เปิดขุมทรัพย์ลงทุน...จากโลกที่ดีขึ้น

เปิดขุมทรัพย์ลงทุน...จากโลกที่ดีขึ้น

ปีที่แล้ว รัฐบาลทั่วโลกร่วมกันใช้เม็ดเงินจำนวนมากเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากโรคโควิด-19 ทั้งแจกเงินเข้ากระเป๋าประชาชน

ออกสวัสดิการช่วยเหลือคนตกงาน รวมไปถึงร่วมมือกับธนาคารพาณิชย์ปล่อยเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ จนตอนนี้นับได้ว่ากลุ่มประเทศพัฒนาแล้วรอดพ้นจากวิกฤตโควิด-19 เป็นที่เรียบร้อย เราจึงเริ่มเห็นการปรับเปลี่ยนมาตรการจากการเยียวยามาเป็นวางแผนทุ่มงบประมาณมหาศาลเพื่อพัฒนาศักยภาพการแข่งขันของประเทศในโลกอนาคตที่จะปลอดภัยและน่าอยู่มากขึ้น โดยมีตัวอย่างของนโยบายในแต่ละประเทศดังนี้

เริ่มจากพี่ใหญ่อย่างสหรัฐฯ ตั้งแต่ทนายโจ ไบเดนเข้ามาเป็นประธานาธิบดี ได้ออกร่างงบประมาณเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจแล้วหลายฉบับ เช่น

  1. แผนโครงสร้างพื้นฐาน ที่เน้นการลงทุนในสาธารณูปโภคซึ่งเก่าแก่เพราะขาดการปรับปรุงอย่างจริงจัง เช่น สะพาน ทางด่วน ถนน ไฟฟ้า การจัดการน้ำ และระบบโครงข่ายอินเตอร์เน็ต เป็นต้น โดยร่างงบประมาณนี้มีมูลค่ารวม 1.2 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ กระจายลงทุนเป็นเวลา 8 ปี มีเงินลงทุนก้อนแรกที่ 5.79 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
  2. แผนการลงทุนในนวัตกรรม มูลค่า 2.5 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ มุ่งเน้นไปที่การพัฒนานวัตกรรมและวิทยาศาสตร์ ทั้งด้านการผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ปัญญาประดิษฐ์ เทคโนโลยี 5G และ 6G รวมไปถึงการสำรวจอวกาศ
  3. แผนการลงทุนด้านสิ่งแวดล้อม นายโจ ไบเดน ได้นำสหรัฐฯ กลับเข้าร่วม Paris Agreement ตั้งแต่วันแรกที่เข้ารับตำแหน่ง สะท้อนถึงความตั้งใจอันแน่วแน่ในการแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อม โดยสหรัฐฯ ตั้งเป้าปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์สุทธิเท่ากับศูนย์ (Net Zero) ภายในปี 2050 และจะผลิตไฟฟ้าโดยไม่ปล่อยมลพิษภายในปี 2035 ซึ่งการจะบรรลุเป้าหมายได้นั้นต้องอาศัยเงินลงทุนก้อนใหญ่ในการพัฒนาทั้งนวัตกรรม โครงสร้างพื้นฐาน ให้ความรู้แก่แรงงาน โดยงบประมาณดังกล่าวอยู่ระหว่างการเจรจาในสภา

นอกจากนี้ เดือนที่แล้ว สหรัฐฯ ร่วมมือกับประเทศกลุ่ม G7 ริเริ่มโครงการ Build Back Better World ที่จะสร้างและปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานที่ได้มาตรฐานให้แก่ประเทศกำลังพัฒนาทั่วโลก ทั้งในละดินอเมริกา แอฟริกา ตลอดจนอินโดแปซิฟิก ซึ่งจะร่วมมือกับภาคเอกชนโฟกัสการลงทุน 4 ด้าน ได้แก่ สิ่งแวดล้อม สาธารณสุข เทคโนโลยี และความเท่าเทียมทางสังคม โดยโครงการนี้คาดว่าจะใช้เม็ดเงินถึง 40 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ !!

ถัดมาที่ประเทศกลุ่มยูโรโซน ที่มีเงินกองทุนฟื้นฟู (NextGenerationEU Recovery Plan) มูลค่า 1.8 ล้านล้านยูโร ซึ่งไม่ได้มีไว้เพียงเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากวิกฤตโควิด-19 เท่านั้น แต่งบประมาณถึง 1 ใน 3 จะมุ่งเน้นลงทุนตามข้อตกลง EU Green Deal โดยกระจายลงทุนในปี 2021-2027 ซึ่งมีเป้าหมายเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของชาวยูโรโซน ผ่านการพัฒนาระบบสาธาณสุข การบริหารจัดการน้ำและระบบนิเวศน์ ฟื้นฟูโครงสร้างพื้นฐาน ตลอดจนลงทุนในนวัตกรรมรักษ์โลก เพื่อบรรลุเป้าหมายการปล่อยคาร์บอนฯ สุทธิเป็นศูนย์ ภายในปี 2050 เช่นเดียวกับสหรัฐฯ

ข้ามมาที่อีกซีกโลก ยักษ์ใหญ่เบอร์สองอย่างจีน ได้ริเริ่มโครงการ Belt and Road Initiative ตั้งแต่ปี 2013 โดยเน้นพัฒนาเขตเศรษฐกิจและสร้างเส้นทางคมนาคมเพื่อเชื่อมโยง 80 ประเทศ ทั้งในเอเชีย ตะวันออกกลาง ยุโรป และแอฟริกา ครอบคลุมประชากรโลกราว 2 ใน 3 และคาดว่าจะใช้เงินลงทุนสูงถึง 1.2-1.3 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ นอกจากนี้ จีนก็มีนโยบายด้านสิ่งแวดล้อมเช่นเดียวกับชาติตะวันตก โดยในระยะหลัง จีนออกมาคุมเข้มธุรกิจที่ปล่อยมลพิษอย่างโรงงานเหล็กและถ่านหิน รวมทั้งสนับสนุนการลงทุนในธุรกิจรักษ์โลก เช่น ตั้งเป้ายอดขายรถยนต์ไฟฟ้าให้ได้สัดส่วน 50% ภายในปี 2035 และเพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานหมุนเวียนให้ได้ 25% ภายในปี 2030 เพื่อบรรลุเป้าหมายระยะยาวคือ การปล่อยคาร์บอนฯ สูงสุดภายในปี 2030 และจะปล่อยคาร์บอนฯ สุทธิเป็นศูนย์ในปี 2060

จากที่กล่าวมาข้างต้น สะท้อนถึงความร่วมมือของนานาประเทศในการทุ่มงบประมาณจำนวนมหาศาลในการสร้างโครงสร้างพื้นฐานที่มีประสิทธิภาพบนโลกที่จะน่าอยู่มากขึ้น และแน่นอนว่าจะมีหลายธุรกิจที่ได้รับประโยชน์จากนโยบายดังกล่าว ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจก่อสร้าง ผู้ให้บริการโครงสร้างพื้นฐาน โรงไฟฟ้าพลังงานทางเลือก ผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้าและชิ้นส่วนรถยนต์ ตลอดจน Solution provider ที่เสนอวิธีการแก้ปัญหามลพิษ

เมื่อทิศทางการขับเคลื่อนเศรษฐกิจโลกจะเปลี่ยนจากกลไกของมาตรการทางการเงิน เข้าสู่ยุคใหม่ของการทุ่มงบประมาณพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานแนวใหม่ จึงเปิดโอกาสให้นักลงทุนสร้างขุมทรัพย์ผ่านการลงทุนในกองทุนรวม ที่เน้นหุ้นเกี่ยวกับโครงสร้างพื้นฐาน รวมไปถึงหุ้นที่มีส่วนร่วมลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ที่นอกจากจะสามารถสร้างผลตอบแทนที่ดีแล้ว ยังเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างโลกที่ดีขึ้นอีกด้วย