สามเหลี่ยมเขยื้อนภูเขา เป็นเรื่องของการทดลอง

สามเหลี่ยมเขยื้อนภูเขา เป็นเรื่องของการทดลอง

เคยฟังนักวิชาการจากค่ายที่ผลักดันระบบประกันสุขภาพแห่งชาติ พูดถึงหลักการสามเหลี่ยมเขยื้อนภูเขานี้ 2-3 ครั้ง เป็นเรื่องของความร่วมมือ 3 ฝ่าย

ระหว่าง “รัฐบาล ข้าราชการ และประชาชน” โดยเฉพาะภาคประชาชนนั้นเป็นการดำเนินการผ่านองค์กรเพื่อการพัฒนาเอกชน หรือ NGO ที่ทำงานเกี่ยวกับผู้บริโภคในระบบสุขภาพและบริการสาธารณสุขในประเทศไทย แล้วก็คิดว่าน่าจะเป็นเพียงแนวคิด หรือแนวทางการดำเนินงานในช่วงใดช่วงหนึ่ง ไม่ใช่เรื่องที่เป็นการถาวร เพราะหน่วยงานที่ทำงานถาวรนั้นก็คงต้องเป็นกระทรวงสาธารณสุขที่เป็นรัฐบาล ดำเนินการตามนโยบายทางการเมืองของพรรครัฐบาลที่ผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันเข้ามาบริหารประเทศตามยุคสมัย

แม้กระทั่ง องค์การอนามัยโลก ก็ไม่ยืนยันว่าจะสำเร็จ เคยฟังคำให้สัมภาษณ์ของ ผอ.องค์การอนามัยโลกคนปัจจุบัน เมื่อครั้งที่มาเยือนประเทศไทยปีก่อนพูดชัดเจนว่าเป็นเรื่องของแต่ละประเทศ แต่ละสังคม ต่างบริบทกัน ความสำเร็จหรือไม่สำเร็จที่ประเทศหนึ่ง ไม่ได้หมายความว่าเป็นสูตรสำเร็จเอาไปใช้ที่ไหนก็ได้ ต้องปรับรูปแบบให้สอดคล้องกับการเมืองและเศรษฐกิจของประเทศ โดยเฉพาะความมุ่งมั่นของภาคการเมืองหรือรัฐบาล ไม่ใช่ให้ความสำคัญภาค NGO หรือภาคประชาชนผู้รับบริการอย่างเดียว ต้องฟังฝั่งผู้ให้บริการ ฝั่งรัฐบาลที่หาเงิน ฝั่งประชาชนที่มีส่วนได้เสีย Stakeholders ไม่ใช่แค่ภาคประชาสังคมอย่างเดียวเพราะบางทีประชาชนก็ไม่รู้

คนมีชื่อเสียงอย่าง Steve Jobs ที่เป็นผู้นำเทคโนโลยีของบริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่Apple พูดหลายครั้งว่า บริษัทต้องคิดอะไรใหม่ๆ เพราะลูกค้าเองก็ไม่รู้อะไรดีอะไรไม่ดี ถ้ารอฟังเสียงจากลูกค้าเพื่อผลิตสินค้า อาจไม่มีนวัตกรรมใหม่ๆ เกิดขึ้นเพราะลูกค้าก็ไม่รู้

นโยบาย สามเหลี่ยมเขยื้อนภูเขา ในระบบสาธารณสุขของบ้านเราจึงเป็นเพียงการทดลองแบบลองผิดลองถูก ในช่วงระยะเวลาหนึ่งแต่เกือบ 20 ปีผ่านไป แทนที่จะสร้างความเป็นธรรมให้กับสังคม กลับสร้างความเหลื่อมล้ำ ตอกย้ำลงไปอีกเพราะการให้แบบถ้วนหน้าโดยไม่พิจารณาคุณสมบัติของเป้าหมาย ทุกคนได้เหมือนกันหมดนั้น ช่องว่างของความเหลื่อมล้ำก็ยังมีอยู่เช่นเดิมถ้ารัฐบาลไม่ปรับเป็น ระบบถ้วนหน้าในกลุ่มเป้าหมาย (Universal-targeting coverage) ก็คงไม่สามารถลดความเหลื่อมล้ำในสังคมได้

เมื่อไม่ work ก็ต้องหาทางใหม่ รัฐบาลเดินหลงทางมานานแล้วไม่ใช่ถมเงินลงไปปีละ 2-3 แสนล้านบาท ทั้งๆ ที่ไม่มีอะไรดีขึ้น การทำซ้ำในสิ่งที่ไม่ได้ผลซ้ำแล้วซ้ำเล่า แล้วก็คาดหวังว่าจะได้ผลใหม่ๆ เป็นเรื่องของการขาดสติ สงสารเหล่านักวิชาการที่มะงุมมะงาหราเดินตามแนวคิดอย่างคนตาบอดหูหนวกไม่ได้มองว่าโลกเปลี่ยนไปอย่างไร และเปลี่ยนเร็วแค่ไหนจมปลักกับแนวคิดเดิมๆ Just blindly follow จนจะพาประเทศชาติเดินลงเหวกันหมด