หนีไม่พ้น

หนีไม่พ้น

'หนีไม่พ้น' โดยปกติถ้าได้ยินคำๆ นี้มักทำให้นึกถึงความตาย หากแต่ปัจจุบันการมีลมหายใจก็เป็นอะไรที่ทำให้เราหนีไม่พ้นจากฝุ่นละอองขนาดเล็กเช่นกัน

บทความโดย  ดร.อาณดา พฤฒิอางกูร 

               การที่เราหายใจทำให้เรารับเอาฝุ่น PM2.5 หรือฝุ่นขนาดเล็กที่มีขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน  ซึ่งปนเปื้อนสารพิษชนิดต่างๆเข้าสู่ร่างกาย  ฝุ่นเหล่านี้เข้าสู่ร่างกายได้ง่ายเพราะร่างกายไม่มีกลไกในการกรองฝุ่นที่มีขนาดเล็กขนาดนี้  แต่ฝุ่นเหล่านี้ออกจากร่างกายได้ไม่ง่าย  เราหายใจเข้ารับเอาฝุ่นเข้าสู่ร่างกายของเราอย่างต่อเนื่องจาก ชั่วโมง เป็นวัน เป็นเดือน เป็นปี และเป็นหลายปี  ปริมาณและระยะเวลายาวนานในการสะสมย่อมทำให้ฝุ่นเหล่านี้ก่อผลเสียกับร่างกาย  ซึ่งอาจเป็นอันตรายต่อทั้งชีวิตและสุขภาพ

                ปัญหาฝุ่น PM2.5 ในประเทศไทยมีมานานมากกว่า 20 ปีจากการสำรวจของ GISTDA โดยอาศัยภาพถ่ายดาวเทียม  เพียงแต่ปัญหานี้ทวีความรุนแรงขึ้นในช่วงหลายปีที่ผ่านมาจนเป็นปัญหาที่มองเห็นได้ด้วยตาเปล่าและรับรู้ได้ด้วยความผิดปกติของสุขภาพในหลายๆด้านแต่ละคนแตกต่างกันไป  ปัญหาฝุ่น PM2.5 จึงเริ่มได้รับความสนใจมากขึ้นและได้รับการยอมรับว่าเป็นปัญหาที่มีอยู่จริง 

                องค์การอนามัยโลก (WHO -World Health Organization) ประมาณการว่ามีประชากร 7 ล้านคนในทุกปีที่เสียชีวิตจากฝุ่น PM2.5  ฝุ่นละอองขนาดเล็กนี้จะก่อให้เกิดโรคต่างได้มากมายไม่ว่าจะเป็น โรคหลอดเลือดสมอง โรคหัวใจ โรคมะเร็งปอด โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง โรคการติดเชื้อทางเดินหายใจและโรคปอดบวม เป็นต้น  ปัจจุบันจำนวนของผู้เสียชีวิตก่อนวัยอันควรเนื่องจากฝุ่น PM2.5 ในประเทศไทยนั้นยังคงต้องทำการศึกษาเพิ่มเติม  เนื่องจากสาเหตุในการเสียชีวิตของผู้ป่วยอาจถูกระบุเป็นสาเหตุสุดท้ายที่ก่อให้เกิดการเสียชีวิตมากกว่าเหตุจากฝุ่นสะสมที่ก่อให้เกิดโรคนั้นๆ  อย่างไรก็ตามการศึกษาจำนวนของผู้เสียชีวิตก่อนวัยอันควรเนื่องจากฝุ่น PM2.5 ในต่างประเทศสามารถนำมาอ้างอิงให้เกิดประโยชน์กับเราได้

วิทยาลัยไฮนซ์ด้านระบบสารสนเทศและนโยบายสาธารณะของมหาวิทยาลัยคาร์เนกีเมลลอน (Carnegie Mellon University's Heinz College of Information Systems and Public Policy)  ได้ทำการศึกษาและพบว่าจากปี 2559 ถึง2561 ค่าฝุ่น pm2.5 ในอเมริกาเพิ่มขึ้น 2% (หลังจากที่ลดลง 25% ในช่วง 2552-2559) และเพียง 2% ที่เพิ่มขึ้นนั้นทำให้มีผู้เสียชีวิตก่อนวัยอันควรในสองปีนั้นถึง 9,700 คน คิดเป็นมูลค่าความเสียหาย 89 ล้านดอลลาร์หรือประมาณ 2,800 ล้านบาท

จาก 2018 World Air Quality Report โดย IQAir AirVisual  ในปี 2561 ค่าเฉลี่ยความเข้มข้น PM 2.5 ของประเทศไทย 26.4 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร (µg /m³) ซึ่งเป็นค่าที่มากกว่าสองเท่าของสหรัฐอเมริกาคือ 9.1 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร

การที่ประเทศไทยมีมลพิษทางอากาศมากกว่าสหรัฐอเมริกามากนั้น  ผลกระทบของมลพิษต่อประชากรไทยและมูลค่าความเสียหายย่อมต้องมากกว่าของสหรัฐอเมริกามากด้วยเช่นกัน  ยิ่งถ้ามีการนำเอาความหนาแน่นของประชากรเข้ามาร่วมพิจารณาด้วยแล้วมูลค่าความเสียหายอาจจะยิ่งมากขึ้นไปอีก  เนื่องจากประเทศไทยมีความหนาแน่นของประชากรมากกว่าสหรัฐอเมริกา  กล่าวคือความหนาแน่นของประชากรในประเทศไทยคือ 137 คนต่อตารางกิโลเมตร  ในขณะที่ สหรัฐอเมริกาคือ 36 คนต่อตารางกิโลเมตร

จาก 2020 World Air Quality Report มลพิษทางอากาศในปีที่แล้วดีขึ้นจากปี 2561 เนื่องจากสถานการณ์โรคระบาด Covid-19 ที่มีผลทำให้กิจกรรมต่างๆลดน้อยลง  แต่อย่างไรก็ตามค่าเฉลี่ยความเข้มข้น PM 2.5 ของประเทศไทยยังคงมีค่ามากกว่าสองเท่าของสหรัฐอเมริกาอยู่เช่นเดิม  ถึงในปัจจุบันปัญหาจะเป็นที่ตระหนักและได้รับความสนใจแต่ก็ยังไม่ได้รับการแก้ปัญหาอย่างเพียงพอ  

กระแสลมยังเป็นสิ่งที่ทำให้มลพิษทางอากาศลดลงได้อย่างมีนัยสำคัญที่สุด  แต่เมื่อไม่มีลมฝุ่นก็กลับมาสะสมอีก  หรือเมื่อลมเปลี่ยนทิศพัดพาฝุ่นจากประเทศอื่นๆมา  ปัญหาฝุ่นก็จะทวีความรุนแรงขึ้น  เอเชียตะวันออกเฉียงใต้คือหนึ่งในภูมิภาคที่ประสบปัญหามลพิษทางอากาศสูงสุด  ปัญหาฝุ่น PM2.5 ในระดับภูมิภาคควรได้รับการบริหารจัดการไปพร้อมๆกันซึ่งอาจต้องอาศัยเวลาในการเจรจาสร้างความร่วมมือระหว่างกัน  แต่การควบคุมแก้ไขปัญหาภายในประเทศสามารถเริ่มดำเนินการได้ทันที 

ต้นเหตุของปัญหาฝุ่น PM2.5 ภายในประเทศมาจาก การเผาไหม้ ไม่ว่าจะเป็น ไฟป่า การเผาในพื้นที่การเกษตร การเผาไหม้ของเชื้อเพลิงทั้งจากเครื่องยนต์ในการขนส่งและจากเครื่องจักรในภาคอุตสาหกรรม มีเพียงการก่อสร้างที่ปัญหาฝุ่นมาจากทั้งการเผาไหม้ของเครื่องจักรและวัสดุที่ใช้ในการก่อสร้างร่วมด้วย  ประเทศไทยได้มีการพยายามแก้ปัญหาฝุ่น PM 2.5 ด้วยการทำฝนเทียม การฉีดน้ำ การทำความสะอาดถนน  การลดการจราจรของรถยนต์ขนาดใหญ่  และการระงับการก่อสร้างโครงการขนาดใหญ่ชั่วคราวในขณะที่มีการสะสมของฝุ่นหนาแน่น   ซึ่งวิธีการเหล่านี้ไม่ได้ผลมากนักเนื่องจากเป็นการแก้ปัญหาและพยายามดักจับฝุ่นหลังจากที่ฝุ่นมลพิษได้ฟุ้งกระจายออกไปทั่วแล้ว 

การแก้ปัญหามลพิษทางอากาศที่ฟุ้งกระจายทั่วไป  เป็นสิ่งที่ทำได้ยากทั้งมีค่าใช้จ่ายที่สูงยากที่จะก่อให้เกิดซึ่งประสิทธิภาพ  การแก้ไขปัญหาที่ต้นเหตุจึงเป็นแนวทางการแก้ปัญหาที่ได้ผลและคุ้มค่ากว่ามาก  เราควรจะหยุดที่จุดกำเนิดของการเผาไหม้ แก้ให้เกิดการเผาไหม้ที่สะอาด หรือกรองฝุ่นตั้งแต่ที่จุดกำเนิดก่อนที่จะมีการฟุ้งกระจายไปทั่ว  จึงจะเป็นการแก้ปัญหาที่ต้นเหตุ  

ถ้าเราทำอย่างนั้นได้หลายๆคนก็ไม่ต้องซื้อเครื่องฟอกอากาศ  ไม่ต้องทานยาแก้แพ้  ไม่ต้องไปพบแพทย์  และไม่ต้องเสียชีวิตก่อนวัยอันควร  มูลค่าของชีวิต ค่าใช้จ่ายในการรักษา ค่าใช้จ่ายในการพยายามแก้ไขและบรรเทาปัญหามลพิษ และผลกระทบทางเศรษฐกิจรวมกันเป็นมูลค่ามหาศาล  มากเกินพอที่ควรก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลง

หลายประเทศได้ให้ความสำคัญและเอาจริงเอาจังกับการแก้ปัญหามลพิษทางอากาศกันมากขึ้น  มีการนำมาตรการต่างๆออกมาใช้เพื่อแก้ไขปัญหา  ซึ่งนั่นรวมถึงประเทศจีนประเทศที่เคยประสบปัญหามลภาวะอย่างหนักมากด้วย  ประเทศจีนหลังจากที่มีการดำเนินการแก้ไขอย่างจริงจังก็เห็นผลดีขึ้นอย่างรวดเร็ว  สามารถลดปริมาณมลภาวะได้อย่างมีประสิทธิภาพภายในระยะเวลาไม่นาน 

ในเมื่ออย่างไรเราก็หนีไม่พ้นที่จะต้องหายใจ  อยากและควรอย่างยิ่งที่จะได้หายใจอากาศสะอาดบริสุทธิ์  ทำอย่างไรเราจะได้หายใจอากาศสะอาดในอีกปีสองปีข้างหน้า ทำยังไง... ทำอย่างไร....