การตั้งราคาค่ารถไฟฟ้า และผลประโยชน์แฝงอื่นๆ

การตั้งราคาค่ารถไฟฟ้า  และผลประโยชน์แฝงอื่นๆ

เมื่อผู้ว่าฯกทม. ยืนยันว่า ค่ารถไฟฟ้าสายสีเขียวราคา 104 บาทนั้นไม่แพง นอกจากทำให้คนฟังตาโต ด้วยความประหลาดใจ ยังทำให้คนสนใจตรรกะที่มา

มีหลายประเด็นที่น่าสนใจในประเด็นนี้ แต่ผมว่า 3 ประเด็นที่สำคัญที่สุดที่เราควรให้ความสำคัญและทำความเข้าใจที่สุด คือ

1. การลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานนี้ เป็นการลงทุนแบบพิเศษ ไม่ใช่การลงทุนในทางธุรกิจที่จะคิดแต่กำไรขาดทุน และจุดคุ้มทุนเท่านั้น เพราะการลงทุนในระบบขนส่งมวลชนในโครงข่ายระบบรางนั้นถึงแม้จะมีต้นทุนที่สูง แต่ก็มีระยะการใช้งานที่ยาวนาน ดังนั้นจึงสามารถเก็บเกี่ยวผลประโยชน์ได้อย่างยาวนาน

ตัวอย่างที่ชัดเจนใกล้ตัวและง่ายสุดคือ ระบบรถไฟไทยที่ ร.5 ทรงริเริ่มและยังคงดำเนินงานจนปัจจุบัน เช่นเดียวกับในต่างประเทศ ระบบรถไฟไทยนั้นไม่คุ้มทุนเลยในระยะแรกหากมองในแง่ของกำไรขาดทุน

แต่เมื่อมีรางรถไฟก็ทำให้ราคาที่ดินเพิ่ม ความสะดวกของการเดินทางทำให้คนเดินทางมากขึ้น เกิดความเจริญ เกิดการจับจ่ายใช้สอยมากขึ้น รัฐก็สามารถเก็บภาษีจากราคาที่ดินที่เพิ่มสูงขึ้น การเปลี่ยนมือกรรมสิทธิ์ ตลอดจนภาษีจากการจับจ่ายใช้สอยเพราะเงินที่สะพัดมากขึ้น เรียกได้เกิดประโยชน์แฝงขึ้นมากมาย

ดังนั้น การตั้งราคาสินค้า/บริการ หรือการคิดคำนวณแผนธุรกิจในระดับเล็กเช่นในโครงการของเอกชน ที่มุ่งหมายกำไรนั้น จึงไม่สามารถนำมาใช้กับโครงการในระดับมหภาคที่จุดมุ่งหมายไม่ได้แสวงหากำไรได้

หากรัฐทั่วโลก ใช้ตรรกะทางธุรกิจและการมองโลกแบบไร้การบูรณาการแล้ว โครงการเชื่อมต่อระบบรางทั่วโลกคงไม่เกิดขึ้น ประเทศจีนคงไม่มีรถไฟความเร็วสูง นิวยอร์คหรือลอนดอนคงไม่มีระบบรถไฟใต้ดินที่อำนวยความสะดวกแก่พลเมืองจนทำให้เมืองขยาย ผู้คนหลั่งไหลเข้าไปเที่ยวและทำงานจนทำให้เกิดความเจริญและทำรายได้อย่างมหาศาลสู่เมืองใหญ่เหล่านั้น

2. การสนับสนุนให้ประชาชนเดินทางโดยระบบขนส่งมวลชนนั้น เป็นกลยุทธ์ที่ใช้เพื่อแก้ไขหลายปัญหาที่แก้ไขได้ยากคาราคาซัง เช่น ความเจริญที่กระจุกตัว ปัญหาจราจร ปัญหาฝุ่นพิษ ทุกคนทราบว่ากรุงเทพฯนั้นเป็นเมืองใหญ่ เทียบชั้นได้กับลอนดอน ปารีส นิวยอร์ก หรือโตเกียวเลยทีเดียว ในมุมมองของจำนวนประชากร

แต่ถ้าสังเกตดีๆ จะพบว่า ระบบขนส่งสาธารณะโดยเฉพาะสัดส่วนของคนที่อยู่และทำงานในกรุงเทพที่พึ่งพาระบบรางนั้นต่ำมากถ้าเทียบกับเมืองอื่นๆ และที่เป็นแบบนั้นเพราะระบบรางของกรุงเทพฯในรูปแบบรถไฟฟ้านั้นน้อยมาก ไม่ครอบคลุม และกระจุกตัวอยู่ในในกลางเมืองเท่านั้น

3. คุณภาพชีวิตของประชาชนในกรุงเทพฯ นั้นมีความสำคัญพอๆ กับการพัฒนาของเมือง นอกจากค่าแรงที่น้อยแล้ว คนกรุงเทพฯยังต้องเสียเวลาไปกับการเดินทางที่มากที่ส่งผลเสียกับสุขภาพจิต และอากาศที่เป็นพิษจากการจราจรที่คับคั่งก็ส่งผลต่อสุขภาพร่างกาย

ผลวิจัยจากสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) พบว่าการตั้งราคาของรถไฟฟ้ากรุงเทพฯนั้น ถือว่าสูงมากเมื่อเปรียบเทียบกับค่าแรงขั้นต่ำของไทย เทียบกับประเทศอื่นๆ คิดเป็นเที่ยวละ 28.3 บาท หรือเดือนละ 1,000-1,200 บาท ซึ่งไม่เป็นมิตรกับผู้มีรายได้น้อยที่มีรายได้เฉลี่ยวันละ 300-400 บาท ต่างจากประเทศอื่นที่ถึงแม้ราคาค่าโดยสารระบบรางนั้นดูแล้วใกล้เคียงกับกรุงเทพฯ แต่ต้องวิเคราะห์ให้ลึกถึงค่าแรงขั้นต่ำของประเทศนั้นๆ ที่สูงกว่ากรุงเทพฯอย่างมีนัยสำคัญด้วย

ดังนั้น การอุดหนุนส่งเสริมให้ประชาชนหันมาใช้ระบบรางมากขึ้นนั้นจึงเป็นกลยุทธ์ที่ดีที่สามารถลดทั้งปัญหาความคับคั่งของการจราจร ลดมลพิษ ช่วยประชาชนให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นในทางอ้อม นอกจากนี้ยังทำให้ความเจริญที่เคยกระจุกตัวกระจายไปสู่ย่านอื่นของเมือง เกิดการพัฒนาและขยายของเมืองมากขึ้น

ทั้งหมดทั้งมวลคือเหตุผลว่า ทำไมผู้บริหารบ้านบริหารเมืองจึงควรมาจากการเลือกตั้ง เพราะผู้ที่เข้าใจประชาชนมากที่สุดที่ได้ฉันทามติจากคนในบ้านในเมืองนั้นๆ จะได้รับความไว้วางใจมาบริหารบ้านเมือง เมื่อเข้าสู่ตำแหน่งแล้วก็สามารถเข้ามาทำงานได้เลย ไม่เกิดค่าเสียโอกาสจากเวลาที่เสียไป