เพื่อนเฟส (Face) กับเพื่อนเฟก (Fake)

เพื่อนเฟส (Face) กับเพื่อนเฟก (Fake)

เมื่อหลายปีก่อน เคยเขียนบทความหนึ่งลง หนังสือพิมพ์ เรื่อง “คุณเป็นคนแบบไหนกันแน่” เขียนขึ้นมาจากประสบการณ์ระหว่างโลกเสมือนกับโลกแห่งความจริง

เพราะเวลาที่เราคุยกันกับเพื่อนในเฟซบุ๊ค หรือสื่อสังคมออนไลน์อื่น ไม่ว่าไลน์ ทวิตเตอร์ อินสตาแกรม ลิงค์อิน ดูเหมือนว่าคนเป็นจำนวนมากจะเอาตัวเข้าไปผูกพันเหมือนคุยกันจริงจัง แต่เมื่อมาพบกันต่อหน้าต่อตา ตัวเป็นๆ ความรู้สึกจะเป็นอีกอย่างหนึ่ง

ในทางพฤติกรรมศาสตร์ อธิบายว่ามนุษย์ในสังคมนั้นแบ่งเป็น 2 พวกใหญ่ๆ คือพวกเปิดเผย (Extrovert) และพวกเก็บตัว (Introvert) พวกเปิดเผยนั้นชอบสังคม ชอบแสดงออก ชอบแสดงความเห็นอย่างเปิดเผย แต่พวกเก็บตัวนั้นจะไม่ค่อยพูดอะไร เวลาอยู่ในสังคมจะเก็บเงียบ ฟังอย่างเดียว ถ้าอยู่ในห้องเรียนหรือห้องประชุมก็มักจะอยู่ที่มุมหนึ่งของห้อง แต่สังคมออนไลน์ทำให้พวกที่เก็บตัวกล้าออกมาแสดงออกมากขึ้นเหมือนพวกเปิดเผย แต่การแสดงออกนั้นทำอย่างไม่เปิดเผยตัวตน และออกมาในลักษณะหลากหลายตามสื่อสังคมออนไลน์

ที่จริงก็เป็นเรื่องดี เพราะถ้าคิดว่าพวกเขาคือพวกพลังเงียบ การมีสื่อสังคมก็ทำให้เขาเปิดเผยความคิดเห็นมากขึ้น แต่ไม่ได้หมายความว่าเมื่อต้องตัดสินใจ เขาจะเป็นเหมือนเช่นที่แสดงออกในสื่อสังคมหรือไม่ สิ่งที่พวกเขาแสดงออกในสื่อสังคม กับการแสดงตัวตนในสังคมจริงจึงเป็นคนละเรื่องกัน และนี่คือที่มาของข่าวลวง ข่าวปลอม ที่ทำให้เกิดเพื่อนเฟก (Fake) ในสังคมมหาศาล

เคยเห็นผลการสำรวจของสำนักข่าวเกี่ยวกับความเชื่อของมนุษย์ในสังคมออนไลน์ของหลายประเทศ บอกว่าไทยเป็นประเทศที่ประชาชนใช้สื่อสังคมมากอันดับต้นๆ ของโลก และในขณะเดียวกันก็มีการสร้างข่าวลวงและเชื่อข่าวลวงสูงอันดับต้นๆ ของโลกเช่นกัน สื่อสังคมออนไลน์ ไม่ใช่แค่สร้างข่าวลวงข่าวปลอมอย่างเดียว แต่นำมาซึ่งการโกหกหลอกลวงมากมายตั้งแต่หลอกขายสินค้าและบริการจนถึงหลอกให้หลงเชื่อ หลงรัก หลงเกลียด สร้างจินตนาการความฝันบรรเจิดจ้า

ได้ฟังความเห็นของคนในสังคมจำนวนมาก โดยเฉพาะผู้ที่อยู่ในแวดวงเกี่ยวกับสุขภาพของประชาชน ที่ออกมาบ่นว่าเดี๋ยวนี้จำนวนเด็กผู้หญิงที่ตั้งครรภ์ตั้งแต่อายุน้อยๆ ไม่ถึง 15 ปี เพิ่มมากขึ้นกว่าในอดีตมาก และเป็นการเพิ่มอย่างไม่มีคุณภาพ เพิ่มโดยผู้ที่เป็นแม่หรือพ่อไม่มีการวางแผนชีวิต เด็กหญิงกลายเป็นแม่อย่างไม่ได้ตั้งใจ ทั้งหญิงและชายไม่สามารถรับผิดชอบอะไรกับสิ่งที่เกิดขึ้น เหมือนกับการเล่นขายของของเด็กๆ ที่เลิกเล่นได้ง่ายๆ ชั่วครั้งชั่วคราว เบื่อก็เลิก แล้วหาของเล่นใหม่ต่อไป ซึ่งสังคมในสมัยก่อนไม่ได้เป็นอย่างนี้เลย

หลายคนแสดงความเห็นว่า เป็นเพราะไม่มีการให้ความรู้เรื่องเพศกับเด็กชายและหญิงอย่างเพียงพอ ไม่มีการศึกษาอบรมพอเพียง ไม่ได้สร้างความมีวินัยให้กับเด็ก ไม่ได้ให้เด็กรู้จักรับผิดชอบตัวเองเมื่อเกิดปัญหา พ่อแม่ไม่มีเวลาเลี้ยงดูให้อยู่ในกรอบ บลาๆๆๆๆ ก็พูดกันไป แต่ถ้าจะพูดกันจริงจังก็คงเป็นเรื่องที่ไม่สามารถจำกัดวงเรื่องใดเรื่องหนึ่ง แล้วก็สรุป แต่คงเป็นเรื่องที่ต้องมองหลายมิติหลายบริบท แล้วก็คงสรุปไม่ได้ง่ายๆ เพราะเรื่องแบบนี้เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นชั่วระยะเวลาหนึ่งของชีวิต ที่เรียกว่า contemporary แล้วก็เปลี่ยนไปตามพลวัตของสังคม

ไม่ได้กล่าวหาว่าเป็นเพราะสื่อสังคมออนไลน์เป็นสิ่งไม่ดีทั้งหมด เป็นเหตุให้เกิดสังคมที่ชั่วร้าย แต่ถ้าจะพูด ก็คงได้แต่บอกว่าตราบใดที่เหรียญมีสองด้าน สื่อสังคมก็มีด้านที่ชั่วร้ายเช่นกัน การหลงไหลได้ปลื้มกับคำสรรเสริญเยินยอในสื่อสังคมออนไลน์ เป็นสิ่งที่ผู้รับข่าวต้องฟังอย่างยับยั้งชั่งใจมากกว่าการปรากฎต่อหน้า เพราะเราไม่มีโอกาสรู้เลยว่าเบื้องหลังของคำสรรเสริญเยินยอว่าสวย หล่อ ดี ยอดเยี่ยม สุดยอด แท้จริงแล้วเป็นคำลวงที่หวังจะล้วงกินตับเรา

สิ่งที่อยากจะฝากไว้ให้กับผู้ที่ใช้สื่อสังคมออนไลน์อย่างเสพติด คอยส่องเฟส ส่องไลน์ ส่องอินสตาแกรม ทวิตเตอร์ หรืออื่นใดก็คือการยับยั้งชั่งใจ อย่าเชื่ออะไรทันที เพราะคำพูดหวานๆ ที่ส่งออกมาจากผู้ส่งสารนั้น ไม่ได้เป็นความจริงทั้งหมด หรืออาจไม่มีความจริงเลย ดีที่สุดคือรักษาระยะห่างจากผู้ส่งสารที่คุยด้วย เพราะยิ่งปล่อยให้ใกล้ชิด ก็ยิ่งมีโอกาสที่จะตกหลุมพราง จากผู้หวังที่จะล้วงตับ และเพื่อนเฟส (Face) ก็เป็นเพียงเพื่อนเฟก (Fake) เท่านั้นเอง