ระบบสุขภาพในอนาคต: เมื่อผู้รับบริการเป็นใหญ่

ระบบสุขภาพในอนาคต: เมื่อผู้รับบริการเป็นใหญ่

ผู้ที่เข้าใจทิศทางการเปลี่ยนแปลงในอนาคต จะสามารถเตรียมความพร้อม เพื่อลดความเสี่ยงและแสวงหาโอกาสใหม่ ๆ ที่จะเกิดขึ้น จนเกิดความได้เปรียบแก่ตน

บทความตอนที่แล้ว ผมได้นำเสนอ ทิศทางการเปลี่ยนแปลงของระบบสุขภาพไปแล้ว 3 ประการ คือ บริการสุขภาพครบวงจร (Integration) การดูแลสุขภาพแบบองค์รวม (Holism) และ บริการสุขภาพเชิงพาณิชย์ (Profitization) บทความตอนนี้ ผมจะขอนำเสนอแนวโน้มระบบสุขภาพในอนาคตอีก 6 ประการ ดังนี้

ประการที่ 4 Consumerization: ประชาชนเป็นศูนย์กลาง

ระบบบริการสุขภาพมีแนวโน้มเปลี่ยนจาก ผู้ให้บริการเป็นศูนย์กลาง (provider-centric) เป็นผู้ป่วยหรือประชาชนเป็นศูนย์กลาง (patient- and people-centric) มากขึ้น

ที่ผ่านมา การให้บริการสุขภาพ โดยเฉพาะในสถานพยาบาลภาครัฐ ไม่ได้ให้ความสำคัญมากนักกับความสะดวกที่ผู้ป่วยจะได้รับ ผู้ป่วยนอก (OPD) ต้องมาจองคิวแต่เช้า ขาดระบบนัดหมายล่วงหน้า ทำให้ต้องรอพบแพทย์เป็นเวลานาน จนเกิดความแออัดของสถานพยาบาล ส่วนการรับบริการอาจมีหลายขั้นตอน ต้องติดต่อหลายแผนกหรือหลายอาคาร ซึ่งยากต่อการทำความเข้าใจ

ในอนาคต ระบบสุขภาพจะอำนวยความสะดวกแก่คนไข้มากขึ้น โดยจัดระบบบริการที่เข้าถึงได้ง่าย ไม่สับสน ให้บริการอย่างมีคุณภาพ ได้มาตรฐาน ให้ความสำคัญกับคุณค่าที่ผู้รับบริการจะได้รับ และให้ความเคารพต่อผู้ป่วยมากขึ้น เนื่องจากเทคโนโลยีจะทำให้การตอบสนองความต้องการของผู้ป่วยได้ดีขึ้น ประกอบกับผู้รับบริการเข้าถึงความรู้เกี่ยวกับการบริการสุขภาพมากขึ้น ทำให้เกิดความคาดหวังว่าจะได้รับการบริการที่ดี สมเหตุสมผล และให้ความสำคัญกับการปกป้องสิทธิของคนไข้มากขึ้นด้วย

ประการที่ 5 Coordination: บริการสุขภาพแบบมีส่วนร่วม

ระบบบริการสุขภาพจะให้ความสำคัญของการมีส่วนร่วมมากขึ้น จากเดิมที่การบริการเกิดขึ้นในสถานพยาบาลเท่านั้น กล่าวคือ ผู้ป่วยต้องเดินทางไปรับบริการ ส่วนผู้ให้บริการเป็นผู้เชี่ยวชาญและเป็นผู้ดำเนินการเองทั้งหมด เปลี่ยนไปสู่ การร่วมมือในการให้บริการ (care coordination) โดยผู้ป่วยและครอบครัวจะกลายเป็นหุ้นส่วนของการรักษาและการดำเนินการด้านสุขภาพ ควบคู่ไปกับบุคลากรทางการแพทย์

ทั้งนี้ เนื่องจากอัตราการเป็นโรคไม่ติดต่อ (NCDs) เพิ่มขึ้น ซึ่งมักเป็นโรคที่ใช้เวลาในการรักษา หรือรักษาไม่หาย เช่น โรคหัวใจ เบาหวาน ความดัน คอเลสเตอรอลสูง มะเร็ง เป็นต้น การรักษาต้องอาศัยวินัยของคนไข้และการดูแลจากครอบครัว ขณะเดียวกันบริการสุขภาพเชิงป้องกันขยายตัวขึ้น และความต้องการทางเลือกของบริการสุขภาพมากขึ้น เป็นต้นว่า ความต้องการรับการบริการสุขภาพที่บ้านมากขึ้น โดยเฉพาะผู้สูงอายุ ทำให้การดูแลสุขภาพที่จะประสบความสำเร็จ ต้องได้รับความร่วมมือจากคนไข้และครอบครัวมากขึ้น

ประการที่ 6 Decentralization: การกระจายอำนาจจัดการด้านสุขภาพ

การจัดการระบบสุขภาพจะมีการกระจายอำนาจหรือกระจายตัวมากขึ้น จากเดิมที่ รวมศูนย์การดำเนินการโดยภาครัฐหรือสถานพยาบาล เปลี่ยนเป็น การกระจายอำนาจการบริการสุขภาพ และการจัดการด้านสุขภาพโดยชุมชนและประชาชน โดยเฉพาะการบริหารจัดการระบบสุขภาพในระดับปฐมภูมิ การจัดสรรงบประมาณด้านสุขภาพไปยังชุมชนจะเพิ่มขึ้น เนื่องจากการกระจายอำนาจมีประสิทธิภาพมากขึ้น กิจกรรมการบริการสุขภาพเชิงป้องกันมากขึ้น และโรคระบาดในอนาคตอาจทำให้เกิดความเสี่ยงต่อระบบสุขภาพแบบรวมศูนย์ เพราะหากมีบุคลากรติดเชื้อจะทำให้โรงพยาบาลมีความเสี่ยงถูกปิด หรือทำให้บุคลากรจำนวนหนึ่ง ถูกกักตัว ไม่สามารถปฏิบัติงานได้

ประการที่ 7 Informatization: สารสนเทศสุขภาพส่วนบุคคล

แนวโน้มบริการทางการแพทย์ จะใช้ประโยชน์จากสารสนเทศสุขภาพส่วนบุคคล (Personal Health Informatics) เพื่อให้บริการที่เจาะจงกับแต่ละบุคคลได้มากขึ้น ด้วยความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี ทำให้เกิดการพัฒนาอุปกรณ์ทางเทคโนโลยีที่สามารถเชื่อมต่อและรองรับข้อมูลจำนวนมาก ซึ่งช่วยตรวจวัดข้อมูลสุขภาพของปัจเจกบุคคล ส่งผลให้ผู้ให้บริการสามารถติดตามข้อมูลสุขภาพของผู้รับบริการได้ตลอดเวลา สามารถวางแผนการดูแลสุขภาพ ป้องกันหรือแจ้งเตือนก่อนที่จะป่วยรุนแรง รวมทั้งตอบสนองได้ทันทีหากพบปัญหา และสามารถดูแลผู้ป่วยเรื้อรังได้ดียิ่งขึ้น ในขณะเดียวกัน ประชาชนจะดูแลสุขภาพตัวเองได้ดีขึ้น เพราะสามารถเข้าถึงข้อมูลสุขภาพของตัวเองได้มากขึ้น และสามารถรับคำปรึกษาด้านสุขภาพได้ตลอดเวลา

ประการที่ 8 Precision: บริการสุขภาพที่แม่นยำ

การตรวจวินิจฉัยและการรักษาจะมีความถูกต้องแม่นยำมากขึ้น เนื่องจาก

(1) ผู้ให้บริการสุขภาพจะมีข้อมูลจำนวนมากเกี่ยวกับตัวผู้ป่วย อุปกรณ์วัดข้อมูลสุขภาพในอนาคต จะวัดได้มากกว่า การเต้นของหัวใจ จำนวนก้าวของการเดิน อุณหภูมิ การหายใจ และความดันโลหิต แต่สามารถวัดข้อมูลอื่น ๆ ได้มากขึ้น ง่ายขึ้น และราคาถูกลง เช่น ข้อมูลพันธุกรรม จุลชีพในร่างกาย คลื่นหัวใจ ม่านตา สารเคมีในร่างกายและข้อมูลชีวภาพ พฤติกรรมบุคคล อิริยาบถต่าง ๆ การกิน อารมณ์ ความเครียด หรือวัดข้อมูลสภาพแวดล้อมที่บุคคลนั้นอาศัยอยู่ เช่น ตำแหน่งภูมิศาสตร์ การเชื่อมต่อทางสังคม สภาพอากาศ จุลชีพหรือมลพิษในอากาศ เป็นต้น

(2) ผู้ปฏิบัติงานทางการแพทย์ จะมีการเชื่อมต่อระหว่างกันที่ดีขึ้น ระบบคลาวด์และ 5G จะทำให้บุคลากรการแพทย์เข้าถึงและแบ่งปันข้อมูลระหว่างกันได้มากขึ้นและง่ายดายยิ่งขึ้น แพทย์จะสามารถแบ่งปันข้อมูลด้านสุขภาพของผู้ป่วย ไปยังผู้เชี่ยวชาญได้ทันที ทำให้การวินิจฉัยโรค และการกำหนดแนวทางการรักษาถูกต้องและแม่นยำมากขึ้น

(3) เทคโนโลยีทางการแพทย์ก้าวหน้ามากขึ้น เช่น การรักษาในระดับพันธุกรรม (gene therapy) การพัฒนายาที่ออกฤทธิ์เฉพาะจุดที่เป็นโรค หุ่นยนต์ที่ทำหน้าที่ผ่าตัด หุ่นยนต์ขนาดจิ๋วที่สามารถเข้าไปทำลายไขมันหรือลิ่มเลือดที่อุดตันในเส้นเลือดได้ การใช้ MRI scan และ 3D Printer จำลองอวัยวะภายในของบุคคล เพื่อการวางแผนและซักซ้อมการผ่าตัด หรือการสร้างชิ้นส่วน อวัยวะเทียม ผิวหนังเทียม เป็นต้น

ประการที่ 9 Accession: การเข้าถึงบริการสุขภาพ

ในอนาคต เทคโนโลยีและนวัตกรรมทางการแพทย์ จะทำให้ผู้คนจะเข้าถึงบริการสุขภาพได้ง่ายขึ้น ต้นทุนในการเข้าถึงลดลง และลดความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงบริการสุขภาพที่มีคุณภาพ เช่น

(1) การพัฒนา telehealth หรือ telemedicine ทำให้ผู้ป่วยที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกล สามารถเข้าถึงการตรวจรักษาจากแพทย์ที่เชี่ยวชาญเฉพาะด้านได้ รวมไปถึงการเข้าถึงการรักษาที่ซับซ้อนมากขึ้น ด้วยการพัฒนา tele-ICU และการผ่าตัดทางไกล โดยใช้หุ่นยนต์ผ่าตัดที่ถูกควบคุมจากแพทย์ในระยะไกล

(2) การพัฒนา AI Doctor ทำหน้าที่ตรวจ วินิจฉัย และจ่ายยา แทนแพทย์ ในชนบทห่างไกล

(3) การพัฒนา Chatbot ทางการแพทย์ เพื่อให้คำปรึกษาทางการแพทย์อัตโนมัติ (e-consults) 

เทคโนโลยีทางการแพทย์จะเข้ามามีบทบาทมากขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เพื่อลดความเสี่ยงในการติดเชื้อ ลดการสัมผัส ลดความเครียด ลดภาระงานในภาวะที่มีความขาดแคลนบุคลากรทางการแพทย์ และเพิ่มประสิทธิสภาพในการให้บริการมากขึ้น

ผู้ที่เข้าใจทิศทางการเปลี่ยนแปลงในอนาคต จะสามารถเตรียมความพร้อม เพื่อลดความเสี่ยงและแสวงหาโอกาสใหม่ ๆ ที่จะเกิดขึ้น จนเกิดความได้เปรียบแก่ตนและองค์กร ยิ่งหากผู้นั้นอยู่ในระบบสุขภาพ เขาอาจสร้างประโยชน์แก่ผู้คนจำนวนมากและประเทศชาติได้ด้วย