สิงคโปร์ ปรับยุทธศาสตร์เติบโตใหม่หลังโควิด-19

สิงคโปร์ ปรับยุทธศาสตร์เติบโตใหม่หลังโควิด-19

'สิงคโปร์' เป็นประเทศหนึ่ง ที่กำลังมุ่งมั่นปรับแผนยุทธศาสตร์ใหม่ของประเทศเพื่อรองรับโลกหลังโควิด-19

*บทความโดย ธราธร รัตนนฤมิตศร

สถาบันอนาคตไทยศึกษา (Thailand Future Foundation)

https://www.facebook.com/thailandfuturefoundation/

เหตุผลหลักในการปรับแผนยุทธศาสตร์ใหม่ เกิดจากสิงคโปร์ได้เล็งเห็นความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ (major shifts) ที่วิกฤตโควิด-19 ทำให้เกิดขึ้น โดยได้ระบุการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญ 6 ประการที่กำลังปรับเปลี่ยนเศรษฐกิจโลก

ประการแรก การเปลี่ยนแปลงระเบียบโลกใหม่ ทิศทางการเปลี่ยนแปลงทางภูมิรัฐศาสตร์ระหว่างประเทศจะเร่งตัวขึ้นผ่านกระแสการค้าภายในภูมิภาคที่มีแนวโน้มเติบโตมากขึ้นโดยเฉพาะในเอเชีย กระแสการค้าใหม่นี้จะให้ความสำคัญกับการแลกเปลี่ยนการวิจัยและการพัฒนา บริการ ข้อมูล และนวัตกรรมมากขึ้น

ประการที่สอง การปรับสมดุลใหม่ระหว่างการให้ความสำคัญกับประสิทธิภาพและความยืดหยุ่นในห่วงโซ่อุปทานการผลิต วิกฤตโควิด-19 ทำให้การมุ่งจัดการให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดของห่วงโซ่อุปทานแบบเดิมจบสิ้นลงไป และเปลี่ยนไปสู่การให้ความสำคัญกับความยืดหยุ่น (resilience) มากขึ้น ห่วงโซ่อุปทานในอนาคตจะเรียบง่ายและสั้นกว่าเดิม โดยจะมีการตั้งฐานการผลิตใกล้กับตลาดผู้บริโภคปลายทางและปัจจัยการผลิตที่จำเป็น

ประการที่สาม การเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัลและนวัตกรรม วิกฤตโควิด-19 เร่งให้ผู้บริโภคและภาคธุรกิจปรับใช้ดิจิทัลได้อย่างรวดเร็ว รวมทั้งเร่งปรับตัวเข้าสู่อุตสาหกรรม 4.0 ที่เป็นระบบอัตโนมัติเพิ่มขึ้น

ประการที่สี่ การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้บริโภค พฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนไปและบางพฤติกรรมจะไม่กลับสู่รูปแบบเดิมก่อนการระบาดของโรค เช่น ความต้องการอีคอมเมิร์ซ บริการอิเล็กทรอนิกส์ และช่องทางดิจิทัลจะเพิ่มมากขึ้น การให้ความสำคัญกับคุณภาพของสินค้าและบริการที่ส่งผลต่อสุขภาพ การลดความต้องการเดินทางโดยเฉพาะการเดินทางไปยังจุดหมายปลายทางที่ไม่ปลอดภัยต่อสุขภาพ

ประการที่ห้า การมุ่งสู่ความยั่งยืนมากขึ้น สถานการณ์โควิด-19 เร่งให้ทุกฝ่ายให้ความสำคัญกับความยั่งยืน ทั้งในด้านสิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจและสังคมมากขึ้น ซึ่งคาดว่าจะมีธุรกิจใหม่ๆ ในเศรษฐกิจสีเขียวเพิ่มขึ้น

ประการที่หก การเร่งการรวมตัวกันของธุรกิจ วิกฤตโควิด-19 ทำให้องค์กรธุรกิจต้องจัดสรรเงินทุนและสภาพคล่องใหม่ เอกชนขนาดใหญ่จะเข้าไปซื้อสินทรัพย์ที่ประสบปัญหา และนำไปสู่การผนึกรวมอุตสาหกรรมมากขึ้น

จากการเปลี่ยนแปลงใน 6 ด้านทำให้สิงคโปร์ นำโดยรองนายกรัฐมนตรีและผู้นำภาคส่วนต่างๆ ได้จัดตั้ง The Alliances for Action (AfAs) ขึ้นเป็นคณะทำงานระดับสูง เพื่อให้ผู้นำและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียหลักของอุตสาหกรรมมาร่วมกันสร้างโอกาสการเติบโตทางเศรษฐกิจใหม่ให้กับสิงคโปร์ โดยเน้นการทำงานอย่างรวดเร็ว ในรูปแบบสตาร์ทอัพ เน้นการสร้างต้นแบบ (prototype) เชิงนโยบายใหม่ๆ  ซึ่งที่ผ่านมาได้แต่งตั้งคณะ AfAs จำนวน 7 คณะ เพื่อให้ไปทำงานร่วมกันและเสนอแนะต้นแบบเชิงนโยบายใหม่ โดยที่ผ่านมาบางคณะเช่น AfA on Supply Chain Digitalization หรือการสร้างห่วงโซ่อุปทานดิจิทัล ได้ประชุมเชิงปฏิบัติการไปแล้วกว่า 30 ครั้งในเวลาเพียง 4 เดือน ซึ่งแสดงถึงความเอาจริงเอาจังในรูปแบบการทำงานร่วมมือระหว่างภาครัฐและภาคเอกชนครั้งนี้ของสิงคโปร์

Alliances for Action 7 ด้าน ได้แก่

(1) สิ่งแวดล้อมสรรค์สร้างแบบดิจิทัล (Digitalizing the Built Environment): เทคโนโลยีดิจิทัลเป็นแรงผลักดันสำคัญของการเปลี่ยนผ่านอุตสาหกรรมของสิงคโปร์ จากสถานการณ์โควิด-19 ได้เพิ่มการทำงานร่วมกันในทุกภาคส่วนของห่วงโซ่คุณค่าของภาคสิ่งแวดล้อมสรรค์สร้าง เพื่อสร้างโอกาสในการเร่งผลักดันสู่ดิจิทัลเพื่อเพิ่มผลผลิตในห่วงโซ่คุณค่า ตั้งแต่แนวคิด การออกแบบ ไปจนถึงการก่อสร้าง การจัดการสถานที่ และการจัดการสิ่งอำนวยความสะดวกในสิงคโปร์

(2) เทคโนโลยีการศึกษา (EduTech): โควิด-19 เร่งการนำ EduTech ไปใช้ทั่วโลกตั้งแต่การเรียนรู้ที่บ้านไปถึงการศึกษาอบรมวิชาชีพออนไลน์ สิงคโปร์มองเป็นโอกาสที่จะนำภาพลักษณ์ที่ดีด้านการศึกษาและทุนมนุษย์ของตนส่งออกไปทั่วโลก

(3) ประสบการณ์นักท่องเที่ยวที่ปลอดภัยและสร้างสรรค์ (Safe and Innovative Visitor Experiences): โควิด-19 เปลี่ยนแปลงการเดินทางและการท่องเที่ยวใหม่ สิงคโปร์ต้องการบุกเบิกวิธีการใหม่ เพื่อสร้างการขนส่งที่ปลอดภัย ธุรกิจที่ปลอดภัย การเดินทางและการท่องเที่ยวที่ปลอดภัย

(4) การอำนวยความสะดวกการค้าอัจฉริยะในสิงคโปร์ (Facilitating Smart Commerce in Singapore): โควิด-19 เร่งการนำอีคอมเมิร์ซมาใช้ในผู้บริโภคและผู้ค้าปลีก สิงคโปร์ต้องการผลักดันการสร้างระบบนิเวศแบบ "สมาร์ทคอมเมิร์ซ" ที่ผสมผสานการค้าปลีกแบบดิจิทัลและแบบกายภาพเข้าด้วยกัน เชื่อมโยงร้านค้าในพื้นที่ให้สามารถเข้าถึงตลาดผู้บริโภคทั่วโลก

(5) หุ่นยนต์ (Robotics): การส่งเสริมเทคโนโลยีหุ่นยนต์เพื่อสร้างผลผลิตที่สูงขึ้นและการแก้ปัญหาด้านกำลังคน รวมถึงวิธีการแก้ปัญหาเพื่อลดการติดต่อทางสังคมและรักษามาตรฐานด้านสุขภาพระดับสูง ตั้งแต่หุ่นยนต์ทำความสะอาด หุ่นยนต์ก่อสร้าง ระบบการดูแลสุขภาพและระบบขนส่งสาธารณะอัตโนมัติ

(6) การสร้างดิจิทัลของห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain Digitalization): มีความต้องการเพิ่มขึ้นในการสร้างความยืดหยุ่นของห่วงโซ่อุปทานและการก้าวไปสู่ห่วงโซ่อุปทานในระดับภูมิภาค ซึ่งถือเป็นโอกาสครั้งใหญ่ในการพัฒนาเทคโนโลยีดิจิทัลในห่วงโซ่อุปทานสิงคโปร์ ซึ่งรวมถึงโลจิสติกส์ กฎระเบียบและการเงิน

(7) ความยั่งยืน (Sustainability): การให้ความสำคัญกับความยั่งยืนและมาตรฐานด้านสิ่งแวดล้อมสังคมและธรรมาภิบาล (ESG) มีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นหลังโควิด-19 ซึ่งเปิดโอกาสให้สิงคโปร์พัฒนาจนกลายเป็นศูนย์กลางสำหรับโซลูชันและบริการที่เกี่ยวข้องกับ ESG ทั่วโลกได้

ล่าสุด Alliances for Action กำลังจัดตั้งคณะที่ 8 เพื่อดูเรื่องเทคโนโลยีทางการแพทย์ (MedTech) เพิ่มอีกคณะ ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นความเคลื่อนไหวที่น่าจับตามองในพัฒนาการของสิงคโปร์ที่ต้องการให้ประเทศเติบโตขึ้นอย่างแข็งแกร่งอีกครั้งในโลกหลังโควิด-19