Blockchain แก้ไขคอรัปชันราชการไทย

Blockchain แก้ไขคอรัปชันราชการไทย

การทุจริตคอรัปชันเป็นหนึ่งในปัญหาที่เกิดขึ้นในระบบราชการของแทบทุกประเทศ รวมถึงประเทศไทย

 การทุจริตคอรัปชันส่งผลโดยรวมต่อการนำเงินงบประมาณของแผ่นดินมาใช้ในการจัดทำบริการสาธารณะให้กับประชาชน สำหรับแนวทางแก้ไขปัญหาดังกล่าวคือ การนำเทคโนโลยีมาใช้สร้างความโปร่งใสในการปฏิบัติงานของระบบราชการ

หนึ่งในเทคโนโลยีที่อาจเป็นทางออกในการแก้ไขปัญหา และเป็นเทคโนโลยีสมัยใหม่ที่ได้รับการยอมรับในระดับสากลคือ Blockchain (บล็อคเชน)

จุดเด่นสำคัญของบล็อคเชนคือ การเป็นเทคโนโลยีที่มีความโปร่งใสและไม่สามารถเข้าไปเปลี่ยนแปลงแก้ไขระบบต่างๆ ที่ได้ทำขึ้นแล้ว บุคคลที่เข้ามาเกี่ยวข้องกับการทำธุรกรรม ไม่ว่าจะเป็น หน่วยงานราชการหรือประชาชนผู้เข้ารับบริการจะมี Private Key ที่จะเข้าสู่การยืนยันความเป็นอัตลักษณ์ตัวตนผ่านลายนิ้วมือหรือวิธีอื่นๆ เพื่อพิสูจน์ตัวตนที่แท้จริง

หากเป็นข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับเอกสารจะถูกถอดรหัส หรือที่เรียกว่า Cryptography เพื่อยืนยันความถูกต้องของเอกสารต่างๆ ว่ามีอยู่จริงและมีการจดบันทึกลงใน Ledger เพื่อส่งไปยังหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องหรือที่เรียกว่า Node เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องยืนยันความถูกต้องของเอกสาร หากได้มีการยืนยันความถูกต้องเกี่ยวข้องกับตัวบุคคลและเอกสารแล้ว กระบวนการต่างๆ จะถูกบันทึกไปในระบบบล็อคเชน เรียกวิธีการนี้ว่า Proof of Authority

ธุรกรรมและกระบวนการต่างๆ ที่เกิดขึ้นในระบบราชการจะถูกบันทึกไว้ในบล็อคที่นํามาต่อกับบล็อคก่อนหน้า โดยจะมีโซ่เชื่อมต่อกันเรียกว่า Hash ซึ่งต้องเหมือนกับบล็อคตัวหน้า จึงจะสามารถเชื่อมต่อกันได้

ด้วยวิธีการทํางานของเทคโนโลยีบล็อคเชน ที่เป็นการ Distributed ledger จึงไม่ต้องอาศัยตัวกลางในการดำเนินการ ซึ่งจะช่วยสร้างความโปร่งใสและลดปัญหาการคอรัปชันในกระบวนการต่างๆ ของระบบราชการ เนื่องจากเป็นกระบวนการที่สามารถตรวจสอบได้และไม่มีบุคคลใดในหน่วยงานของรัฐที่จะเข้าแทรกแซง หรือแก้ไขเปลี่ยนแปลงข้อมูลในระบบ

เทคโนโลยีบล็อคเชนยังช่วยให้กระบวนการตรวจสอบและถ่วงดุลการใช้อำนาจระหว่างหน่วยงานของรัฐทำได้ง่ายขึ้น เพราะบล็อคเชนเป็นเทคโนโลยีที่มีความโปร่งใสและไม่สามารถเข้าไปเปลี่ยนแปลงแก้ไขข้อมูลใดๆ เมื่อมีการยืนยันความถูกต้องเรียบร้อยแล้ว ดังนั้น หากมีบุคคลใดเข้ามาแก้ไขเปลี่ยนแปลงหรือดำเนินกระบวนการใดที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย จะทำให้สามารถตรวจสอบและดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิดได้ง่ายขึ้น

นอกจากนี้ การมีรายการเดินบัญชีสาธารณะ (Public Ledger) ของการปฏิบัติงานต่างๆ ในระบบราชการจะช่วยแก้ปัญหาการเรียกรับผลประโยชน์ตอบแทนจากการปฏิบัติหน้าที่ในระบบราชการเพื่อกระทำการบางอย่าง เช่น การแก้ไขเปลี่ยนแปลงเอกสาร การปลอมแปลงเอกสารราชการ การให้สินบนเพื่อให้เจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการหรือไม่กระทำการใดอันมิชอบด้วยหน้าที่ลงได้

อนึ่ง เทคโนโลยีบล็อคเชนจะช่วยแก้ไขปัญหาความล่าช้าในการปฏิบัติงานในระบบราชการ ซึ่งเป็นหนึ่งในปัญหาที่สำคัญที่หากแก้ไขได้ จะเป็นช่องทางลดกระบวนการทุจริตคอรัปชันภายในระบบราชการอีกทางหนึ่งด้วย

เทคโนโลยีบล็อคเชนยังมีจุดเด่นในเรื่องความรวดเร็วในการตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลและเอกสารต่างๆ รวมถึงบุคคลที่มีบทบาทดำเนินการเกี่ยวกับเอกสารที่อยู่ในระบบบล็อคเชน ซึ่งจะทำให้กระบวนการตรวจสอบมีความโปร่งใสและรวดเร็วมากยิ่งขึ้น ทั้งยังสามารถนำตัวผู้กระทำความผิดมาลงโทษได้อย่างมีประสิทธิภาพ

อย่างไรก็ตาม เทคโนโลยีบล็อคเชนยังมีข้อจำกัดบางประการที่อาจต้องพิจารณาก่อนนำมาใช้ในระบบราชการ ไม่ว่าจะเป็น ปัญหาความซับซ้อนของเทคโนโลยีนี้ ซึ่งเป็นนวัตกรรมรูปแบบใหม่ที่มีความซับซ้อนสูง หากนำมาใช้ในระบบราชการอาจต้องพิจารณาหน่วยงานที่จะนำร่องในการนำระบบเทคโนโลยีดังกล่าวมาใช้ โดยเฉพาะหน่วยงานที่มีลักษณะงานไม่มีความซับซ้อน แต่เกี่ยวพันกับประชาชนจำนวนมาก มีปัญหาการทุจริตคอรัปชันที่ค่อนข้างรุนแรง และต้องการนำระบบเทคโนโลยีที่มีความโปร่งใส สามารถตรวจสอบได้มาใช้เพื่อแก้ไขปัญหาการคอรัปชัน

นอกจากนี้ บล็อคเชนเป็นเทคโนโลยีที่ต้องใช้งบประมาณในการลงทุนค่อนข้างสูง และต้องใช้บุคลากรที่มีความรู้เฉพาะด้าน เพื่อทำหน้าที่ดูแลระบบและพัฒนาระบบ ดังนั้น สิ่งที่รัฐจะต้องให้ความสำคัญควบคู่ไปกับการนำระบบเทคโนโลยีดังกล่าวมาใช้ ก็คือการให้ความสำคัญกับการพัฒนาระบบเพื่อให้ระบบเทคโนโลยีบล็อคเชน สามารถนำมาใช้แก้ไขปัญหาการทุจริตคอรัปชันได้อย่างแท้จริง 

ยิ่งไปกว่านั้น สิ่งที่รัฐจะต้องให้ความสำคัญควบคู่กับการนำเทคโนโลยีมาใช้ก็คือ การออกกฎหมายที่ส่งเสริมให้ระบบเทคโนโลยีบล็อคเชนสามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ เนื่องจากบล็อคเชนอาจมีความเกี่ยวข้องกับข้อมูลส่วนบุคคลและกระบวนการในการเข้าถึงซึ่งเอกสารอิเล็กทรอนิกส์ ที่จะต้องกำหนดความชัดเจนของสิทธิและหน้าที่ของหน่วยงานต่างๆ รวมถึงอำนาจในการเข้าถึงเอกสารอิเล็กทรอนิกส์ในระบบเทคโนโลยีบล็อคเชน

อย่างไรก็ตาม ผู้เขียนเชื่อว่าหากนำเทคโนโลยีบล็อคเชนมาใช้ในการแก้ไขปัญหาทุจริตคอรัปชั่นได้จริง ย่อมเป็นการลงทุนที่คุ้มค่าและเป็นการปฏิวัติระบบราชการให้เป็นระบบ ที่ได้รับการยอมรับทั้งในประเทศและในระดับสากลได้

*บทความโดย สุรินรัตน์ แก้วทอง คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์