ยิ่งกระจายอำนาจ ยิ่งกระจายทุจริต : ศึกษากรณี อบต.ราชาเทวะ

ยิ่งกระจายอำนาจ ยิ่งกระจายทุจริต : ศึกษากรณี อบต.ราชาเทวะ

หนึ่งในมายาคติที่มีต่อการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น ก็คือประเด็นการทุจริตคอร์รัปชันที่มักจะกล่าวว่ายิ่งกระกระจายอำนาจยิ่งกระจายการทุจริต

หนึ่งในมายาคติที่มีต่อการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น นอกเหนือจากประเด็นที่ว่า นักเลงครองเมือง/ ซื้อสิทธิขายเสียงเข้ามา /กระทบต่อความมั่นคง/เปลี่ยนจากอำมาตย์ใหญ่สู่อำมาตย์เล็ก/ประชาชนยังไม่พร้อม ฯลฯ ก็คือประเด็นการทุจริตคอร์รัปชันที่มักจะกล่าวว่ายิ่งกระกระจายอำนาจยิ่งกระจายการทุจริต กอปรกับกรณีเสาไฟขององค์กรปกครองท้องถิ่นต่างๆ ยิ่งมีการโหมกระพือประเด็นที่ว่านี้ ยิ่งเข้าทางผู้ที่ต้องการรวมศูนย์อำนาจ ผมจึงขอเปรียบเทียบเพื่อให้เข้าใจโดยง่าย ดังนี้

การรวมศูนย์อำนาจกับการทุจริตคอร์รัปชัน

1. การรวมศูนย์อำนาจไว้ที่ส่วนกลางทำให้กลไกของรัฐต่างๆ ทำงานโดยใช้อำนาจ ไม่ได้ใช้ความรู้และปัญญา

การใช้อำนาจสั่งการไปทั่วในสังคมที่ซับซ้อนและยากในปัจจุบัน นั้น นอกจากจะไม่ได้ผลแล้ว กลับทำให้เกิดสิ่งแทรกซ้อนมากขึ้น เพราะฉะนั้นถ้าเราไปดูกลไกของรัฐทั้งทางราชการและทางการเมืองจะเห็นว่ามีประสิทธิภาพน้อยที่จะแก้ปัญหาต่างๆ อาจจะเรียกว่าแก้ปัญหาอะไรไม่ได้เลย ไม่ว่าจะเป็นปัญหาความยากจน สิ่งแวดล้อม ฯลฯ

2.การรวมศูนย์อำนาจไว้ที่ส่วนกลางทำให้กลไกของรัฐจะมีการทุจริต คอร์รัปชั่นมาก เพราะห่างไกลการตรวจสอบหรือตรวจสอบได้ยาก

เป็นสัจธรรม เพราะถ้าอำนาจเข้มข้นที่ไหน คอร์รัปชั่นหรือการทุจริตก็จะมากที่นั่น - Power tends to corrupt, and absolute power corrupts absolutely ของ Lord Acton

3.การรวมศูนย์อำนาจไว้ที่ส่วนกลางทำให้เกิดการแย่งชิงอำนาจกันอย่างรุนแรง

ต้นเหตุความรุนแรงทางการเมืองก็เพราะการรวมศูนย์อำนาจ แต่ถ้าอำนาจกระจายไปสู่ชุมชนท้องถิ่นทั้งหมดอย่างทั่วถึง ก็ไม่มีใครอยากมาแย่งอำนาจอะไร การแย่งอำนาจก็น้อยลง

4.การรวมศูนย์อำนาจเอื้อต่อการเล่นพรรคเล่นพวก

เป็นธรรมดาที่คนที่มีอำนาจย่อมจะแต่งตั้งพวกพ้องที่ตนเองไว้ใจหรือมีผลประโยชน์ตอบแทนให้แก่ตัวเองไปดำรงตำแหน่งต่างๆ เป็นการทำลายระบบคุณธรรม(merit system)อย่างร้ายแรง เช่น การเล่นเส้นเล่นสาย เล่นรุ่น เล่นสถาบัน ซื้อขายตำแหน่ง ฯลฯ

การกระจายอำนาจกับการทุจริตคอร์รัปชัน

ในงบประมาณก้อนเดียวกันหรือเค้กก้อนเดียวกันที่รัฐไทยมีอยู่ เมื่อถูกจัดสรรหรือกระจายไปสู่ท้องถิ่นแล้วจะเห็นได้ว่า การตรวจสอบงบประมาณหรือโครงการขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นถูกทำได้กว้างขวางขึ้น เพราะมีหูตามากขึ้น(อย่างน้อยก็จากฝ่ายค้านหรือฝ่ายที่สอบตกใน 7,850 อปท. น่ะครับ)ตรวจสอบสอบได้ง่ายกว่าเพราะอยู่ใกล้ชิดกว่า งบประมาณรั่วไหลน้อยกว่างบประมาณที่ดำเนินการโดยราชการส่วนกลางหรือส่วนภูมิภาค แม้จะมีการร้องเรียนมากก็จริงเพราะหูตาหรือการตรวจสอบมีมาก แต่การถูกชี้มูลและเม็ดเงินที่ถูกชี้มูลว่ามีการทุจริตมีน้อยกว่าราชการส่วนกลางหรือส่วนภูมิภาคอย่างเทียบกันไม่ได้

จากรายงานผลการดำเนินงานของ ป.ป.ช. ปี 2550-2558 มูลค่าความเสียหายจากการทุจริต ที่ ป.ป.ช.ชี้มูลความผิดอาญาและร่ำรวยผิดปกติ ประเมินความเสียหายได้ทั้งสิ้น 525,117.28 ล้านบาท โดยแยกเป็นความเสียหาย คือ ส่วนราชการการ 403,764.83 ล้านบาท (76.89%) รัฐวิสาหกิจ 121,183.63 ล้านบาท (23.07%) ส่วนท้องถิ่น 168.82 ล้านบาท (0.04%)

จึงจะเห็นได้ว่าการที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีเรื่องร้องเรียนมากมิได้หมายความว่าเป็นเพราะมีการทำผิดกันมาก ความโปร่งใสจึงไม่ใช่วัดจากจำนวนเรื่องร้องเรียน แต่ต้องดูที่ระบบการตรวจสอบว่าทำได้ดีมากน้อยแค่ไหนเมื่อเปรียบเทียบกับส่วนราชการอื่นๆ

ส่วนกรณีของโครงการเสาไฟ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเสาไฟกินรีของ อบต.ราชาเทวะนั้น เมื่อปรากฏเป็นข่าวทั้งในประเทศและต่างประเทศ(อัลจาซีรา) มีการตรวจสอบและชี้แจงกันอย่างรวดเร็วมากผิดกับส่วนราชการอื่น ซึ่งแสดงให้เห็นว่ามีการตรวจสอบที่มีประสิทธิภาพนั่นเอง แต่ประเด็นที่ชี้แจงนั้น ในความเห็นของผมมีทั้งฟังขึ้นและฟังไม่ขึ้น

1.มีการทุจริตหรือไม่

เรื่องนี้สำหรับตัวผมเองคงให้ความเห็นไม่ได้ เพราะไม่มีข้อมูลหรือข้อเท็จจริงอยู่ในมือ แต่ขณะนี้หน่วยตรวจสอบกำลังทำหน้าที่อยู่ และเมื่อปรากฏเป็นข่าวตามสื่อมวลชนแล้ว ผลคงออกมาโดยเร็ววัน แต่ในความเห็นของผมจะมองไปในประเด็นของความเหมาะสมว่า มีความเหมาะสมแค่ไหน เพียงใด ที่จะต้องไปทำ จริงอยู่เป็นของของการใช้ดุลพินิจและความเห็นชอบจากสภา อบต.อีกทั้งต้องอยู่ในแผนฯ แต่ยังสงสัยว่าเป็นไปตามหลักการบริหารบ้านเมืองที่ดีหรือGood Governance หรือไม่ ประชาชนมีส่วนร่วมในโครงการมากน้อยแค่ไหน

2.มีความจำเป็นหรือไม่

จากคำชี้แจงของ นย.อบต.ราชาเทวะในหลายๆคราว บอกว่าเป็นหน้าที่ตามพรบ.อบต. ปี 37 ม.68(2)ว่าอาจทำกิจการ “ให้มีและบำรุงไฟฟ้าหรือแสงสว่างโดยวิธีอื่น” ซึ่งผมไม่โต้แย้งเรื่องนี้ แต่ในเรื่องความจำเป็นซึ่ง นย.อบต.ชี้แจงว่ากิจการอื่นที่จำเป็นนั้น อบต.ราชาเทวะได้ทำหมดแล้ว ซึ่งผมไม่เชื่อว่าเป็นจริง เพราะยังมีหน้าที่อย่างอื่นอีก เช่น การป้องกันน้ำท่วม ปัญหาสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะอย่างยิ่งปัญหาจากโรงงานอุสาหกรรมที่มีจำนวนมากในเขตพื้นที่

ยิ่งคำชี้แจงที่ว่า อบต.ราชาเทวะใช้งบประมาณของตนเอง เช่น เงินสะสมของตนที่เก็บไว้ ไม่ได้เกี่ยวข้องกับคนอื่นนั้น ผมคิดว่าไม่ใช่เหตุผลที่ถูกต้อง เพราะเงินรายได้ที่ อบต.ราชาเทวะได้รับมาไม่ว่าจะจัดเก็บเองหรือรัฐจัดสรรให้ ล้วนแล้วแต่มาจากภาษีอากรของประชาชนทั้งสิ้น คนไทยที่เสียภาษีจึงมีสิทธิในการตรวจสอบเช่นกัน

ผมเชื่อว่ากรณีปัญหาของ อบต.ราชาเทวะนี้ไม่ได้มีเฉพาะที่นี่ที่เดียวแน่นอน จึงเป็นเรื่องที่เราจะต้องพิจารณาว่าการกระจายอำนาจที่ครึ่งๆกลางๆในปัจจุบันทำให้ระบบการจัดสรรงบประมาณที่เป็นอยู่ในปัจจุบันมีความลักลั่น ทำให้บาง อปท.มีรายได้ล้นเหลือ แต่บางอปท.กลับขาดแคลนอย่างหนัก นั้น มีความเหมาะสมแล้วล่ะหรือ

ถึงเวลาที่เราจะต้องปฏิรูปหลักเกณฑ์และระบบการจัดสรรรายได้ให้แก่องค์กรปกครองท้องถิ่นได้แล้ว โดยไม่ติดกับดักมายาคติที่ว่ายิ่งกระจายอำนาจ ยิ่งกระจายการทุจริต ซึ่งพิสูจน์แล้วไม่จริง ดังเหตุผลที่ได้กล่าวมาแล้วว่าการที่ อปท.มีเรื่องร้องเรียนมากมิได้หมายความว่าเป็นเพราะมีการทำผิดกันมาก ความโปร่งใสจึงไม่ใช่วัดจากจำนวนเรื่องร้องเรียน แต่ต้องดูที่ระบบการตรวจสอบน่ะครับ