กระเป๋าสตางค์หล่นหาย...จะได้คืนไหมหนอ?

กระเป๋าสตางค์หล่นหาย...จะได้คืนไหมหนอ?

รู้ไหมว่า คุณมีโอกาสสูงทีเดียว ที่จะได้เงินในกระเป๋ากลับคืนมา

แต่กระเป๋าของคุณจะต้องมีเงินมากพอสมควร ถ้าหากมีนิดเดียว กระเป๋าสตางค์ก็คงหายลับไปกับสายลม

คุณรู้สึกตรงกันข้ามกับที่ผมพูดใช่ไหม เพราะถ้ากระเป๋าสตางค์หาย โอกาสได้เงินคืนโดยทั่วไปก็แทบจะไม่มีอยู่แล้ว ยิ่งถ้ามีเงินมากๆ ใครที่ไหนเขาจะเอามาคืน?

แต่ผมไม่ได้พูดเล่นๆนะครับ เพราะมีการทำกระเป๋าสตางค์หล่นหายจริงๆ เกือบ 20,000 ใบ ใน 40 ประเทศทั่วโลก และใช้เวลาทดลองอยู่นานถึง 3 ปี จนในที่สุดก็สรุปผลตีพิมพ์ในวารสาร “Science” เมื่อเดือนมิถุนายน 2019 นี่เอง

เรื่องของเรื่องก็คือ นักวิจัยตั้งใจ ทำให้เงินหล่นหาย แล้วรอดูว่าจะมีใครนำกระเป๋าสตางค์ ส่งกลับคืนมาหรือไม่ ราวกับเป็นการทดลองเพื่อทดสอบคุณธรรม ในจิตใจมนุษย์ ไปด้วยในตัวแหละครับ

คนทั่วไปคงเชื่อว่า เงินทองเป็นของหายาก คนที่เก็บกระเป๋าสตางค์ได้ ส่วนใหญ่คงไม่มีใครส่งคืน และมีแนวโน้มที่จะเก็บเงินไว้ใช้เองอยู่แล้ว

แต่ผลการวิจัย ไม่ได้ออกมาเช่นนั้นครับ

ก่อนอื่นจะต้องบอกว่า นักวิจัยไม่ได้เอาเงินใส่กระเป๋า แล้วแกล้งทำหล่นเฉยๆ ตามถนนหนทางนะครับ กระเป๋าสตางค์ที่ถูก ทำให้หายทั้งหมด 17,303 ใบ  หายไป อย่างเป็นระบบใน 355 เมือง 40 ประเทศ ทั่วโลก

กระเป๋าทุกใบ ใส่นามบัตรไว้ ระบุชื่อเจ้าของซึ่งเป็นผู้ชาย ถ้าวิจัยในรัสเซีย นามบัตรก็ใช้ชื่อว่า Dimitry Ivanov ถ้าทำในอเมริกาก็ใช้ชื่อ Brad O’Brien เพื่อให้เป็นชื่อที่ดูสมจริง และสอดคล้องกับชื่อของคนในประเทศนั้นๆ

นามบัตรยังระบุอีเมล์ไว้ด้วย ใส่ตำแหน่งว่าเป็น “วิศวกรซอฟแวร์อิสระ และไม่มีชื่อบริษัท คือเจตนาให้ติดต่อกลับไปที่เจ้าของโดยตรง

นอกจากนั้น เพื่อให้สมจริงยิ่งขึ้น ในกระเป๋ายังมี กุญแจ อีกดอกหนึ่ง มีรายการอาหารที่จะต้องซื้อ เช่นนม น้ำดื่ม ขนมปัง กล้วยหอม ฯลฯ เขียนเป็นภาษาของประเทศนั้นๆ ส่วนกระเป๋าที่หล่นหาย บางใบก็ไม่มีเงินเลย แต่บางใบ มีเงินสดสกุลของประเทศนั้นๆ เทียบเท่า $13.45 หรือประมาณ 450 บาท

ส่วนวิธีการ ในการทำกระเป๋าสตางค์หล่นหาย นั้น ก็ให้นักวิจัยผู้ช่วย เดินเข้าไปที่ แผนกต้อนรับ ของที่ทำการไปรษณีย์ หรือ สถานีตำรวจ โรงพยาบาล โรงแรม ธนาคาร พิพิธภัณฑ์ ฯลฯ แล้วบอกเจ้าหน้าที่ต้อนรับว่า

ผมเก็บกระเป๋าสตางค์ได้ แต่ต้องรีบเดินทาง รบกวนช่วยจัดการ ส่งกระเป๋ากลับคืนให้เจ้าของด้วยนะครับ/นะคะ

จากนั้นทีมวิจัยก็รอติดตามผล ว่า พนักงานต้อนรับ ที่รับกระเป๋าไปนั้น จะติดต่อเพื่อส่งกระเป๋าสตางค์กลับคืนเจ้าของ ตามสถานที่ติดต่อบนนามบัตรนั้น หรือไม่ 

ผลที่ได้ก็คือ มนุษย์เกือบทุกชาติทุกภาษา มีจิตใจที่ดีกว่าที่คนทั่วไปคิดครับ เพราะใน 38 ประเทศ (ยกเว้น เปรู และ เม็กซิโก) พนักงานต้อนรับที่ได้รับกระเป๋า ซึ่งบรรจุเงิน $13.45 มีจำนวนมากถึง 51% ที่ติดต่อส่งคืน ขณะที่กระเป๋าซึ่งไม่ได้บรรจุเงิน มีการติดต่อส่งคืน 40%

ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น

นักวิจัยอธิบายว่า โดยทั่วไปคนเรามีจิตใจดี การได้กระเป๋าที่มีเงิน ถ้าหากเก็บไว้ก็จะทำให้เกิดความรู้สึกว่า ตนเองเป็นคนไม่ซื่อสัตย์ ถ้ากระเป๋ามีเงินมากๆ ความรู้สึกเช่นนี้ก็จะมากยิ่งขึ้น

นักวิจัยมีความพิถีพิถัน ขนาดบันทึกรายละเอียดไว้ด้วยว่า พนักงานต้อนรับที่รับกระเป๋าเงินไว้นั้น กำลังยุ่งอยู่หรือเปล่า มีคอมพิวเตอร์ที่พร้อมจะใช้ส่งอีเมล์ อยู่ด้วยหรือเปล่า มี CCTV ที่บันทึกภาพการรับกระเป๋าสตางค์ไว้ หรือเปล่า ฯลฯ และสรุปว่าปัจจัยเหล่านี้ ไม่ได้มีผลอย่างมีนัยสำคัญ ต่อพฤติกรรมการส่งหรือไม่ส่งคืนกระเป๋าสตางค์เลย

กรณีที่ได้รับอีเมล์แจ้งว่า จะส่งกระเป๋าสตางค์กลับคืนมา นักวิจัยก็แจ้งกลับไปยังพนักงานต้อนรับเหล่านั้นว่า ไม่เป็นไร ขอบคุณมากครับ ขอให้ท่านเก็บเงินในกระเป๋า ไว้ใช้ได้เลยนะ

แถมยังรอบคอบ ด้วยการไปทำวิจัยเพิ่มเติมใน 2 ประเทศ เพื่อทดสอบดูว่าถ้าหากแจ้งให้เขาส่งกระเป๋าสตางค์กลับคืนมาจริงๆ เขาจะส่งคืนแค่กระเป๋าเปล่าๆ แต่เก็บเงินไว้ใช้เองหรือเปล่า

นักวิจัยเลือกไปวิจัยเพิ่มที่ สวิสเซอร์แลนด์ เพราะที่นั่นมีการคอรัปชั่นน้อยมาก และอีกแห่งคือ สาธารณรัฐเชค เพราะที่นั่นคอรัปชั่นสูงมากๆ แต่ผลก็ออกมาเหมือนกันครับ คือ กระเป๋าที่ส่งกลับคืนมานั้น มีสตางค์อยู่ครบถ้วนครับ

สรุปก็คือมนุษย์เรา มีจิตใจที่ดีพอใช้ทีเดียว

หรือว่าเงิน $13.45 อาจจะน้อยเกินไป?  ถ้ามีเงินมากกว่านี้พฤติกรรมจะเปลี่ยนไปหรือไม่ ก็ต้องทดลองอีกแหละครับ คราวนี้ทำใน 3 ประเทศคือ เปรู อังกฤษ และอเมริกา โดยเพิ่มเงินในกระเป๋าจาก $13.45 เป็น $94.15 มากขึ้นอีกหลายเท่าเลย

ปรากฎว่า ผลออกมาดีกว่าเดิม เสียอีกครับ

ผู้ได้รับกระเป๋าซึ่งบรรจุเงิน $94.15 มีจำนวนถึง 72% ที่ติดต่อขอส่งกระเป๋าเงินกลับคืน เปรียบเทียบกับ 61% เมื่อกระเป๋ามีเงินเพียง $13.45

คุณอาจสงสัยว่าใครเป็นคนวิจัยเรื่องนี้ แล้วเขาเอาเงินจากไหน มา “โปรย” แบบนี้ คนทำคือทีมศาสตราจารย์จาก มหาวิทยาลัยมิชิแกน ซึ่งได้รับเงินสนับสนุนส่วนหนึ่ง $600,000 จากสถาบัน Think Tank ของสวิส ครับ

ประเด็นสุดท้าย ที่ผมอยากจะบอกก็คือ แต่ละประเทศ ส่งกระเป๋าสตางค์กลับคืน เป็นสัดส่วนที่แตกต่างกันครับ ที่ส่งกลับคืน มากที่สุด ก็คือ สวิส และ กลุ่มแสกนดิเนเวีย และที่ น้อยที่สุด ก็คือ จีน และ มอรอคโค

ประเทศไทยเรา ก็อยู่ในการทดลองครั้งนี้ด้วยนะครับ แต่อยู่แถวไหน ส่งเงินกลับคืนมากน้อยเพียงใด เราควรภูมิใจ หรืออับอายชาวโลกหรือไม่ เห็นทีจะต้องว่ากันครั้งต่อไปครับ

แต่ระหว่างนี้ ก็อย่าไปทำกระเป๋าสตางค์หล่นหาย ตามท้องถนนที่ไหนนะครับ เพราะถ้าไม่ได้รับคืน แล้วจะหาว่าหล่อไม่เตือน