รัฐบาลไบเดนสามระยะ

รัฐบาลไบเดนสามระยะ

เลือกตั้งสหรัฐฯ ครั้งนี้ ไบเดนชนะ แต่สหรัฐฯ แพ้ เพราะไบเดนไม่ได้ชนะขาดอย่างที่ตนหวังไว้

          ไบเดนหาเสียงปลุกให้คนอเมริกันออกมาส่งสัญญาณอย่างเสียงดังฟังชัดว่า ไม่ต้องการแนวทางการบริหารประเทศและโลกแบบทรัมป์ หลายคนบอกว่า เสียงน่าจะดังพอแล้วหรือยัง เพราะคะแนนเสียงรวมนั้น ไบเดนชนะทรัมป์มากกว่า 5 ล้านเสียง แต่ความจริงคือ เสียงยังดังไม่พอครับ

               อันดับแรก คะแนนห่าง 5 ล้านเสียงนั้น ส่วนใหญ่เป็นคะแนนที่ไบเดนทิ้งห่างทรัมป์ในรัฐแคลิฟอร์เนีย แต่ถ้าตัดรัฐแคลิฟอร์เนียออกไป คะแนนรวมระหว่างทรัมป์และไบเดนนับว่าสูสีเกือบจะเท่ากัน ส่วนที่ไบเดนชนะในรัฐสำคัญต่างๆ จนชนะคะแนน Electoral Vote ที่ 306 ต่อ 232 นั้น ก็มาจากการชนะคะแนนในหลักไม่กี่หมื่นในรัฐสำคัญไม่กี่รัฐเท่านั้น

               ข้อสอง แม้ในการเลือกตั้งครั้งนี้ ไบเดนสามารถปลุกพลพรรคเดโมแครตให้ออกมาเทคะแนนอย่างเต็มที่ โดยเฉพาะผ่านการเลือกตั้งทางไปรษณีย์ จนมีชัยเหนือทรัมป์ แต่ทรัมป์เองได้คะแนนเสียงเยอะกว่าการเลือกตั้งครั้งที่แล้วถึง 10 ล้านเสียง นับว่าได้คะแนนเยอะกว่าผู้สมัครประธานาธิบดีทุกคนในอดีตที่ผ่านมา และเยอะกว่าคะแนนรวมที่ฮิลลารี คลินตันได้ในปี ค.ศ. 2016 เสียอีก แสดงว่าฐานเสียงของทรัมป์ยังคงเหนียวแน่น แถมยังสามารถยึดฐานคะแนนนิยมใหม่ๆ ได้อีก เท่ากับว่าคนอเมริกันกว่าครึ่งยังคงส่งสัญญาณเสียงดังฟังชัดว่า แม้อาจจะรับไม่ได้กับพฤติกรรมส่วนตัวของทรัมป์ แต่ยังคงสนับสนุนแนวนโยบายของทรัมป์อยู่

               ข้อสุดท้าย จากเดิมที่ไบเดนหวังว่า คนอเมริกันจะส่งเสียงชัดเจนด้วยการเลือกวุฒิสมาชิกจากพรรคเดโมแครตเข้าไปจนได้เสียงข้างมาก เพื่อให้เกิดฉันทามติต่อการเปลี่ยนแปลงเหมือนกับการเลือกตั้งของโอบามาในปี ค.ศ. 2008 ซึ่งตอนนั้นคนอเมริกันส่งสัญญาณชัดว่า ไม่พอใจรัฐบาลบุชและปัญหาวิกฤตการเงิน จนทำให้พรรคเดโมแครตชนะขาดทั้งการเลือกตั้งประธานาธิบดีและเสียงในวุฒิสภา แต่ปรากฏว่าในครั้งนี้ พรรคเดโมแครต กลับไม่ประสบความสำเร็จในการครองเสียงข้างมาในวุฒิสภา ส่งผลให้ไบเดนไม่สามารถดำเนินนโยบายได้สุดทางตามใจหวัง เพราะจะไม่ได้รับเสียงสนับสนุนจากวุฒิสภาในการผ่านกฎหมาย รวมทั้งการรับรองรายชื่อรัฐมนตรีกระทรวงต่างๆ ด้วย

               หลายคนถามว่า แล้วไบเดนจะเปลี่ยนแปลงนโยบายต่อจีนอย่างไร ท่ามกลางการบริหารที่ดูเหมือนจะยากลำบาก เพราะมีฝ่ายค้านไบเดนอยู่ครึ่งค่อนประเทศ ผมคิดว่าประเด็นนี้ต้องแบ่งพิจารณาเป็น 3 ระยะครับ

               ในระยะสั้น ตั้งแต่ตอนนี้จนถึงช่วงวันที่ 20 มกราคม ที่ไบเดนจะเข้ารับตำแหน่ง การเมืองสหรัฐฯ น่าจะยังวุ่นวายน่าดู จนถึงบัดนี้ ประธานาธิบดีทรัมป์ก็ยังไม่ยอมรับผลการเลือกตั้ง แม้นักกฎหมายในสหรัฐฯ จะวิเคราะห์ว่าโอกาสที่ทรัมป์จะชนะคดีการโกงเลือกตั้ง จนส่งผลเปลี่ยนแปลงผลการเลือกตั้งนั้น แทบจะเป็นไปไม่ได้

               ระบบของสหรัฐฯ เป็นระบบที่แปลกประหลาด เพราะการถ่ายโอนอำนาจจะเกิดขึ้นภายหลังการเลือกตั้งถึงสองเดือนครึ่ง แตกต่างจากอังกฤษที่การถ่ายโอนอำนาจจะเกิดขึ้นทันทีหลังทราบผลการเลือกตั้ง สมัยก่อนระบบของสหรัฐฯ ก็ไม่มีปัญหาอะไร เพราะผู้แพ้ทุกคนมีน้ำใจนักกีฬา ดำเนินการถ่ายโอนอำนาจและถ่ายทอดงานอย่างราบรื่น แต่ประธานาธิบดีทรัมป์ไม่เหมือนใคร จนวันนี้ก็ยังปฏิเสธที่จะเริ่มกระบวนการถ่ายทอดงานให้กับทีมงานของไบเดน

               นักวิเคราะห์หลายคนในสหรัฐฯ มองว่า ทรัมป์อาจ “วางยา” ไบเดน ไม่ว่าจะเป็นการปล่อยเกียร์ว่างในเรื่องการบริหารจัดการไวรัสโควิด การปฏิเสธที่จะดำเนินการกระตุ้นเศรษฐกิจจนทำให้เศรษฐกิจดิ่งเหว ล่าสุดในด้านนโยบายต่างประเทศ เราจะเห็นข่าวทรัมป์เริ่มจัดการจีนอย่างดุดันด้วยการออกบัญชีห้ามบริษัทสหรัฐฯ ค้าขายกับบริษัทจีนที่มีสายสัมพันธ์กับกองทัพจีน เป็นไปได้ว่า ทรัมป์ต้องการเร่งกระแสความร้อนแรงกับการต่อสู้กับจีน และหากไบเดนกลับมาสวนกระแสโดยลดอุณหภูมิความร้อนแรงในอนาคต ทรัมป์คงเตรียมโจมตีว่าไบเดนอ่อนแอและสยบยอมต่อจีน

               ระยะสั้น เราจะเห็นทรัมป์ดุดันกับจีน ส่วนไบเดนคงต้องสนใจที่จะจัดเตรียมทีมงานและเตรียมพร้อมรับถ่ายทอดงาน ท่ามกลางการขัดขวางและขัดขาทุกอย่างจากฝั่งทรัมป์ ทำให้ไบเดนคงพยายามหลีกเลี่ยงที่จะเปิดศึกต่างประเทศหรือเพิ่มระดับอุณหภูมิความขัดแย้งกับจีน แต่ก็คงไม่สามารถลดระดับอุณหภูมิความขัดแย้งที่ทรัมป์ได้ราดน้ำมันสุมไฟไว้เต็มที่เช่นกัน

               ในระยะกลาง ไบเดนได้ประกาศเรื่องเร่งด่วน 4 เรื่อง คือ แก้วิกฤตโควิด วิกฤตเศรษฐกิจ วิกฤตโลกร้อน และวิกฤตความขัดแย้งเรื่องสีผิว จะเห็นว่าทั้งสี่เรื่องล้วนเป็นเรื่องภายในประเทศทั้งสิ้น ดังนั้น ในระยะกลางช่วง 6 เดือนถึงหนึ่งปีแรก ไบเดนคงต้องทุ่มสรรพกำลังทั้งหมดกับเรื่องภายในประเทศ ถ้าจะมีการต่อสู้ขัดแย้งกับจีน ก็คงเป็นสงครามน้ำลายมากกว่าจะเป็นการต่อสู้เต็มที่อย่างจริงจัง

               แต่ในระยะยาว ไบเดนจะเดินหน้ารวมกลุ่มพันธมิตรจัดการจีน ซึ่งวันนี้เริ่มชัดเจนแล้วว่าจะมีความพิเศษ 2 ข้อ ที่เปลี่ยนแปลงจากยุคทรัมป์ ข้อแรกคือ ไบเดนจะนำประเด็นคุณค่าทางการเมืองมาใช่เป็นไพ่ในการต่อสู้ กดดันจีนเรื่องซินเจียง ธิเบต ฮ่องกง ไต้หวัน ทะเลจีนใต้ และปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนในจีน ไบเดนได้แถลงแล้วว่าจะรวมกลุ่มประเทศประชาธิปไตยมาต่อสู้กับจีน ตรงนี้แตกต่างจากทรัมป์ที่พูดถึงสงครามเศรษฐกิจเป็นหลัก แต่ทรัมป์ไม่ค่อยสนใจเรื่องคุณค่าทางการเมือง

               ข้อสอง คือจะเปลี่ยนจากสงครามการค้า (Trade War) มาเป็นสงครามเทคโนโลยี (Tech War) เต็มรูปแบบ และการต่อสู้ด้านเทคโนโลยีจะไม่ใช่เฉพาะในเทคโนโลยี 4.0 และ 5.0 เช่นในยุคทรัมป์ แต่ไบเดนจะเปิดสมรภูมิการต่อสู้ใหม่ในเทคโนโลยีพลังงานสะอาด ซึ่งไบเดนมองว่าเป็นเทคโนโลยีแห่งอนาคต สำคัญต่อการแก้ปัญหาวิกฤตโลกร้อน และจะมีนัยยะต่อเกมภูมิรัฐศาสตร์โลกในอนาคตหลังยุคน้ำมันด้วย

               การต่อสู้กับจีนในยุครัฐบาลไบเดนจึงอาจผันผวนขึ้นลงเป็นสามระยะ แต่ในระยะยาว ไบเดนจะเป็นคู่แข่งที่น่ากลัวสำหรับจีน เพราะไบเดนจะไม่เพียงทุบจีนให้เจ็บตัวในช่วงสั้นแบบทรัมป์ แต่มีแผนระยะยาวที่เป็นระบบในการสร้างความแข็งแกร่งภายในให้กับการลงทุนในอุตสาหกรรมพลังงานสะอาดของสหรัฐฯ รวมทั้งแสวงพันธมิตรประเทศประชาธิปไตยในการต่อกรจีนพร้อมกันทั้งในด้านเศรษฐกิจและอุดมการณ์ทางการเมือง