ความแปรปรวนในการตัดสินใจ

ความแปรปรวนในการตัดสินใจ

โควิด19 ทำให้เกิดเหตุการณ์หลายๆ ประการที่ไม่เคยพบเจอมาก่อน ผู้นำต้องตัดสินใจในเรื่องที่ใหม่และไม่มีกรอบหรือตัวอย่างในอดีตให้เทียบเคียง

              สิ่งที่พบคือหลายๆ ครั้งการตัดสินใจของผู้นำก็นำไปสู่การตั้งคำถามในใจของผู้เกี่ยวข้องว่าทำไมถึงตัดสินใจไปแบบนั้น? หรือ ทำไมการตัดสินใจถึงได้เปลี่ยนแปลงไปมา? จริงๆ แล้วไม่ใช่แค่การตัดสินใจของผู้นำเท่านั้นที่อาจจะมีปัญหาหรือความผิดพลาดเกิดขึ้น การตัดสินใจของทุกคนก็แฝงไปด้วยโอกาสที่จะมีความผิดพลาดทั้งสิ้น

 

        ความผิดพลาดในการตัดสินใจที่พบเห็นบ่อยคือ ความอคติหรือความลำเอียง เช่น เมื่อผู้บริหารตัดสินใจรับพนักงานใหม่เนื่องจากมาจากจังหวัดเดียวกัน หรือ การเลือกที่จะช่วยเหลือคนรู้จักเป็นพิเศษ อีกปัญหาคือ สิ่งที่เรียกกันว่า Noise หรือสิ่งรบกวน ในการตัดสินใจ

 

        ล่าสุด มีหนังสือที่ทำท่าจะเป็นหนังสือขายดีชื่อ Noise: a flaw in human judgement เขียนโดย Daniel Kahneman และทีม โดยคุณ Daniel มีชื่อเสียงมากในด้านของ Behavior Economics เคยได้รับรางวัลโนเบลสาขาเศรษฐศาสตร์ (จากวิจัยเกี่ยวกับความลำเอียงในการตัดสินใจ) และเขียนหนังสือที่ขายดีมากชื่อ Thinking Fast and Slow

 

        หนังสือเล่มนี้มองว่า Noise เป็นปัญหาใหญ่ต่อการตัดสินใจที่สำคัญ แต่ไม่ได้รับการศึกษากับเรื่องของความลำเอียง โดยได้อธิบายไว้ว่า Noise  จะนำไปสู่ความแปรปรวนในการตัดสินใจ ทำให้การตัดสินใจของคนๆ เดียวกันในช่วงแต่ละเวลาหรือสถานการณ์แตกต่างกัน ทั้งๆ ที่ข้อมูลที่ใช้ในการตัดสินใจเหมือนกัน เช่น คุณครูให้คะแนนการบ้านของลูกศิษย์สองคนที่ตอบมาเหมือนกันทุกอย่างแตกต่างกัน เนื่องจากตรวจคนละช่วงเวลา หรือ ผู้เชี่ยวชาญในศาสตร์เดียวกันเมื่อพิจารณาข้อมูลเดียวกัน กลับตัดสินใจไม่เหมือนกัน ซึ่งตัวอย่างในหนังสือคือกรณีของแพทย์ที่มีข้อมูลและผลแล็บของคนไข้ที่เหมือนกันแต่วินิจฉัยโรคออกมาแตกต่างกัน

 

        ความแตกต่างระหว่างความลำเอียง (Bias) กับ Noise สามารถเปรียบเทียบเหมือนกับการยิงเป้ากระดาษ ความลำเอียงนั้นเมื่อยิงสิบนัด ก็จะเอียงหรือเบ้ไปทางใดทางหนึ่งเหมือนกันทั้งสิบนัด แต่ Noise นั้น ทั้งสิบนัดจะกระจัดกระจายกันไปคนละทิศทางไม่เหมือนกันซักครั้ง

 

        การพบ Noise จะยากกว่าการพบความลำเอียง ความลำเอียงนั้นจะเห็นได้จากการตัดสินใจเพียงครั้งเดียว แต่ Noise นั้นจะพบได้เมื่อมีการตัดสินใจเกิดขึ้นหลายครั้ง และนำการตัดสินใจมาเทียบเคียงเพื่อหาความแปรปรวน

 

        Noise เกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น อารมณ์ สุขภาพ ความอ่อนล้า สภาพแวดล้อมภายนอก หรือเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นก่อนหน้า มีงานวิจัยที่สำรวจผู้ที่รับสมัครคนเข้าศึกษาต่อในมหาวิทยาลัยของอเมริกา (Admission Officer) และพบว่าพวกเขาจะให้ความสำคัญกับผลการเรียนของผู้สมัครมากในวันที่มีเมฆเยอะ ส่วนวันที่แดดจ้า ท้องฟ้าแจ่มใส น้ำหนักการตัดสินใจจะไปอยู่ที่กิจกรรมอื่นที่ไม่ใช่ผลการเรียน

 

        สำหรับวิธีการลด Noise ในการตัดสินใจนั้นก็มีหลายวิธี เช่น ลดการใช้วิจารณญาณส่วนบุคคลในการตัดสินใจ พยายามให้มีแนวปฏิบัติ หรือเช็คลิสต์ที่ช่วยในการตัดสินใจ เช่น เมื่อสัมภาษณ์รับพนักงานใหม่ก็ควรจะมีชุดคำถามไว้ให้พร้อมและถามตามนั้นด้วย งานวิจัยพบว่าเมื่อผู้สัมภาษณ์หลายๆ คนใช้ชุดคำถามเดียวกัน เรียงลำดับเหมือนกัน จะตกลงได้ข้อสรุปง่ายกว่าว่าจะจ้างใคร และคนที่ถูกจ้างจะมีผลงานที่ดีกว่าด้วย

 

        หรือ การใช้ Wisdom of the crowd นั้นคือแทนที่จะตัดสินใจเองคนเดียว (หรือไม่กี่คน) แต่เปิดให้คนจำนวนมากขึ้นได้เข้ามามีส่วนร่วม และให้ทุกคนได้แสดงความคิดเห็นโดยอิสระ ไม่ถูกชี้นำโดยบุคคลอื่น ก็จะทำให้ลดความแปรปรวนในการตัดสินใจได้

 

        หรือใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งการตัดสินใจที่ไม่ยุ่งยากและสามารถใช้ AI เข้ามาช่วย ก็จะสามารถลด Noise ที่เกิดขึ้นจากการตัดสินใจของคนได้

 

        ลองสังเกตตัวท่านหรือบุคคลรอบข้าง หรือ ผู้นำในระดับต่างๆ ดูนะครับว่าเวลาตัดสินใจนั้นมีความแปรปรวนที่เกิดขึ้นในการตัดสินใจเนื่องจาก Noise เพียงใด และถ้าเราตระหนักว่ามี Noise เกิดขึ้นแล้ว ก็จะได้หาทางลดความแปรปรวนที่เกิดขึ้น.