รัฐและเราเรียนรู้ไปด้วยกันได้ จาก 'อาลัวพระเครื่อง'

รัฐและเราเรียนรู้ไปด้วยกันได้ จาก 'อาลัวพระเครื่อง'

อาลัวพระเครื่อง อีกหนึ่งกระแสที่เป็นประเด็นทางสังคม แม้วันนี้ประเด็นดังกล่าวจะเงียบไปแล้ว แต่ก็มี #หิมพานต์มาร์ชเมลโล่ และอื่นๆ ตามมา

บทความโดย สิรนันท์ เดชะคุปต์

อาลัวพระเครื่อง อีกหนึ่งกระแสที่เป็นประเด็นทางสังคม แม้วันนี้ประเด็นดังกล่าวจะเงียบไปแล้ว แต่ เราได้เห็นบทบาทของสำนักพระพุทธศาสนาที่มีการลงพื้นที่ตรวจสอบ เพื่อชี้แจงว่าการทำ ขนมอาลัวพระเครื่อง นั้นไม่เหมาะสม และขอความร่วมมือให้เลิกผลิต โดยที่สำนักพุทธฯ ไม่มีการห้ามอย่างเป็นทางการ เพราะไม่มีกฎหมายใดให้อำนาจไว้

เรื่องนี้มีการแสดงความเห็นที่หลากหลายในสังคมออนไลน์ ทั้งเห็นด้วยกับสำนักพุทธฯ และไม่เห็นด้วย เช่นเดียวกับหลายกรณีที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็นพระพุทธรูปอุลตร้าแมน หรือทศกัณฑ์หยอดขนมครก และเรื่องทั้งหมดลงเอยคล้ายกันคือฝ่ายที่ผลิตผลงานเป็นฝ่ายขอโทษและแก้ไขผลงาน

ในช่วงเวลาที่ไม่ห่างกันมากนัก ก็มีกระแส #หิมพานต์มาร์ชเมลโล่ หรือรูปปั้นสัตว์หิมพานต์ที่ทำหน้าที่เฝ้าวัดท้องถิ่นในภาคอีสานและภาคเหนือตอนล่าง รูปปั้นสัตว์เหล่านี้ได้ถูกสร้างขึ้นโดยศิลปินในชุมชน ทำให้มีการลดทอนรายละเอียดและความประณีตลง แต่มีความน่ารักในสายตาผู้พบเห็น จนทำให้มีการแชร์ภาพลงสื่อสังคมออนไลน์จำนวนมากและเกิดเป็น แฮชแท็กหิมพานต์มาร์ชเมลโล่ ทำให้มีศิลปินอิสระวาดภาพและปั้นตุ๊กตาออกจำหน่ายในรูปแบบของสินค้า โดยขออนุญาตจากเจ้าอาวาสและแบ่งรายได้บางส่วนให้กับวัด

กรณี “อาลัวพระเครื่อง กับ #หิมพานต์มาร์ชเมลโล่ อาจไม่สามารถนำมาเปรียบเทียบกันว่าควรทำเป็นสินค้าได้หรือไม่โดยตรง เนื่องจากสัตว์หิมพานต์ไม่ใช่สิ่งเคารพบูชาเหมือนพระเครื่อง แต่ทั้งสองกรณีต่างก็เป็นการนำวัฒนธรรมที่เกี่ยวกับศาสนามาผลิตเป็นสินค้าในฐานะงานสร้างสรรค์เช่นเดียวกัน ซึ่งสะท้อนวิธีการมองวัฒนธรรมและศาสนาในกรอบคิดที่แตกต่างหลากหลาย ทั้งในมุมผู้ประกอบการ หน่วยงานรัฐ พุทธศาสนิกชน และประชาชนทั่วไป

หากมองในมุมผู้ประกอบการหรือตลาด การผลิตสินค้ามาขายนั้นเป็นการใช้เสรีภาพทางศิลปะและเสรีภาพในการประกอบอาชีพ ประกอบกับบริบทของทุนนิยม บริโภคนิยม และเทคโนโลยีการสื่อสาร ทำให้การนำวัฒนธรรมมา ‘ขายนั้นเป็นการสร้างเศรษฐกิจวัฒนธรรมและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ซึ่งมีตัวอย่างที่เห็นได้ชัดในประเทศญี่ปุ่นและเกาหลี ที่มักนำเสนอวัฒนธรรมต่าง ๆ ผ่านภาพยนตร์ ละครชุด การ์ตูน สินค้า อาหาร ขนม และการท่องเที่ยว ดังนั้น หากมองในกรอบของตลาด เมื่อสินค้าที่ผลิตออกมาขายมีแล้วตลาดหรือผู้บริโภคมองว่า ไม่เหมาะสมตลาดจะเป็นผู้ตัดสิน โดยผู้บริโภคอาจไม่ซื้อและไม่สนับสนุนสินค้านั้น เมื่อขายไม่ได้ผู้ประกอบการก็จะต้องปรับเปลี่ยนหรือเลิกผลิตไปเอง

อย่างไรก็ตาม วัฒนธรรมและศาสนายังมีมุมที่เกี่ยวข้องกับอำนาจรัฐเสมอ โดยรัฐหรือหน่วยงานของรัฐสามารถ ‘เลือกที่จะมีนโยบายหรือมาตรการต่อบางวัฒนธรรมหรือบางศาสนาได้ เช่น การระบุให้มีการเผยแผ่หลักธรรมของพระพุทธศาสนาเถรวาทไว้ในรัฐธรรมนูญ การมีสำนักพระพุทธศาสนาเป็นหน่วยงานรัฐ โดยไม่มีหน่วยงานรัฐสำหรับศาสนาอื่น เป็นต้น

การเลือกวัฒนธรรมและศาสนาโดยรัฐนี้เอง ทำให้เกิด วัฒนธรรมหลัก ที่รัฐปกป้องคุ้มครองไม่ให้ประชาชนนำไปใช้ได้อย่างเสรีอย่างกรณีอาลัวพระเครื่อง และ วัฒนธรรมชายขอบที่รัฐปล่อยให้เป็นไปตามกลไกสังคมและตลาดอย่างกรณีหิมพานต์มาร์ชเมลโล่

ในมุมของประชาชนทั่วไป แต่ละคนย่อมมีความรู้สึกต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นแตกต่างกัน เนื่องจากประสบการณ์ที่ต่างกัน บางคนรู้สึกว่าการทำขนมรูปพระเครื่องนั้นทำได้เพราะต่างประเทศก็มีการทำขนมรูปพระพุทธรูปขาย แต่บางคนอาจรู้สึกไม่ดีเนื่องจากเคารพบูชาพระเครื่อง พระเครื่องมีคุณค่าในฐานะ ‘สิ่งศักดิ์สิทธิ์ ที่ผูกกับวัฒนธรรมและศาสนาซึ่งมีลักษณะเป็น ศูนย์กลางและต้องการความเคารพ โดยไม่นำไปใช้อย่าง ‘ไม่เหมาะสม’

ความแตกต่างเหล่านี้ย่อมเกิดขึ้นได้เป็นปกติ แต่ความแตกต่างจะนำไปสู่ความรุนแรงหรือไม่ ขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย และปัจจัยที่สำคัญประการหนึ่งที่จะป้องกันความรุนแรงก็คือการมีกระบวนการที่สร้างความอดกลั้น (tolerance) และการสร้างความตระหนักถึงความอ่อนไหวทางวัฒนธรรม (cultural sensitivity)

ปัจจุบัน ความอ่อนไหวทางวัฒนธรรมได้รับการตระหนักถึงในวงกว้าง มีบริษัทเอกชนรับจ้างให้คำปรึกษาเกี่ยวกับความอ่อนไหวทางวัฒนธรรมโดยเฉพาะ มีกระบวนการประเมินเนื้อหาอย่างเป็นระบบเพื่อให้คำแนะนำแก่ลูกค้าว่าเนื้อหาต่างๆที่อยู่ในสินค้าและบริการ มีความเสี่ยงที่จะกระทบความรู้สึกของคนอย่างไรบ้าง ซึ่งสินค้าและบริการนี้อาจเป็นได้ทั้งเพลง ภาพยนตร์ นิยาย บอร์ดเกม แม้ว่าเนื้อหานั้นจะเป็นการสร้างเรื่องราวใหม่ไม่ได้อ้างอิงมาจากความเป็นจริงเลยก็ตาม

ดังนั้น บทบาทของรัฐไทยในเรื่องวัฒนธรรมและศาสนา ควรมุ่งไปสู่การสร้างกระบวนการปรึกษาทางวัฒนธรรม (cultural consulting) เนื่องจากในปัจจุบัน สิ่งที่รัฐกำลังทำคือห้ามไม่ให้เกิดการพูดคุย (dialogue) ไม่ให้เกิดการสร้างสรรค์ (creation) ซึ่งนอกจากจะทำให้เสียโอกาสใหม่ๆ ทางเศรษฐกิจแล้ว ยังเป็นการกีดกันประชาชนโดยทั่วไปออกจากการมีส่วนร่วมทางวัฒนธรรมและศาสนาอีกด้วย

นอกจากกระบวนการปรึกษาทางวัฒนธรรมแล้ว รัฐยังอาจส่งเสริมและคุ้มครองการนำวัฒนธรรมมาใช้ ผ่านการเชื่อมโยงกับนโยบายด้านเศรษฐกิจและสังคมเพื่อมุ่งสู่เศรษฐกิจสร้างสรรค์ ได้แก่ ในด้านเศรษฐกิจ เช่น กฎหมายทรัพย์สินทางปัญญาที่มีเรื่องการอนุญาตนำไปใช้และการแบ่งปันผลประโยชน์ เพื่อสร้างรายได้และส่งเสริมการท่องเที่ยว เป็นต้น และในด้านสังคม เช่น การคุ้มครองศิลปินอิสระซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในเศรษฐกิจนอกระบบ การส่งเสริมสวัสดิการให้ประชาชนมีความมั่นคงในชีวิตและมีทรัพยากรในการพัฒนางานสร้างสรรค์ เป็นต้น

งานสร้างสรรค์ไม่สามารถเกิดขึ้นจากความว่างเปล่า ผู้สร้างสรรค์ผลิตงานขึ้นจากเนื้อหาทางวัฒนธรรมเสมอ การทดลองนำวัฒนธรรมมาใช้ในงานสร้างสรรค์ ไม่ว่าจะเป็นวัฒนธรรมที่เกี่ยวข้องกับศาสนาหรือไม่ หรือเป็นวัฒนธรรมที่คนมองว่าศักดิ์สิทธิ์หรือไม่นั้นเกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลา การที่รัฐเข้าไปแทรกแซงอาจจะหยุดได้แค่เพียงบางอย่าง แต่การสร้างกระบวนการเรียนรู้ร่วมกัน การกำหนดนโยบายด้านวัฒนธรรมที่มีความเชื่อมโยงกับนโยบายด้านเศรษฐกิจและสังคมมากขึ้น จะเป็นการสร้างการมีส่วนร่วมและส่งเสริมให้วัฒนธรรมและศาสนาเกิดการส่งต่องอกเงยขึ้นได้ต่อไป.