ผู้นำ กับ ความปลอดภัย 4.0

ผู้นำ กับ ความปลอดภัย 4.0

กรณีโรงงานไฟไหม้และระเบิดอย่างรุนแรงที่สมุทรปราการ จนเป็นเหตุให้ต้องมีการอพยพผู้คนออกนอกบริเวณอันตรายนั้น คงให้ “บทเรียน" กับสังคมไทยไม่น้อย

ดังนั้น ถ้าเราจะต้องเลือกระหว่างค่านิยมหรือวัฒนธรรมแบบ วัวหายล้อมคอก และ ป้องกันไว้ก่อนแล้ว

เราจะไปทางไหนกันดี?” จึงเป็นคำถามที่มีความสำคัญยิ่งสำหรับองค์กรที่ต้องการความอยู่รอดและยั่งยืนต่อไป  เพราะเราต่างอยู่ในธุรกิจอุตสาหกรรมที่มีการแข่งขันอย่างรุนแรงภายใต้ภาวะความผันผวนของ VUCA World ในปัจจุบัน

เราจะไปทางไหนกันดีเป็นคำถามที่ชี้นำให้ผู้บริหารและพนักงานในทุกองค์กร จะต้องรู้ตัวอยู่เสมอว่า พวกเราควรจะทุ่มเทความพยายามไปทางไหน

ในการลด  “ความสูญเสียจากการเกิดอุบัติเหตุ  ด้วยการบริหารจัดการความปลอดภัยให้สัมฤทธิผล  จึงสำคัญมากขึ้นทุกที

เราจำเป็นต้องมี วิสัยทัศน์แห่งความปลอดภัย” (Safety Vision)  เพื่อผู้บริหารและนักบริหารความปลอดภัยจะได้รู้ว่า “ระบบบริหารจัดการความปลอดภัย ในอนาคตขององค์กรควรจะมีลักษณะ หรือรูปร่างหน้าตาเป็นอย่างไร

ทุกวันนี้เราจึงต้องเริ่มต้นจากการประเมินว่า มี ความเสี่ยง ใหม่ๆ อะไรเกิดขึ้นบ้าง และต้องรู้ว่ามีหลักการเบื้องต้น (Basic Principle) อะไรบ้างที่จะสนับสนุนและค้ำจุนระบบความปลอดภัยให้ยั่งยืนต่อไป ต้องรู้ว่าพวกเราจะต้องบริหารจัดการความปลอดภัยให้ได้มาตรฐานระดับใดบ้าง จึงจะได้ องค์กรแห่งความปลอดภัย” (Safety Organization)  คือองค์กรที่มีความปลอดภัยต่อการทำงานอย่างสมบูรณ์แบบ  ซึ่งสามารถลดการเกิดอุบัติเหตุ และลดความสูญเสียทั้งทรัพย์สินหรือชีวิตของผู้คนที่บาดเจ็บ พิการหรือล้มตายได้

นับแต่นี้ไป  ปัญหาด้านความปลอดภัยและการบริหารจัดการความปลอดภัยจะเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วมากขึ้น  เพราะเทคโนโลยีก้าวหน้าไปเร็วมากและปัญหาทางเศรษฐกิจที่มีการแข่งขันกันรุนแรงยิ่งขึ้น ดังนั้น   ปัญหาสำคัญในการบริหารจัดการความปลอดภัยก็คือ “ทัศนคติ หรือความเชื่อมั่นของเราในระบบความปลอดภัยที่เกี่ยวกับ  สาเหตุของการเกิดอุบัติเหตุ”  กับ  การป้องกันและควบคุมอุบัติเหตุซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เราต้องกำหนด วิสัยทัศน์แห่งความปลอดภัยในอนาคตทั้งใกล้และไกลให้ชัดเจนยิ่งขึ้น

วิสัยทัศน์แห่งความปลอดภัยคือ สภาพการทำงาน หรือ องค์กรที่ผู้บริหารความปลอดภัยอยากเห็นอยากได้อยากเป็น เป็นองค์กรที่เราต้องการที่จะไปให้ถึง (องค์กรแห่งความปลอดภัย)

วิสัยทัศน์ที่เราต้องการ  จึงหมายถึงองค์กรที่สามารถควบคุมและป้องกันอุบัติเหตุไม่ให้เกิดขึ้นอย่างได้ผล    องค์กรที่สามารถสร้างเสริมสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัยต่อการทำงานได้อย่างยั่งยืน องค์กรที่ฝ่ายบริหาร ฝ่ายพนักงานและทุกๆ คนตระหนักถึงความสำคัญของ “คุณภาพชีวิตที่เกี่ยวเนื่องกับความปลอดภัยในการทำงานและการดำรงชีวิต  เป็นองค์กรที่เกิดความร่วมแรงร่วมใจกันอย่างแท้จริงในการป้องกันอุบัติเหตุและสร้างเสริมความปลอดภัยให้เกิดขึ้น

การกำหนดวิสัยทัศน์ขององค์กร  จึงต้องเริ่มต้นจาก “สิ่งที่เรียนรู้จากประสบการณ์ ของเมื่อวานนี้ จนถึงวันนี้และต่อไปถึงวันพรุ่งนี้ (คือต้องการให้องค์กรปลอดอุบัติเหตุ และทุกคนในองค์กรมีคุณภาพชีวิตที่ดี)  ซึ่งต้องได้รับความร่วมมือจากทุกคนในการกำหนด วิสัยทัศน์ร่วม (Shared Vision) หรือ ค่านิยมร่วม(Shared Value) ด้วย  เพื่อจะได้เกิดการยอมรับทั่วทั้งองค์กรและนำไปสู่การปฏิบัติให้ได้ผลสำเร็จ

วิสัยทัศน์ที่ดี คือ วิสัยทัศน์ที่สามารถแสดงให้ทุกคนในองค์กร (โดยเฉพาะผู้ปฏิบัติงาน) ได้เห็นภาพของ สถานที่ทำงานที่มีความปลอดภัยต่อการทำงานอย่างชัดเจน  ซึ่งทำให้ทุกคนในองค์กรเกิดความเชื่อมั่นว่าจะมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นเรื่อยๆ เมื่อทำงานที่นี่

ดังนั้น  เราควรจะต้องกำจัดวัฒนธรรมประเภท “วัวหายล้อมคอกให้หมดไปจากสังคมไทย โดยแทนที่ด้วยจิตสำนึกแห่งวัฒนธรรมของการป้องกันไว้ก่อนและ วัฒนธรรมแห่งความปลอดภัยเป็นพื้นฐานต่อไป

ทุกวันนี้  ผู้นำมักจะเป็นผู้ที่ริเริ่มและสามารถสร้าง วัฒนธรรมองค์กรได้อย่างยั่งยืนเสมอ

ปัจจุบัน  จึงถึงเวลาที่พวกเราจะต้องให้ความสำคัญกับ “วัฒนธรรมแห่งความปลอดภัย(Safety Culture) ให้มากยิ่งขึ้น  ด้วยการปรับเปลี่ยนกระบวนทัศน์ของการบริหารจัดการ  การปรับเปลี่ยนยุทธศาสตร์  กลยุทธ์  การวางแผน  และวิธีคิดวิธีทำงานใหม่  เพื่อให้ อุบัติเหตุเป็นศูนย์(Zero Accident) เกิดขึ้นอย่างแท้จริง  พร้อมๆ กับการสร้างเสริมความปลอดภัยในที่ทำงานอย่างเป็นระบบครบวงจร  โดยให้สอดรับกับ “Industry 4.0” และ “Thailand 4.0” อย่างเหมาะสมและมีประสิทธิภาพสูงสุด

 “ความปลอดภัย 4.0” จึงเป็นยุคสมัยที่ต้องยึดเอาเรื่องของ ความปลอดภัย ผนวกเข้ากับ เทคโนโลยีและ นวัตกรรมอย่างเหมาะสมและกลมกลืนเป็นเนื้อเดียวกัน  เพื่อผลิตภาพขององค์กรและคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของพวกเราทุกคน ครับผม !