อย่าต้องหลงป่า ติดหล่ม เพราะโควิด-19

อย่าต้องหลงป่า ติดหล่ม เพราะโควิด-19

สถานการณ์โรค COVID-19 เข้าสู่ช่วงที่น่าจับตาอีกครั้ง ทำให้เกิดการตั้งคำถามถึงภาพอนาคตของสถานการณ์ว่าจะเป็นเช่นไร

ภาพอนาคตที่จะเกิดขึ้นขึ้นอยู่กับความสามารถในการควบคุมโรคและความไม่แน่นอนของการมีวัคซีน   สถานการณ์การแพร่ระบาดระลอกใหม่ในตอนนี้ ทำให้เราคนไทยคงต้องยกการ์ดขึ้นสูงอีกครั้ง เราต้องประเมินสถานการณ์และร่วมกันป้องกันไม่ให้เหตุการณ์เลวร้ายลงไป จนเกินจะรับมือไหวทั้งทางด้านสุขภาพและด้านเศรษฐกิจ

ปีที่ผ่านมา สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) ร่วมกับมูลนิธิสถาบันอนาคตไทยศึกษา (Thailand Future Foundation) ร่วมกันดำเนินการศึกษาจัดทำ  “มองภาพอนาคตประเทศไทย แนวทางการรับมือหลังวิกฤตโควิด-19” ตั้งแต่ช่วงที่มีการระบาดของโควิด-19 ช่วงแรก

ผลการศึกษานี้ดังกล่าว เราได้วิเคราะห์ภาพอนาคตประเทศไทยที่มีโอกาสเกิดขึ้นหลังเผชิญวิกฤติโควิด-19 และข้อเสนอแนะแนวทางการกำหนดทิศทางการพัฒนาประเทศหลังสถานการณ์คลี่คลาย เพื่อรองรับภาพอนาคตที่อาจเป็นไปได้ หากเปรียบเทียบภาพอนาคตประเทศเป็นเสมือนการเดินทางแล้ว เส้นทางต่างๆ ที่ประเทศไทยอาจต้องเผชิญบนเส้นทางสายโควิดนี้ มี 4 เส้นทาง คือ

  • ซิ่งทางด่วน (Rosy Scenario) ประเทศไทยสามารถควบคุมโรคได้เบ็ดเสร็จและเศรษฐกิจฟื้นตัวได้อย่างรวดเร็ว
  • ลากเกียร์ต่ำ (Slow but Sure) ประเทศไทยควบคุมโรคระบาดได้เบ็ดเสร็จ แต่ระบบเศรษฐกิจไม่ฟื้นตัว ภาพรวมประเทศเดินหน้าได้เรื่อยๆ อย่างช้าๆ ด้านสุขภาพค้นพบวัคซีนและยารักษาโรคได้ผล
  • วิ่งเลียบผา (Risky Business) ประเทศไทยยังมีการระบาดซ้ำ แต่เศรษฐกิจสามารถฟื้นตัวได้ ภาคส่วนต่างๆ เคลื่อนตัวไปได้แต่ยังอยู่บนความเสี่ยง ทำให้ธุรกิจและประชาชนต้องใช้ชีวิตด้วยความระมัดระวัง
  • หลงป่า ติดหล่ม (Doomsday Scenario) เป็นภาพอนาคตที่เลวร้ายที่สุด ประเทศยังมีการระบาดซ้ำในขณะที่เศรษฐกิจหดตัว ทุกอย่างในประเทศหยุดชะงัก ต้องใช้เวลาในการฟื้นตัวนาน

(ดาวน์โหลดหนังสือ “มองภาพอนาคตประเทศไทย แนวทางการรับมือหลังวิกฤติโควิด-19” ได้ที่ www.nxpo.or.th/th/report/6300/)

 

ช่วงก่อนหน้านี้เรามองว่าประเทศไทยคล้ายกับ “วิ่งเลียบผา (Risky Business)” คือเส้นทางมีความเสี่ยง ประเทศยังสามารถพอเคลื่อนไปได้ แต่ต้องเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด ยังมีการระบาดซ้ำ  เศรษฐกิจก็พอจะเริ่มฟื้นตัวได้  เศรษฐกิจฟื้นตัวด้วยการใช้จ่ายภายในประเทศ ระบบเศรษฐกิจฟื้นตัวด้วยการบริโภคสินค้าบริการและการท่องเที่ยวภายในประเทศ  

 

อย่างไรก็ตาม ณ จุดนี้เรามาถึงจุดที่น่ากังวลว่า เรากำลังจะไปสู่เส้นทางการหลงป่าหรือไม่ และเชื่อว่าคนไทยทุกคนคงไม่อยากให้เราไปสู่การหลงป่า ติดหล่มอย่างแน่นอน  เพราะภาพหลงป่า ติดหล่ม หรือ Doomsday Scenario เป็นภาพอนาคตที่เลวร้ายที่สุด  เพราะจะทำให้ประเทศไทยมีการระบาดซ้ำๆ ซ้ำแล้วซ้ำเล่า ในขณะที่เศรษฐกิจหดตัว จนกระทั่งทำให้ทุกอย่างในประเทศหยุดชะงัก ถอยหลังไปอย่างมาก  นั่นหมายความว่า เราจะต้องใช้เวลาในการฟื้นตัวนาน

 ในเวลานี้ หากเราไม่อยากตกไปอยู่ในสภาพหลงป่าติดหล่ม เราต้องพยายามพลิกฟื้นสถานการณ์ให้ได้  พลิกให้เราเหนือกว่าไวรัสโคโรนา  เราต้องควบคุมโรคทำให้ได้มากที่สุด  การฉีดวัคซีน การบริหารจัดการให้ได้จึงสำคัญ เพราะไม่ใช่นั้นแล้ว หากเราไม่สามารถควบคุมโรคได้แล้ว นอกจากจะไม่สามารถหยุดยั้งการระบาดของเชื้อโรคได้แล้ว จะส่งผลกระทบต่อเนื่องกับเศรษฐกิจชนิดที่ว่าฉุดไม่อยู่

เราต้องปรับตัว บรรเทาผลกระทบและช่วยในการปรับตัว ช่วยเหลือเยียวยา เพิ่มสภาพคล่อง และให้เงินช่วยเหลืออย่างตรงจุดเป็นสิ่งจำเป็นและเร่งด่วน ณ เวลานี้ พร้อมๆ กันนั้นเราต้องสนับสนุนการจ้างงาน สร้างงานใหม่ให้ผู้ได้รับผลกระทบ

เราต้องเปลี่ยนแปลง  เราอย่ารอที่จะเปลี่ยน เราต้องเปลี่ยนในตอนนี้เลย อย่าคิดชะล่าใจว่า รอสถานการณ์ดีขึ้น ธุรกิจต้องเปลี่ยน งานต้องเปลี่ยน  คนทำงานก็ต้องเปลี่ยน  ทักษะ Reskill , Upskill ทักษะที่ตอบโจทย์อนาคต (Future Skill)   ต้องเริ่มตั้งแต่วันนี้

สิ่งหนึ่งที่สำคัญก็คือ กระบวนทัศน์ การทำงานทุกภาคส่วน การใช้ชีวิต พฤติกรรมของประชาชนก็จำเป็นต้องปรับเปลี่ยนทำให้โลกหลังโควิด-19 ไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป

เพราะเรากำลังเดิมพันด้วยความเป็นและความตาย ชีพจรชีวิตและชีพจรเศรษฐกิจของประเทศในเวลานี้ เราต้องปั๊มกลับคืนมาให้ได้ ทุกคนต้องร่วมกันลุกขึ้นมาสู้   ไวรัสยังปรับตัว เปลี่ยนแปลง กลายพันธุ์เล่นเกมกับเรา เราจะรอหวังว่าจะให้ไวรัสอ่อนแรงไปก่อนคงจะไม่ได้แล้ว.

 *บทความโดย ประกาย ธีระวัฒนากุล

สถาบันอนาคตไทยศึกษา (Thailand Future Foundation)

https://www.facebook.com/thailandfuturefoundation/