วิธีจัดการ ‘ข่าวปลอม’ (Fake news) ในโลก ‘คลับเฮาส์’

วิธีจัดการ ‘ข่าวปลอม’ (Fake news) ในโลก ‘คลับเฮาส์’

เรียนรู้วิธีจัดการ ข่าวปลอม (Fake news) ใน “คลับเฮาส์” สังคมออนไลน์ในรูปแบบห้องสนทนาที่ทุกคนมีอิสระในการพูด

คลับเฮาส์ (Clubhouse) แอพพลิเคชั่นห้องสนทนาออนไลน์ที่เพิ่งเปิดระบบให้ผู้ใช้มือถือระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์เข้าร่วมวงสนทนานับเป็นก้าวสำคัญของการขยายฐานผู้ใช้งานให้ครอบคลุมทุกตลาด

คลับเฮาส์นั้นเสนอแพลตฟอร์มที่เปิดโอกาสให้กลุ่มคนจำนวนมากสามารถจับกลุ่มพูดคุยออนไลน์ในเรื่องต่าง ๆ ซึ่งส่วนใหญ่ก็จะเป็นประเด็นทางสังคมหรือสิ่งที่ตนเองสนใจ การได้เจอเพื่อนใหม่ที่มีทัศนคติความชอบใกล้เคียงกันนั้นเป็นเรื่องที่ดี แต่การฟังด้วยสติและไตร่ตรองด้วยข้อเท็จจริงและปัญญานั้นก็เป็นสิ่งสำคัญ

ปัจจุบัน ข่าวปลอม (Fake news) นอกจากจะสร้างความปั่นป่วนให้สังคมตื่นตระหนกไม่เป็นผลดีต่อสังคมแล้ว ยังทำให้การบริหารจัดการบ้านเมืองนั้นยากลำบาก เป็นฟืนไฟที่อุดหนุนให้ความแตกต่างซึ่งแท้จริงแล้วคือความสวยงามในสังคมประชาธิปไตยกลายเป็นความแตกแยกแบ่งฝักฝ่ายสุดโต่ง คนไทย 69 ล้านคนใช้ Facebook กว่า 53 ล้านและไลน์กว่า 44 ล้านคน ดังนั้นจึงไม่แปลกหากข่าวปลอมมุ่งเป้าหมายในสองช่องทางนี้

ดังนั้น การติดอาวุธทางปัญญาให้กับตัวเองพื่อรับมือข่าวปลอมนั้นเริ่มต้นด้วยวิจารณญาณ การคิดไตร่ตรองด้วยสติ การพิจารณาด้วยความเป็นกลางคือจุดเริ่มต้นที่ดี เพื่อรับมือข่าวปลอมได้อย่างระมัดระวังมากขึ้นมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด จึงได้แนะนำถึงการสังเกตและจับผิดข่าวปลอมดังนี้

1. เช็คแหล่งที่มาของข่าว ความน่าเชื่อถือของเว็บไซต์ สำนักพิมพ์ ผู้เขียน ผู้พูด หรือการอ้างอิงทางวิชาการ เช่น หากเป็นข่าวสารเกี่ยวกับสุขภาพก็สมควรมีข้อมูลอ้างอิงทางการแพทย์หรือสถาบันที่น่าเชื่อถือ เว็บไซต์หลายแห่งมีการตั้งชื่อให้คล้ายคลึงกับเว็บไซต์ที่มีความน่าเชื่อถือเพื่อหลอกลวงผู้อ่าน เช่นเดียวกับมิจฉาชีพที่มีความพยายามทำให้ตนเองมีความคล้างคลึงกับต้นฉบับมากที่สุด

ผู้พูด ผู้เขียนที่มีการศึกษาและความเชี่ยวชาญเฉพาะทางจากการประกอบอาชีพหรือความสนใจอย่างมากอย่างยาวนาน เช่นเดียวกับสังกัดหรือสำนักพิมพ์ก็เป็นอีกหนึ่งตัวชี้วัด ถูกต้องที่ควรเชื่อผู้ที่มีความเชี่ยวชาญแต่ในระลึกอยู่เสมอว่าคนเราทุกคนล้วนมีอคติ ดังนั้นควรต้องฟังอย่างมีสติและจึงนำไปคิดและเปรียบเทียบกับแหล่งข่าวอื่น ๆ

ในปัจจุบัน ทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ เช่น สหรัฐ สื่อหลายสื่อขาดความเป็นกลางโน้มเอียงทั้งในประเด็นการเมืองหรืออื่น ๆ หรือแม้กระทั่งผลประโยชน์ทับซ้อนจากการเป็นเจ้าของสื่อของนักการเมืองและนักธุรกิจ พออ่านจบ ให้เช็คกับเว็บไซต์ที่น่าเชื่อถืออื่น ๆ ด้วยว่ามีการลงข่าวในเรื่องเดียวกันหรือไม่ เพราะหากเป็นข่าวใหญ่หรือข้อมูลที่น่าเชื่อถือจริง ต้องมีแหล่งข่าวหรืออ้างอิงมากกว่าหนึ่งแน่นอน

2. สังเกตและจับผิดเนื้อหาของข่าวว่าเป็นเนื้อหาซ้ำ ข่าวเก่า ภาพหรือคลิปเดิม หรือตัดแปะจากแหล่งอื่นหรือไม่ ให้ระวังเนื้อหาที่ใช้ภาษาไม่เป็นทางการ

3. การพาดหัวข่าวนั้นไม่ได้ตรงกับเนื้อหาเสมอไป ดังนั้นอย่าด่วนสรุปก่อนที่จะได้อ่านเนื้อหาข้างใน เพราะหน้าที่ของการพาดหัวข่าวคือการดึงดูดให้ผู้อ่านสนใจเข้ามาติดตาม การพาดหัวข่าวจึงไม่ใช่บทสรุปและข้อเท็จจริงเสมอไป

4. พูดคุยสอบถามผู้รู้ เพราะในปัจจุบันการอ่านข่าวจากแหล่งเดียวที่ไม่รู้จักมีโอกาสสูงที่จะไม่ใช่ข่าวจริง ดังนั้นการสอบถามจากผู้รู้ หรือแหล่งข้อเท็จจริงจึงเป็นอีกวิธีในการแยกข่าวปลอมออกจากข่าวจริง

มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ดในสหรัฐพูดถึงเหยื่อของข่าวปลอมที่มักจะเป็นผู้สูงอายุ เด็กหรือผู้มีการศึกษาที่จำกัด และผู้อ่านทุกคนที่มีอคติเป็นทุนเดิม ยิ่งถูกโน้มน้าวได้ง่าย อคตินี้ทางวิชาการเรียกว่า Confirmation bias ที่มักจะโน้มน้าวผู้มีอคติประเภทนี้เป็นทุนเดิมให้เชื่อในสิ่งที่ตรงกับความคิดหรือความเชื่อดั้งเดิมอยู่แล้วได้ง่าย

สติปัญญาและความไร้อคติจึงเป็นเครื่องมือสำคัญที่จะช่วยกรองข้อมูลข่าวสารมากมายที่มีทั้งจริงและเท็จปะปนกันไปในโลกปัจจุบันก่อนที่จะปักใจเชื่อและแชร์ออกไป