7 ส่วนประสมความสำเร็จของ Silicon Valley

7 ส่วนประสมความสำเร็จของ Silicon Valley

เชื่อว่าน้อยคนนักที่จะไม่รู้จักศูนย์กลางของเทคโนโลยี และนวัตกรรมของโลกอย่าง ซิลิคอน วัลเลย์ (Silicon Valley)

ที่นี่ถือบ้านเกิดของบริษัทยักษ์ใหญ่ชั้นนำด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมของโลก และเป็นที่ตั้งของ 39 สำนักงานใหญ่ของเครือบริษัทที่ได้ชื่อว่ามีรายได้สูงสุดจำนวน 1,000 รายในสหรัฐ และถือเป็นศูนย์รวมของการกระจุกตัวของบริษัทรายได้สูงที่สำคัญที่สุดของแถบตะวันตกของสหรัฐ อาทิ Apple, Google และ Facebook เป็นต้น

หลายคนถกเถียงกันถึง ส่วนประสมแห่งความสำเร็จของ Silicon Valley ว่ามาจากอะไร และเราสามารถเรียนรู้อะไรได้บ้างจากกรณีศึกษานี้

1. ทำเลที่ตั้งของ Silicon Valley ที่บริเวณอ่าวซานฟรานซิสโก ที่มีเมืองซานฟรานซิสโกและซานโฮเซ เมืองใหญ่อันดับต้นๆ ของสหรัฐ มีประชากรหนาแน่น และที่สำคัญที่สุด มีมหาวิทยาลัย Standford และ UCLA Berkeley อันมีชื่อเสียงที่โด่งดังและมาตรฐานที่สูง คอยผลิตบุคลากรทางธุรกิจและเทคโนโลยีป้อนตลาด

ทั้งมหาวิทยาลัยยังมุ่งเน้นภาคปฎิบัติจึงตอบโจทย์ภาคธุรกิจได้ดี และเอื้อต่อการสร้างสภาวะแวดล้อมการสร้างผู้ประกอบการรุ่นใหม่

2. ภูมิอากาศที่ดี แสงแดดอุ่นๆ ไม่ร้อนไม่หนาวเกินทำให้ นักศึกษาคุณภาพจากทั่วสหรัฐที่เดินทางมาเรียนที่สองมหาลัยดังตัดสินใจย้ายถิ่นฐานอยู่ต่อที่นี่

3. มีงานให้เลือกทำงานมาก เมื่อคนมีคุณภาพ โดยเฉพาะด้านเทคโนโลยีอาศัยอยู่มาก บริษัททั้งเล็กใหญ่ก็มาตั้งที่นี่ตามหลักเศรษฐศาสตร์ Demand & Supply เพื่อดึงดูดคนเก่งเหล่านี้มาช่วยพัฒนาบริษัท

คนเก่งยังดึงดูดคนเก่ง ให้ย้ายมาทำงานที่นี่เพิ่มเพราะต้องการพัฒนาตัวเองภายใต้สภาพแวดล้อมที่เต็มไปด้วยคนเก่ง ทำให้แรงงานมีฝีมือเฉพาะทางเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วยิ่งขึ้นเสมือนก้อนหิมะที่ตกลงจากภูเขาสูงที่ใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ อย่างรวดเร็ว ซึ่งภาษาทางธุรกิจเรียกว่าปรากฎการณ์ Snowball

4. ความคิดแบบผู้ประกอบการ Entrepreneurship เป็นที่นิยมเพราะ มีตัวอย่างที่ประสบความสำเร็จเป็นแม่แบบ เช่น Facebook, Snapchat และมีเงินลงทุนมากมายที่พร้อมร่วมหัวจมท้ายกับไอเดียที่ใหม่และดี

5. การพัฒนาไอเดียใหม่ให้เป็นผลิตภัณฑ์นั้นไม่ยาก เมื่อมีความคิดใหม่ๆ มีบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญในการพัฒนาหรือเขียนโค้ดให้ไอเดียนั้นเกิดเป็นรูปธรรม และมีคนคิดเรื่องเชิงพาณิชย์ เพื่อให้ผลิตภัณฑ์ทำกำไรได้เป็นเรื่องง่าย สังเกตได้จากบริษัท Startup ชั้นนำล้วนเกิดขึ้นจากความเชี่ยวชาญเฉพาะทางของคนใดคนหนึ่ง แล้วจึงมารวมกลุ่มกันเพื่อเติมเต็มในสิ่งที่ตนขาด

6. การกระจุกตัวที่หนาแน่นของคนเก่ง ทำให้ต้อง พัฒนาผลิตภัณฑ์ที่รวดเร็ว เกิดเป็นแนวคิด "Try fast and fail cheap - ลองทำไปก่อน แล้วค่อยพัฒนาให้ดีขึ้นไป" เพื่อพัฒนาแนวคิดที่ดีมาเป็นผลิตภัณฑ์ให้เร็วที่สุด และปรับเปลี่ยนพัฒนาตามพฤติกรรมของผู้บริโภคเมื่อได้ใช้ผลิตภัณฑ์จริงเพราะการแข่งขันดุเดือด ผลิตภัณฑ์ที่คุณภาพพอใช้ได้แต่ออกสู่ตลาดได้เร็ว ย่อมดีกว่าผลิตภัณฑ์ที่ดีเลิศแต่กว่าจะออกสู่ตลาดนั้นใช้เวลานาน เช่น การออกแบบไอโฟน หรือแอฟลิเคชั่นที่มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา

7. ภาวะตลาดเสรี ที่กระตุ้นการแข่งขันอย่างอิสระ ทำให้เกิดการต่อยอดทางความคิดเพื่อนำไอเดียที่ดีกว่า ไอเดียที่ช่วยแก้ไขปัญหา ตอบโจทย์พฤติกรรมหรืออำนวยความสะดวกแก้ผู้บริโภคได้มากกว่า สู่ตลาดเพื่อทดลองและแข่งขัน

มหาวิทยาลัย บริษัท ตลาด แนวคิด และแรงงานมีฝีมือที่กระจุกตัวรวมกันรอบอ่าวซานฟรานซิสโก คือ 5 ตัวละครหลักที่นำพาความสำเร็จสู่ Silicon Valley หวังใจว่าจะได้เห็น Silicon Valley ในไทยเร็วๆ นี้ เพราะตอนนี้มหาวิทยาลัยชั้นนำของไทยตื่นตระหนักถึงบทบาทที่สำคัญในฐานะเรือธงและมีความพยายามที่จะเอื้ออำนวยในการสร้างสภาวะแวดล้อมสู่การพัฒนาผู้ประกอบการและเทคโนโลยีสัญชาติไทยต่อไป