงต้องรื้อใหม่ ต้องดูใหม่ เพื่อให้กรรมการบริษัทมีความรู้ ประสบการณ์และความสามารถที่เหมาะกับความท้าทายและยุทธศาสตร์ของบริษัทที่รออยู่ข้างหน้า ในเรื่องนี้ความหลากหลายจะเป็นมิติสำคัญที่นักลงทุนให้ความสำคัญ ไม่ใช่เฉพาะเรื่องเพศแต่หมายถึงความรู้สมัยใหม่ ประสบการณ์ เทคโนโลยีและอายุ ที่บริษัทอาจจำเป็นต้องมีคนรุ่นใหม่เข้ามาร่วมตัดสินใจในระดับนโยบายเพื่อให้ทันการเปลี่ยนแปลง

ผมให้ความเห็นเพิ่มเติมว่า จากผลกระทบของโควิดที่มีมากต่อชีวิตและเศรษฐกิจ การคาดหวังของคนส่วนใหญ่ในสังคมขณะนี้ คือ เราจะต้องไม่กลับไปสู่โลกเดิมก่อนโควิด แต่ต้องสร้างหรือเดินหน้าไปสู่โลกใหม่หลังโควิดที่ดีกว่าเดิม ที่มีสมรรถภาพและความสามารถที่จะแก้ปัญหาที่เป็นภัยต่อคนทั้งสังคมดีกว่าเดิม รวมทั้งแก้ไขความอ่อนแอเชิงโครงสร้างในสังคมที่โควิดชี้ให้เห็น เช่น ปัญหาความเหลื่อมล้ำ ความอ่อนแอของระบบช่วยเหลือสังคม (Social Safety Net) และความยากจน ทั้งหมดเพื่อให้ประเทศเริ่มต้นจากจุดที่เข้มแข็งขึ้นและมีความหวังที่จะเติบโตหลังโควิด

สำหรับภาคธุรกิจ หลังโควิดภาคธุรกิจต้องระดมทรัพยากรการเงินมากเพื่อสนับสนุนการเติบโต การแปรรูปธุรกิจและสร้างความเข้มแข็งให้สามารถตั้งรับกับผลกระทบจากภายนอกได้ดีขึ้น ทำให้ภาคธุรกิจจะต้องการสามสิ่งจากภาครัฐ

หนึ่ง ภาวะแวดล้อมในการทำธุรกิจที่ดี กฎระเบียบในการทำธุรกิจที่ชัดเจน เป็นธรรม และธรรมาภิบาลที่เข้มแข็งที่จะเอื้อให้กลไกตลาดและการแข่งขันสามารถสนับสนุนการเติบโตของภาคธุรกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพ

สอง ภาครัฐต้องปรับตัวทั้งในแง่การสะสางกฎระเบียบต่างๆ ที่ไม่จำเป็นและการใช้ดิจิทัลเทคโนโลยีโดยภาครัฐ เพื่อช่วยในการปรับตัวของภาคธุรกิจ ช่วยในการให้บริการแก่ประชาชนและในการทำนโยบายสาธารณะของภาครัฐให้มีประสิทธิผลกว่าปัจจุบัน

สาม รัฐต้องแก้ไขปัญหาเชิงโครงสร้างที่สังคมมีอย่างจริงจัง เช่น ความเหลื่อมล้ำ การทุจริตคอร์รัปชัน และสมรรถภาพและธรรมาภิบาลในภาครัฐ คือ ภาคราชการและการเมือง เพื่อให้คนในประเทศและเศรษฐกิจสามารถบรรลุศักยภาพที่มีอยู่ ไม่ให้ภาครัฐเป็นข้อจำกัดให้กับประเทศ

นี่คือประเด็นที่ให้ความเห็นไป.