จัดการ ‘ความเป็นไปได้’

จัดการ ‘ความเป็นไปได้’

จะขึ้นเครื่องบินหรือรถทัวร์? จะฉีดวัคซีนโควิดตัวใด? ล้วนโยงใยกับเรื่องการจัดการ 'ความเป็นไปได้' ทั้งสิ้น

“จะขึ้นเครื่องบินหรือรถทัวร์?” “จะไปสังสรรค์กับเพื่อนหรือซื้อของใช้โดยไม่ติดโควิด?” “จะฉีดวัคซีนโควิดตัวใด?” “จะเชื่อเรื่องใส่แมสก์ รักษาระยะห่างและไม่ไปในที่แออัด เพื่อไม่ให้ติดโควิดแค่ไหน?” คำถามทั้งหมดนี้อยู่ในสมองเราเกือบตลอดเวลา เป้าหมายก็คือจะจัดการอย่างไรเพื่อให้ “อยู่ดี” และ “อยู่รอด”

ในขั้นพื้นฐาน ทุกสิ่งที่กล่าวถึงข้างบนนี้ล้วนโยงใยกับเรื่องการจัดการ “ความเป็นไปได้” ทั้งสิ้น ถ้าจัดการได้ดีก็มีโอกาส “อยู่ดี-อยู่รอด” ได้ตามสมควร “ความเป็นไปได้” (Probability) คือโอกาสของการเกิดสิ่งใดสิ่งหนึ่งขึ้น เช่น ถ้าโยนลูกเต๋าที่มี 6 ด้าน “ความเป็นไปได้” หรือโอกาสของการที่เลข 1 จะหงายขึ้นมาก็คือ 1 ใน 6 กล่าวคือมีความเป็นไปได้อยู่ 6 อย่างคือ เลข 1 ถึง 6 เมื่อเราต้องการรู้ความเป็นไปได้ของการได้เลข 1 ซึ่งมีหนึ่งทางเท่านั้น ดังนั้นความเป็นไปได้ของการได้เลข 1 จึงเท่ากับ 1 หารด้วย 6 ในเรื่องเหรียญก็เหมือนกันมีหัวและก้อย “ความเป็นไปได้ของการได้หัวคือ 1 ใน 2” (เช่นเดียวกับด้านก้อย)

คนซื้อลอตเตอรี่ไทยนั้น ถ้าเข้าใจเรื่อง “ความเป็นไปได้” ก็จะรู้ว่าความเป็นไปได้ของการถูกรางวัลที่หนึ่งของเลข 000000 กับความเป็นไปได้ของเลข 111111 นั้นเท่ากันคือ 1 ใน 1 ล้านเหมือนกัน (มีล้านใบคือตั้งแต่เลข 000000 ถึง 999999 และรางวัลที่หนึ่งมีใบเดียว ดังนั้น ใบหนึ่งมีโอกาสถูกหรือมีความเป็นไปได้ของการถูกรางวัลที่หนึ่งคือ 1 ในล้าน)

หากคนขายหรือซื้อหวยไทยได้ทราบข้อความข้างต้น คงหัวเราะตกเก้าอี้ เพราะเขาเชื่อกันใน “ความวิเศษ” หรือ “ความสวย” ของเลขที่ออก เลขน่าเกลียด เช่น เลขเดียวเรียงกันทั้งหมดหรือแทบทั้งหมดไม่มีใครซื้อ เพราะไม่เคยออกและไม่น่าจะมีวันออกเลขเหล่านี้ ทั้งหมดนี้ล้วนเป็นความไมเข้าใจเรื่อง “ความเป็นได้” อย่างไรก็ดี เขาเหล่านั้นอาจรู้อะไรที่ผู้เขียนเข้าไม่ถึงก็เป็นได้

ในเรื่องการเดินทางด้วยเครื่องบินหรือรถยนต์ มนุษย์บางคนกลัวนั่งเครื่องบินมากกว่านั่งรถยนต์เพราะเอาความร้ายแรงกว่าเมื่อเกิดอุบัติเหตุทางเครื่องบิน มาบังตาเรื่อง “ความเป็นไปได้” ของการเกิดอุบัติเหตุจากการเดินทาง สถิติล่าสุดของสหรัฐระบุว่าถ้าเอาความเป็นไปได้จากการตายของการโดยสารเครื่องบินพาณิชย์เป็นตัวเปรียบเทียบแล้ว การนั่งรถโดยสารมีความเป็นไปได้จากการตายมากกว่าเครื่องบินพาณิชย์ 50 เท่า เฮลิคอปเตอร์มากกว่า 63 เท่า เครื่องบินส่วนตัวมากกว่า 270 เท่า และ นั่งรถยนต์ส่วนตัวมากกว่า 454 เท่า

ตัวเลขแหล่านี้แสดงออกถึงโอกาสหรือความเป็นไปได้ของอันตรายจากการเดินทางหลายวิธี ถ้าต้องการ “อยู่รอด-อยู่ดี” ก็ต้องจัดการ “ความเป็นไปได้” ให้เป็นภายใต้ข้อจำกัดที่แต่ละคนเผชิญ

ในเรื่องวัคซีนโควิด ปัจจุบันมีหลายตัวจากวิธีการผลิตที่แตกต่างกัน เช่น จากกรรมวิธีดั้งเดิมของการใช้เชื้อที่ตายแล้วฉีดเข้าไปในร่างกายเพื่อทำให้ระบบภูมิคุ้มกันคุ้นเคยและสร้างภูมิคุ้มกันเฉพาะขึ้นมา เมื่อพบเชื้อจริง ภูมิคุ้มกันก็จะฆ่าเชื้อนั้น หรือวิธีสมัยใหม่ก็คือเอาบางส่วนของพันธุ์กรรมของเชื้อไวรัสโควิดฉีดเข้าไปในร่างกาย (ด้วยวิธีต่างๆ กัน บ้างก็ใช้ไวรัสตัวอื่นที่ไม่มีพิษต่อมนุษย์เป็นตัวกลางนำเข้าไปในร่างกาย บ้างก็ใช้วิธีอื่นโดยใช้หลักเดียวกันคือ ให้ร่างกายรู้จักและจะฆ่าเชื้อไวรัสโควิดเมื่อเข้าไปในร่างกายภายหลัง)

วัคซีนแต่ละตัวมีความเป็นไปได้ในการป้องกันโรคที่แตกต่างกัน มีอยู่ 2 คำในเรื่องนี้คือ efficacy (ความสามารถที่จะได้ผลดังตั้งใจไว้) กับ effectiveness (ประสิทธิผลหรือในภาษาพูดว่าได้ผลหรือไม่) ถ้าวัคซีนตัวหนึ่งระบุว่ามี efficacy 95% ก็หมายความว่าในการทดลองที่มีการควบคุมปัจจัยแวดล้อมของผู้รับการทดลอง 2 กลุ่มคือ กลุ่มที่ให้วัคซีนนั้นกับกลุ่มที่ไม่ได้ให้วัคซีน (ไม่บอกให้รู้เพื่อจะได้ไม่มีอาการอุปทานเกิดขึ้น ซึ่งจะทำให้ยากต่อการเปรียบเทียบผลที่เกิดระหว่าง 2 กลุ่ม) ถ้ามีคนรับการทดลองกลุ่มละ 100 คน หลังจากฉีดวัคซีนให้กลุ่มแรกครบถ้วนแล้วก็จงใจให้รับเชื้อโควิด กลุ่มสองฉีดยาที่ไม่ใช่วัคซีนจริงแล้วให้รับเชื้อ หากผลปรากฏกลุ่มสองติดเชื้อทุกคน แต่ปรากฏว่ากลุ่มแรกมีคนไม่มีอาการติดเชื้อ 95 คน ก็หมายความว่าวัคซีนนั้นมี efficacy 95% (รายละเอียดของการคำนวณได้ตัวเลขนี้มาซับซ้อนกว่านี้ เพราะต้องพยายามทำให้ 2 กลุ่มนี้มีลักษณะทางกายภาพและสุขภาพที่ใกล้เคียงกัน จึงจะรู้ได้แน่ชัดว่าการไม่ติดเชื้อในกลุ่มแรกถึง 95% นั้นเป็นผลมาจากวัคซีนอย่างแท้จริง)

ตัวเลขของ efficacy มาจากการทดลองในสิ่งแวดล้อมที่มีการควบคุม ดังนั้น จึงไม่อาจแน่ใจได้ว่าเมื่อออกมาใช้จริงข้างนอกแล้วจะมีอิทธิฤทธิ์เหมือนเดิมหรือไม่ ดังนั้น จึงมีอีกคำคือ effectiveness ของวัคซีนซึ่งหมายถึงว่าวัคซีนทำงานได้ดีแค่ไหนในโลกจริงข้างนอกห้องทดลอง ตัวเลขของ Vaccine Effectiveness แปรผันในแต่ละสังคม แต่ละเพศ แต่ละช่วงอายุและแต่ละสภาวะสุขภาพของแต่ละคน ยิ่งไปกว่านั้นเชื้อโควิดก็กลายพันธุ์ตลอดเวลา จนอาจทำให้วัคซีนบางตัวมี effectiveness ต่ำลงกว่าตอนแรกก็เป็นได้

การฉีดวัคซีนโควิดจึงมีผลต่อการป้องกันโรคสำหรับแต่ละคนที่แตกต่างกัน ยิ่งปวดหัวไปกว่านั้นก็คือจะมีวัคซีนออกมาเป็นจำนวนมากอาจถึง 10 ตัวก่อนสิ้นกลางปีนี้ การตัดสินใจเลือกวัคซีนที่มี “ความเป็นไปได้” หรือโอกาสในการป้องกันโรคที่สูงกว่าเพื่อน จึงต้องอาศัยการรับรู้ข้อมูลจากการฉีดคนอื่นๆ ไปแล้วนับล้านๆ คน การรู้ตัวเลข Efficacy Rate (ข้อมูลจากการทดลองอย่างเดียว) กับตัวเลข Effective Rate (ข้อมูลจากโลกที่แท้จริง) ของแต่ละวัคซีน

วัคซีนโควิดแต่ละตัวกว่าจะออกมาและได้รับการรับรองนั้น ต้องผ่านกระบวนการทดลองในสัตว์และคนนับเป็นหมื่นๆ รายว่าปลอดภัยและได้ผล ณ ปัจจุบันยังไม่มีอะไรที่น่าเป็นห่วงในเรื่องความปลอดภัยของวัคซีนที่ได้รับการรับรองจากประเทศใหญ่ที่มีมาตรฐาน และ/หรือจากองค์กรที่ไม่มุ่งผลกำไรในระดับโลก

การใคร่ครวญและความไม่ประมาทเกี่ยวกับการประเมินโอกาสของแต่ละทางเลือก คือหัวใจของการจัดการ “ความเป็นไปได้”