เราต้องใช้ 'สมุทรสาครโมเดล' ทั่วประเทศ

เราต้องใช้ 'สมุทรสาครโมเดล' ทั่วประเทศ

สถานการณ์ระบาดของโควิดยังไม่ดีขึ้น ยังมีนิวไฮบางวันทั้งตัวเลขผู้ติดเชื้อและตัวเลขผู้เสียชีวิต ขณะที่เศรษฐกิจก็ถดถอยต่อเนื่อง

สถานการณ์ดังกล่าวชี้ให้เห็นว่าในแง่นโยบาย การหาจุดร่วมหรือจุดเหมาะสมระหว่างการระบาดกับเศรษฐกิจเป็นเรื่องที่ยากเพราะต้นเหตุของวิกฤติคือโรคระบาด ตราบใดที่การระบาดยังมีอยู่ เศรษฐกิจก็จะถูกกระทบ แต่เมื่อสถานการณ์ประเทศมาถึงจุดนี้แล้ว สิ่งที่ควรทำคือภาครัฐและเอกชนต้องร่วมกันคิดว่าจะปกป้องเศรษฐกิจให้เดินต่ออย่างไรโดยไม่ส่งผลให้การแพร่ระบาดในประเทศไปต่อไม่หยุด นอกเหนือจากการเร่งฉีดวัคซีนที่ทำอยู่

เรื่องนี้คำตอบหนึ่งที่น่าสนใจคือ "สมุทรสาครโมเดล" ที่พยายามปกป้องธุรกิจและการผลิตในระดับจังหวัดให้สามารถเดินต่อได้เพื่อประโยชน์ของเศรษฐกิจและการจ้างงาน ขณะเดียวกันก็พยายามควบคุมไม่ให้เกิดคลัสเตอร์การระบาดในโรงงานเพื่อไม่ให้มีการระบาดที่จะแพร่ไปสู่ประชาชนในวงกว้าง เป็นโมเดลที่น่าสนใจและควรขยายผลระดับประเทศ นี่คือประเด็นที่จะเขียนวันนี้

 ปัญหาสำคัญของการระบาดของโควิดขณะนี้มีสามเรื่อง

หนึ่ง การระบาดและการเสียชีวิตเพิ่มขึ้นรวดเร็วจนล้นประสิทธิภาพการให้บริการของภาครัฐในแง่สาธารณสุข

สอง การไม่หยุดการระบาดโดยมาตรการล็อกดาวน์แบบเข้ม ทำให้การระบาดยังมีอยู่โดยเฉพาะในคลัสเตอร์ เช่น โรงงาน แคมป์ก่อสร้างและตลาด จากที่ประชาชนต้องใช้ชีวิตร่วมกันเป็นจำนวนมากเพื่อหาเลี้ยงชีพ ทำให้การระบาดเร่งตัวได้ตลอดทั้งในช่วงทำงานและการกลับไปแพร่เชื้อที่บ้าน

สาม ผลกระทบต่อเศรษฐกิจขณะนี้มีไม่เท่ากันคือมีทั้งสาขาเศรษฐกิจที่ขยายตัวได้ดีแม้มีการระบาด เช่น อุตสาหกรรมส่งออก คือ สินค้าเกษตร อาหาร เครื่องใช้ไฟฟ้า สินค้าอิเล็กทรอนิกส์ และสาขาเศรษฐกิจที่หดตัว เช่น ท่องเที่ยวและบริการ ทำให้ภาคส่งออกขณะนี้เป็นเครื่องยนต์เดียวที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจ

จากข้อเท็จจริงนี้ คำถามคือ ทำอย่างไรที่จะปกป้องการผลิตในภาคส่งออกให้สามารถเดินหน้าและขยายตัวได้มากขึ้น เพื่อประโยชน์ของเศรษฐกิจ โดยไม่สร้างภาระหรือความเสี่ยงต่อการระบาดในประเทศ โดยเฉพาะเป็นต้นเหตุของคลัสเตอร์การระบาดใหม่ในโรงงานที่เกิดขึ้นเรื่อยๆ ทั้งในกรุงเทพฯและต่างจังหวัดอย่างเป็นข่าว

ในเรื่องนี้ สมุทรสาครโมเดลดูจะเป็นตัวอย่างที่ดีของความพยายามในระดับจังหวัดที่จะรักษาการผลิตหรือเศรษฐกิจของจังหวัดให้ไปต่อได้ ขณะเดียวกันก็ป้องกันไม่ให้โรงงานกลายเป็นคลัสเตอร์การระบาดที่จะกระทบประชาชนในวงกว้าง โมเดลนี้ทราบว่าถูกพัฒนาโดยความร่วมมือของจังหวัดคือ ผู้ว่าราชการจังหวัด คุณวีระศักดิ์ วิจิตร์แสงศรี ร่วมกับประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัด คุณอภิสิทธิ์ เตชะนิธิสวัสดิ์ และประธานหอการค้าจังหวัด คุณชาธิป ตั้งกุลไพศาล โดยทั้งสามฝ่ายมีข้อตกลงร่วมกันดังนี้

            (1) จังหวัดโดยผู้ว่าราชการจังหวัดออกคำสั่งให้โรงงานหรือสถานประกอบการที่มีแรงงานตั้งแต่ 50 คนขึ้นไป หรือมีกำลังเครื่องจักร 50 แรงม้าขึ้นไป ต้องจัดตั้งโรงพยาบาลสนามในโรงงาน เพื่อใช้แยกกักตัวและรักษาผู้ติดเชื้อโควิดในโรงงาน

            (2) โรงพยาบาลสนามในโรงงานต้องมีจำนวนเตียงไม่น้อยกว่า 10 เปอร์เซ็นต์ของพนักงานและต้องจัดตั้งให้แล้วเสร็จภายใน 7 วัน ถ้าทำไม่ได้ โรงงานจะถูกปิด

             (3) โรงงานรับผิดชอบค่าใช้จ่ายเอง คือ การจัดตั้งโรงพยาบาลสนามและค่ารักษาพยาบาล สนับสนุนโดยระบบสาธารณสุขของจังหวัด

 

ประโยชน์สำคัญของสมุทรสาครโมเดล คือ ปกป้องให้ภาคธุรกิจของจังหวัดสามารถเดินต่อได้และลดความเสี่ยงของการระบาดที่จะมีต่อคนในโรงงานและประชาชนในวงกว้าง โดยการตรวจและแยกผู้ติดเชื้อออกมารักษาในพื้นที่พิเศษในโรงงาน เพื่อไม่ให้เชื้อแพร่ไปสู่ส่วนอื่นๆ ของโรงงานและประชาชนภายนอก  ที่สำคัญการตรวจ กักตัวและรักษาผู้ติดเชื้อในโรงงานจะลดภาระไม่ให้ผู้ป่วยต้องไปแย่งเตียงแย่งทรัพยากรการแพทย์กับประชาชนภายนอก เป็นการแบ่งเบาภาระที่จะมีต่อสังคมไปด้วย สมุทรสาครโมเดลจึงเป็นรูปแบบหนึ่งของการพยายามหาจุดร่วมระหว่างการระบาดกับเศรษฐกิจ ที่เกิดจากการทำงานร่วมกันของภาครัฐและเอกชนและการเสียสละเพื่อประโยชน์ส่วนรวมของผู้ประกอบการ

ในระดับประเทศ เศรษฐกิจเราขณะนี้จำเป็นต้องพึ่งการส่งออกเป็นตัวขับเคลื่อนและหารายได้อย่างน้อยอีกปีครึ่ง เพราะกลไกขับเคลื่อนตัวอื่นๆ อ่อนแอหมด ทำให้จำเป็นที่ต้องรักษาความสามารถในการผลิตของภาคส่งออกเอาไว้ เพื่อให้การส่งออกสามารถขยายตัวได้มากกว่าที่เป็นอยู่และนำการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ  การปกป้องโรงงานที่ผลิตสินค้าส่งออกและโรงงานในห่วงโซ่การผลิตที่ป้อนชิ้นส่วนและวัตถุดิบให้โรงงานที่ผลิตสินค้าส่งออกให้ปลอดจากการระบาดของโควิดในโรงงานจึงจำเป็นมาก

ที่สำคัญ สมุทรสาครโมเดลเหมาะกับภาคส่งออกของเรา เพราะธุรกิจส่งออกมีจำนวนบริษัททั่วประเทศมากกว่า 30,000 บริษัท มีการจ้างงาน 3 ล้านคนโดยประมาณ เฉลี่ยบริษัทหนึ่งมีคนงานต่ำกว่าร้อยคน ซึ่งเป็นขนาดที่สามารถนำสมุทรสาครโมเดลมาใช้ได้อย่างคล่องตัว ซึ่งจะเสริมกับมาตรการบับเบิล แอนด์ ซิล ( Bubble and Seal) ของกรมควบคุมโรคที่เพิ่งประกาศไปที่ใช้สำหรับบริษัทขนาดใหญ่ที่โรงงานมีการจ้างงานมากกว่า 500 คน  การขยายสมุทรสาครโมเดลไปทั่วประเทศ โดยมาตรการระดับจังหวัด จะทำให้ทุกพื้นที่ในประเทศสามารถมีรายได้จากการผลิตเพื่อการส่งออก เป็นเรื่องที่ควรขยายผลและพิจารณาจริงจัง

มีข้อสังเกตว่า โมเดลลักษณะนี้ ภาคธุรกิจคือผู้ประกอบการอาจไม่ร่วมมือเพราะสร้างต้นทุนเพิ่มเติมให้กับการทำธุรกิจในแง่ตัวเงิน และบริษัทอาจมีวิธีอื่นที่จะควบคุมการระบาดในโรงงาน เช่น ฉีดวัคซีนให้พนักงานหรือให้พนักงานที่ติดเชื้อกักตัวอยู่บ้าน  การแก้ไขลักษณะนี้เป็นทางออกให้กับบริษัทแต่ไม่ใช่ทางออกให้กับประเทศ เพราะการฉีดยานั้นเป็นสิทธิที่ประชาชนต้องได้อยู่แล้วตามรัฐธรรมนูญ และการกักตัวที่บ้านก็อาจสร้างปัญหาและภาระให้กับคนที่บ้านและชุมชนให้เสี่ยงต่อการติดเชื้อ

จากประสบการณ์ผมในภาคเอกชน มั่นใจว่า บริษัทส่วนใหญ่พร้อมให้ความร่วมมือเพราะเป็นการให้ความสำคัญต่อผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ซึ่งเป็นหัวใจของการทำธุรกิจอย่างมีธรรมาภิบาล ซึ่งตั้งแต่ปีที่แล้วที่เกิดโควิด เราก็เห็นภาคเอกชนไทยมีบทบาทที่ดีหลายอย่างในการช่วยเหลือสังคม นอกเหนือจากการบริจาคเงิน ที่สำคัญค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นจากการจัดตั้งโรงพยาบาลสนามในโรงงานจะน้อยมากเทียบกับประโยชน์ที่บริษัทจะได้จากการดูแลความปลอดภัยและชีวิตของคนในบริษัท

ประโยชน์ที่การผลิตจะไปได้ต่อเนื่องโดยไม่มีดิสรัปชั่นจากโควิด ทำให้บริษัทจะมีรายได้และมีออเดอร์เข้ามาต่อเนื่อง ประโยชน์ที่จะมีต่อพนักงานและครอบครัว และที่สำคัญคือภาพลักษณ์ที่ดีของบริษัทในสายตาสังคมและชุมชนที่บริษัทยื่นมือให้ส่วนรวมในยามที่ประเทศและสังคมเดือดร้อน เป็นสิ่งที่หาซื้อไม่ได้ด้วยเงิน แต่ต้องมาจากการทำในสิ่งที่ถูกต้อง 

จึงอยากเห็นสมุทรสาครโมเดลมีการนำไปขยายผลทั่วประเทศ เพื่อฟื้นภาวะการผลิตของประเทศ และหยุดคลัสเตอร์การระบาดในโรงงานเพื่อรักษาชีวิตและเศรษฐกิจให้เดินหน้าได้ต่อไป.