“เกษตร”ลุยแผน แรงงานคืนถิ่นระยะ2

“เกษตร”ลุยแผน  แรงงานคืนถิ่นระยะ2

วิกฤติโควิด ที่เกิดขึ้น ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและทุกภาคส่วนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่ภาคเกษตร กลุ่มเกษตรกร พึ่งพาตัวเองได้

วิกฤติโควิด ที่เกิดขึ้น ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและทุกภาคส่วนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่หากพิจารณาแล้ว จะเห็นได้ว่า ภาคเกษตร กลุ่มเกษตรกร ยังเป็นกลุ่มที่สามารถพึ่งพาตนเองได้จากการทำกิจกรรมเกษตรผสมผสาน จึงทำให้เกษตรกรยังคงมีรายได้ อีกทั้งภาคเกษตร ยังมีศักยภาพในการรองรับ และช่วยแก้ไขปัญหาผู้ถูกเลิกจ้างและว่างงานได้อีกด้วย

เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า เมื่อเทียบผลกระทบจากโควิด 19 ที่เกิดขึ้น จะพบว่าภาคการเกษตร ฟื้นตัวได้เร็วที่สุด ส่วนหนึ่งเพราะทุกคนทั่วโลกมีความกังวลเรื่องความมั่นคงทางด้านอาหาร ทั้งกรณีผลผลิตจะไม่พอ ราคาแพง ประเทศที่ยากจนจะเข้าถึงยาก และมีการกักตุน

ทั้งหมดนี้ ทำให้การส่งออกสินค้าเกษตรและอาหารของไทย เพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ในขณะที่ภาคการเกษตรยังเป็นแหล่งรองรับแรงงานคืนถิ่นอีกด้วย ดังนั้นกระทรวงเกษตรฯจึงเปิดโครงการแรงงานคืนถิ่น พลิกฟื้นผืนดิน ด้วยหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ระยะที่ 2 ต่อเนื่องจากปีที่ผ่านมา มีเป้าหมายเพื่อให้แรงงานเหล่านี้มีรายได้เพียงพอ พึ่งพาตนเองได้อย่างภาคภูมิใจ รวมทั้งยัง เป็นอาชีพที่มีความยั่งยืน สามารถก้าวข้ามหรือรอดพ้นได้ทุกสถานการณ์

โครงการแรงงานคืนถิ่นนี้ จะต่อยอดขยายผลการพัฒนาร่วมกับโครงการต่างๆ ที่สำคัญ ภายใต้โครงการฟื้นฟูเยียวยาฯ ในหลายโครงการ อาทิ โครงการหนึ่งตำบลหนึ่งกลุ่มเกษตรทฤษฎีใหม่ โครงการพัฒนาธุรกิจบริการดินและปุ๋ยเพื่อชุมชน

จากการสำรวจของสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร(สศก.) เพื่อประเมิน โครงการแรงงานคืนถิ่น ในปีที่ผ่านมาจากเกษตรกรที่เข้ารับการอบรม 1,080 ราย พบว่า 83.33%เห็นว่าการจัดอบรมไม่พบปัญหาที่เกิดขึ้น อีก 16.67% พบว่ามีปัญหา เช่น ระยะเวลาการเดินทาง ค่าตอบแทน สถานที่จัดอบรม เป็นต้น

ผู้ที่ผ่านการอบรม มี 25.76% ที่นำไปปฏิบัติทั้งหมด 72.12% นำไปปฏิบัติบางส่วน การนำความรู้ที่ได้รับไปปรับใช้ในพื้นที่ ส่วนผู้ที่ไม่นำความรู้ที่ได้รับไปปฏิบัติ มี 2.12 % สาเหตุเนื่องจากอายุมาก ขาดแคลนแรงงาน

ความรู้ที่มีการนำไปใช้มากที่สุด ได้แก่ การทำปุ๋ยหมักเพื่อใช้ในพื้นที่ ลดการใช้ปุ๋ยเคมี การทำเชื้อราไตรโคเดอร์มา เพื่อกำจัดศัตรูพืช 60.91% รองลงมา ได้แก่ การเลี้ยงโคและการทำอาหารสัตว์ การเลี้ยงไก่ ฯลฯ 35.45 % การปลูกพืชผักสวนครัว พืชอินทรีย์ 34.85% เพื่อบริโภคในครัวเรือนและจำหน่ายเพื่อนบ้าน

หลังจากนำความรู้ที่ได้นำไปปฏิบัติแล้ว ทำให้รายจ่ายลดลง 87.27% รายได้เพิ่มขึ้น 67.27% เช่น การผลิตพืชผักปลอดภัย การใช้สารชีวภัณฑ์ทดแทนสารเคมี การทำปุ๋ยหมักใช้เอง

เกษตรกรกลุ่มเป้าหมาย 91.51% มีการสร้างเครือข่าย โดยการรวมกลุ่ม สร้างกลุ่มไลน์ เพื่อสอบถามข้อมูล แลกเปลี่ยนความรู้ และจำหน่ายสินค้า อย่างไรก็ตามการประเมิน ยังพบ ปัญหาที่เกิดขึ้น เช่นไม่สะดวกในการเดินทาง ระยะเวลาที่จัดอบรม 3 วัน มีความเหมาะสม แต่บางรายมีภารกิจทางบ้าน ไม่สามารถอบรมได้เต็มเวลา และไม่ควรจัดอบรมตรงกับช่วงฤดูกาลเพาะปลูก

ขาดปัจจัยการผลิตสนับสนุน ไม่สามารถหาวัสดุอุปกรณ์ในพื้นที่ และบางรายขาดเงินทุนดำเนินการ แปลงศึกษาดูงานมีความเฉพาะ ไม่สามารถนำไปประยุกต์ใช้ในพื้นที่ เนื้อหาในเอกสารบางครั้ง เข้าใจยาก

ทั้งหมดนี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้นำมาปรับเพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ โดยปัจจุบันอยู่ระหว่างการจัดอบรมผ่านระบบออนไลน์ เพื่อหลีกเลี่ยงสถานการณ์โควิดที่เกิดขึ้น