ประเทศที่มีดัชนี อี-กอฟเวอร์เมนท์สูงเป็นอันดับหนึ่ง คือ เดนมาร์ก
เมื่อเร็วๆ นี้ สหประชาชาติ เผยรายงาน การสำรวจด้านรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ (E-Government Survey 2020) ซึ่งมีขึ้นทุกสองปี และดำเนินการต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2544 โดยมีการจัดอันดับ อี-กอฟเวิร์นเมนท์ ประเทศต่างๆ ทั่วโลกจำนวน 193 ประเทศ เป็นการหาค่าดัชนีที่เรียกว่า อี-กอฟเวอร์เมนท์ เดเวลลอปเมนท์ (EGDI) มาจากการหาเฉลี่ยขององค์ประกอบ 3 ด้านคือ ดัชนีการบริการออนไลน์ (OSI) ดัชนีโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคม (TII) และ ดัชนีด้านทุนมนุษย์ (HCI) มีช่วงค่าคะแนนเฉลี่ยระหว่าง 0 ถึง 1
ผลจัดอันดับปีนี้พบ ค่าเฉลี่ย EGDI ของประเทศทั่วโลกขึ้นมาอย่างต่อเนื่องจากการสำรวจที่ผ่านมา ปีนี้มีค่าอยู่ที่ 0.6 เมื่อเทียบกับ 0.55 เมื่อปี 2561 ขณะที่ พบว่า ค่าเฉลี่ยดัชนี TII เพิ่มขึ้นมากสะท้อนให้เห็นว่าประเทศต่างๆ ทั่วโลกได้ปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคมอย่างมาก ส่วนค่าเฉลี่ยดัชนี HCI และ OSI มีการปรับปรุงดีขึ้นเล็กน้อย
สหประชาชาติแบ่งกลุ่มประเทศทางด้านอี-กอฟเวอร์เมนท์ เป็น 4 กลุ่ม คือ กลุ่มระดับสูงมาก มีค่าระหว่าง 0.75-1.00 กลุ่มระดับสูง มีค่าระหว่าง 0.5-0.75 กลุ่มระดับกลาง มีค่าระหว่าง 0.25-0.5 และกลุ่มระดับต่ำ มีค่าระหว่าง 0-0.25 รอบนี้มีประเทศที่อยู่ในกลุ่มระดับสูงมาก57 ประเทศ มากกว่าในปี 2561 ที่มีเพียง 40 ประเทศ มีกลุ่มระดับสูงจำนวน 69 ประเทศ กลุ่มระดับกลาง 59 ประเทศ และมีเพียงแค่ 8 ประเทศที่อยู่ในกลุ่มระดับต่ำ และโดยเฉลี่ยประเทศในยุโรปจะมีคะแนน EGDI ดีสุดที่ 0.81 ตามมาด้วยประเทศในทวีปเอเซีย 0.64 ทวีปอเมริกา 0.63 ส่วนทวีปแอฟริกาจะอยู่ต่ำสุดที่ 0.39
ประเทศที่มีดัชนี อี-กอฟเวอร์เมนท์สูงเป็นอันดับหนึ่ง คือ เดนมาร์ก มีคะแนน 0.9758 ครองอันดับหนึ่งมาตั้งแต่ปี 2561 อันดับที่สอง คือ เกาหลีใต้ คะแนน 0.9560 ซึ่งในอดีตช่วงปี 2553-2557 เคยอยู่อันดับหนึ่งมาตลอด ส่วนประเทศที่มีอับดับรองลงมา คือ เอสโตเนีย ฟินแลนด์ และออสเตรเลีย ทั้งนี้ เอสโตเนีย น่าสนใจมากที่ขึ้นจากอันดับ 16 ปี 2561 มาอยู่อันดับที่ 3
ส่วนกลุ่มประเทศในเอเซียน นอกจากเกาหลีใต้แล้ว ประเทศที่มีอันดับคะแนนสูง คือ สิงคโปร์ ญี่ปุ่น สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และคาซัคสถาน อยู่อันดับที่ 11, 14, 22 และ 29 ของโลกตามลำดับ
ขณะที่ประเทศไทยมีคะแนนดัชนีด้าน อี-กอฟเวอร์เมนท์ อยู่ที่ 0.7565 เป็นอันดับที่ 57 และเป็นประเทศอันดับสุดท้ายในกลุ่มระดับสูงมาก โดยมีค่าดัชนีด้านทุนมนุษย์อยู่ที่ 0.7751 ดัชนีการบริการออนไลน์อยู่ที่ 0.7941 และดัชนีด้านโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคมอยู่ที่ 0.7004
ประเทศไทยเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ ในอาเซียน มีเพียงสิงคโปร์ และมาเลเซีย เท่านั้นที่มีอันดับสูงกว่า ทั้งนี้อันดับในปีนี้ของไทยสูงขึ้นมาจากปี 2561 ซึ่งอยู่ที่ 73 และหากดูข้อมูลผลการสำรวจในอดีตจะเห็นได้ว่า ประเทศไทยมีอันดับดีขึ้นมาอย่างต่อเนื่องจาก 77 ในปี 2557และ 102 ในปี 2559
นอกจากนี้ สหประชาชาติยังจัดลำดับการมีส่วนร่วมด้านการมีส่วนของประชาชนผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ (E-participation) เช่น การลงคะแนนอิเล็กทรอนิกส์ (E-Voting) หรือการเปิดข้อมูลภาครัฐ (Open Government Data) ซึ่งมีประเทศที่อยู่อันดับหนึ่งร่วมกัน คือ ประเทศเอสโตเนีย เกาหลีใต้ และสหรัฐอเมริกา โดยได้คะแนนเต็ม 1.00 ส่วนประเทศไทยอยู่อันดับที่ 51 มีคะแนน 0.7738 จัดอยู่กลุ่มระดับสูงมาก และมีพัฒนาการที่ดี ขึ้นจากอันดับที่ 82 ในปี 2561
ผลสำรวจที่สำคัญอีกเรื่อง คือ การพัฒนาด้านรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ส่วนท้องถิ่น สำรวจจากเมืองต่างๆ ทั่วโลก 86 แห่ง โดยพิจารณาข้อมูลการบริการออนไลน์ส่วนท้องถิ่น (LOSI) เทคโนโลยีที่ใช้ เนื้อหาหรือบริการที่มี การมีส่วนร่วมของภาคส่วนต่างๆ จากผลการสำรวจ นครมาดริด ประเทศสเปน มีคะแนนเป็นอันดับหนึ่งที่ 0.9625 ตามด้วยนิวยอร์ก 0.9125 ส่วน กรุงเทพมหานคร อยู่อันดับที่ 39 ได้คะแนน 0.4375 จัดอยู่ในกลุ่มระดับกลาง แต่ก็ติดอยู่ในสิบอันดับของเมืองที่มีเทคโนโลยีในการบริการออนไลน์ส่วนท้องถิ่นที่ดี
สหประชาชาติให้ความสำคัญกับงานด้านรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ของประเทศต่างๆ ทั่วโลก และตั้งเป้าให้มีการพัฒนาอย่างยั่งยืนในปี 2573 และเน้นการทำ ดิจิทัล ทรานส์ฟอร์เมชั่นในภาครัฐของประเทศต่างๆ เช่นกัน
จากผลสำรวจครั้งนี้ก็น่าดีใจที่เห็นประเทศไทยมีพัฒนาการที่ดี ส่วนหนึ่งคงต้องชื่นชมหน่วยงานภาครัฐต่างๆ ที่พยายามผลักดันนโยบายที่ดีทั้งทางด้านรัฐบาลดิจิทัลและการเปิดเผยข้อมูลภาครัฐ ซึ่งหากเรายังทำงานเรื่องนี้กันอย่างต่อเนื่องก็เชื่อว่า ในอนาคตประเทศไทยก็คงสามารถก้าวไปสู่การเป็นรัฐบาลดิจิทัลได้อย่างเต็มรูปแบบ