สถานการณ์โควิดสามปีข้างหน้า

สถานการณ์โควิดสามปีข้างหน้า

สถานการณ์ระบาดของโควิด-19 ในประเทศดูไม่ดีขึ้นเลย และมีความเสี่ยงที่การระบาดอาจจะยิ่งรุนแรงจากเชื้อโควิดกลายพันธุ์ที่กำลังระบาดในต่างประเทศ

ประชาชนหวั่นกลัวว่า สถานการณ์จากนี้ไปจะเป็นอย่างไร ทางการจะควบคุมได้หรือไม่ และการระบาดจะหยุดเมื่อไหร่ เป็นคำถามที่ไม่มีใครให้คำตอบได้

 

ประเด็นที่ต้องเข้าใจคือ เรากำลังอยู่ในสถานการณ์โรคระบาดใหญ่ทั่วโลกหรือ  Pandemic เป็นเหตุการณ์ที่นานๆ จะเกิดขึ้นครั้ง ครั้งสุดท้ายคือไข้หวัดใหญ่สเปนที่ระบาดทั่วโลกช่วงปี 1918-20 และใช้เวลากว่าสองปีก่อนที่การระบาดจะสงบ คร่าชีวิตคนทั่วโลกระหว่าง 50-100 ล้านคน และถ้าเราศึกษาการระบาดใหญ่อื่นๆ ที่เกิดขึ้นก่อนปี 1918 จะเห็นว่าในทุกการระบาดใหญ่ ลักษณะของผลกระทบที่เกิดขึ้นทั้งต่อสังคมและเศรษฐกิจจะคล้ายกัน คือเป็นรูปแบบหรือ Pattern เดียวกัน เพราะเป็นผลจากพฤติกรรมของมนุษย์ที่มีต่อการระบาด และพฤติกรรมมนุษย์มักไม่เปลี่ยนแม้เวลาจะผ่านไปเป็นร้อยปี ทำให้จะมีทั้งข่าวดีและข่าวร้ายที่มากับการระบาดใหญ่ ข่าวร้ายคือการระบาดไม่จบเร็วแต่จะยืดเยื้อและใช้เวลา สร้างความเสียหายต่อชีวิตและเศรษฐกิจ ส่วนข่าวดีคือ ทุกการระบาดใหญ่จะจบและเมื่อจบแล้วสังคมก็จะมีการเปลี่ยนแปลงสำคัญเกิดขึ้นตามมาทั้งในแง่เศรษฐกิจและการเมือง นำประเทศไปสู่สิ่งที่ดีขึ้น นี่คือประเด็นที่จะเขียนวันนี้

 

หนังสือที่น่าอ่านเกี่ยวกับเรื่องนี้ว่าด้วยผลกระทบของการระบาดใหญ่ต่อความเป็นอยู่ของคน สังคมและเศรษฐกิจ คือหนังสือชื่อ “ลูกศรของอพอลโล” หรือ Apollo's Arrow: The Profound and Enduring Impact of Coronavirus on the Way We Live เขียนโดยศาสตราจารย์นิโคลัส คริสตาคิส (Nicholas Christakis) มหาวิทยาลัยเยล สหรัฐอเมริกา ผู้เขียนเป็นทั้งแพทย์และนักสังคมวิทยา ศึกษาการระบาดใหญ่ที่เกิดขึ้นในอดีตและวิเคราะห์รูปแบบของผลกระทบที่เกิดขึ้นต่อสังคมและเศรษฐกิจ

 

การศึกษาแบ่งช่วงเวลาการระบาดเป็นสามช่วง ช่วงแรก คือช่วงที่เกิดการระบาด ช่วงสอง คือช่วงกลางที่การระบาดลดลงและสังคมเริ่มปรับตัวเพื่อกลับไปสู่ความเป็นปกติ ช่วงสาม คือ ช่วงหลังการระบาด ที่การระบาดสงบและโลกเข้าสู่โลกใหม่ที่ดีขึ้นทั้งในแง่สังคมเศรษฐกิจและการเมือง  ในแต่ละช่วงพฤติกรรมของคนในสังคมจะเปลี่ยนไปตามสถานการณ์การระบาดอย่างน่าสนใจ

 

ช่วงแรกที่เกิดการระบาด ผลกระทบจะรุนแรงทั้งในเรื่องสาธารณสุขและเศรษฐกิจ การสูญเสียจะมากเพราะไม่มีวิธีแก้ไข ต้องพึ่งแนวทางดั้งเดิม คือ กักตัวลดการติดต่อเพื่อหยุดการระบาด ช่วงนี้เป็นช่วงที่การใช้อำนาจรัฐจะเพิ่มมากเพื่อแก้ไขปัญหาและประชาชนคาดหวังให้รัฐให้ข้อมูลที่ถูกต้องแก่ประชาชน ออกกฎเกณฑ์ที่จำเป็นต่อการอยู่ร่วมกันเพื่อลดการระบาด รักษาระบบสาธารณสุขให้ทำงานได้ต่อไป เยียวยาและพัฒนายาหรือวัคซีน เป็นการคาดหวังที่สังคมมีต่อรัฐในการทำหน้าที่

ขณะเดียวกันการระบาดก็เปิดให้เห็นปัญหาต่างๆ และจุดอ่อนที่เศรษฐกิจมี ไม่ว่าจะเป็นเรื่องความเหลื่อมล้ำ ความยากจน ความไม่เพียงพอของระบบประกันสังคม และสำหรับประชาชนที่ต้องกักตัวอยู่บ้านพฤตกรรมก็จะเปลี่ยน คิดถึงชีวิตตนเองและความสำคัญของครอบครัวมากขึ้น ลดการใช้จ่าย เก็บออม เข้าหาศาสนาและมองหาความหมายของชีวิต ขณะเดียวกันก็อึดอัดกับความเหลื่อมล้ำที่ทำให้ความไม่เป็นธรรมในสังคมมีให้เห็น เช่น การเข้าถึงการรักษาพยาบาล ไม่พอใจที่รัฐควบคุมการระบาดไม่ได้ คนเสียชีวิตมาก และจะปลดปล่อยสิ่งเหล่านี้ออกมาผ่านการแสดงออกหรือประท้วง ทำให้สังคมมีการแบ่งแยก

 

ศาสตราจารย์คริสตาคิสให้ความเห็นว่า ช่วงแรกของการระบาดจะจบเมื่อสังคมมีภูมิต้านทานหมู่มากพอที่จะชะลอพลังทางชีวภาพของไวรัสและลดการระบาด เขามองวัคซีนที่พัฒนาได้สำเร็จในการระบาดใหญ่รอบนี้ว่าเป็นความสำเร็จสำคัญของมนุษยชาติเทียบกับการระบาดใหญ่ในอดีตที่ไม่มีวัคซีน ทำให้เราขณะนี้กำลังอยู่ในช่วงปลายของช่วงการระบาดและประเทศอย่างสหรัฐอเมริกาก็จะมีภูมิคุ้มกันหมู่ภายในสิ้นปีนี้และเข้าสู่ช่วงที่สองถ้าฉีดวัคซีนได้ถึงร้อยละ 75 ของประชากร ดังนั้น วัคซีนจึงสำคัญมากต่อการลดการระบาดและปัญหาใหญ่ขณะนี้คือการผลิตและการกระจายวัคซีนไปทุกส่วนของโลกเพื่อฉีดให้ได้ร้อยละ 75 ของประชากรโลกเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันหมู่

 

ช่วงสอง คือ ช่วงที่การระบาดในประเทศลดลงจากผลของภูมิคุ้มกันหมู่ แต่การระบาดยังมีอยู่ ทำให้มาตรการป้องกันต่างๆ เริ่มผ่อนคลายได้อย่างค่อยเป็นค่อยไป เพื่อให้ประชาชนกลับมาใช้ชีวิตอย่างปกติ ช่วงนี้ความไม่แน่นอนยังมีมากแต่ประชาชนและเศรษฐกิจก็จะปรับตัวเข้าสู่ความเป็นปกติ ซึ่งสำหรับประชาชนสำคัญสุดคือการหารายได้ การมีงานทำและการศึกษาเล่าเรียนของนักเรียน นักศึกษาว่าจะชดเชยเวลาเรียนที่สูญเสียไปในช่วงการระบาดอย่างไร ภาคธุรกิจก็จะปรับตัวด้วยวิธีการทำงานใหม่ ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมมากขึ้น เพื่อเคลื่อนย้ายทรัพยากรและกำลังผลิตออกจากสาขาเศรษฐกิจที่ไปต่อไม่ได้ไปสู่สาขาเศรษฐกิจที่มีศักยภาพ เป็นการขับเคลื่อนของกลไกตลาดตามโอกาสที่เกิดขึ้น ขณะที่ประชาชนก็ต้องปรับตัวว่าจะอยู่ในโลกที่โควิดมีการระบาดต่ำอย่างไรอย่างปลอดภัย ซึ่งเรื่องนี้ต้องการแนวทางและคำแนะนำที่ชัดเจนจากภาครัฐ ซึ่งหลายประเทศขณะนี้ เช่น สิงคโปร์ก็เริ่มวางแนวทางในเรื่องนี้แล้ว

 

ศาสตราจารย์คริสตาคิส ประเมินว่า การเปลี่ยนผ่านของสังคมและเศรษฐกิจในช่วงสองที่เป็นช่วงการระบาดต่ำจะใช้เวลาประมาณสองปี และโลกจะเข้าสู่โลกใหม่หลังโควิดอย่างเต็มที่ในปี 2024 หรืออีกสามปีข้างหน้า

 

ช่วงสามคือ ช่วงที่โควิดหายไปจากโลกอย่างน้อยระยะหนึ่ง ทำให้การใช้ชีวิตกลับมาเป็นปกติ ไม่ต้องระมัดระวัง ผลคือกิจกรรมทางเศรษฐกิจจะพุ่งทะยาน เศรษฐกิจจะก้าวกระโดดจากความอึดอัดที่มีมานาน พฤติกรรมบุคคลก็จะเปลี่ยนตรงข้ามกับความระมัดระวังที่เคยมีในช่วงโควิด คนพร้อมที่จะผจญภัยและเสี่ยงมากขึ้น ใช้ชีวิตและสังคมกันเต็มที่ เป็นช่วงเวลาที่เศรษฐกิจโลกจะเติบโตมาก ความคิดและนวัตกรรมใหม่ๆ จะพรั่งพรู การเติบโตของเศรษฐกิจจะมาก โดยมีประชาชนและภาคธุรกิจเป็นตัวขับเคลื่อน

 

พร้อมกันนี้ ประชาชนก็ต้องการเห็นประเทศเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น  เป็นโลกที่ดีขึ้นหลังโควิดจะเกิดแรงผลักดันให้ประเทศเปลี่ยนแปลงโดยเฉพาะจากคนกลุ่มล่างที่ขาดโอกาสและต้องการให้มีการปฏิรูปเศรษฐกิจและการเมืองเพื่อแก้ไขปัญหา ไม่ว่าจะเป็นระบบการเมือง ระบบราชการ การศึกษา ระบบประกันสังคมและสุขภาพ และปัญหาความเหลื่อมล้ำ เป็นการปฏิรูปใหญ่ที่ทุกคนอยากให้เกิดขึ้นเพื่อไม่ให้ประเทศกลับไปสู่สถานการณ์แบบเดิม ซึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่า ในทางประวัติศาสตร์การเปลี่ยนแปลงสำคัญจะเกิดขึ้นเสมอ เช่น ในรัสเซียหรือฝรั่งเศส หลังประเทศประสบวิกฤติใหญ่ เช่น สงคราม หรือ โรคระบาด คราวนี้ก็คงเช่นกัน

 

นี่คือบริบทของความท้าทายที่รออยู่ข้างหน้า และปฏิเสธไม่ได้ว่าประเทศเราอยู่ในช่วงแรกของการระบาด และยังไม่ถึงปลายช่วงเพราะการฉีดวัคซีนล่าช้ามากจากการบริหารจัดการของภาครัฐ การเดินทางของเราจึงมีระยะทางที่ต้องไปอีกไกล ดังนั้น ทางเดียวที่สังคมไทยจะก้าวข้ามความท้าทายเหล่านี้ไปได้ คือ ความร่วมมือร่วมใจของคนในสังคมที่ต้องช่วยกันแก้ปัญหา มองสถานการณ์ระบาดด้วยจิตใจที่สุขุมและร่วมกันหาทางนำประเทศออกจากวิกฤติคราวนี้ด้วยสติและปัญญา.