แก้ปัญหาสังคมก่อนปัญหาเศรษฐกิจ

แก้ปัญหาสังคมก่อนปัญหาเศรษฐกิจ

ช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา มีข่าวสะเทือนขวัญหลายข่าวซึ่งเกิดจากการใช้ความรุนแรงเพื่อแก้ปัญหาของคนในสังคม จะว่าไปแล้วเรื่องที่เกิดขึ้น

ไม่ได้เป็นปัญหาเฉพาะประเทศไทย แม้แต่ประเทศที่พัฒนาแล้วก็มีข่าวทำนองนี้เกิดขึ้นอยู่เสมอ ซึ่งเป็นสัญญาณเตือนว่าภูมิคุ้มกันทางสังคมเริ่มบกพร่อง หากไม่ได้รับการแก้ไขอย่างทันท่วงที ปัญหามีแต่จะยิ่งทวีความรุนแรงมากขึ้น ความสูญเสียคงไม่หยุดอยู่แค่นี้

เมื่อไรเกิดปัญหาสังคมขึ้น เหตุผลด้านเศรษฐกิจมักตกเป็นจำเลยอยู่เสมอ เพราะเชื่อกันว่าการพัฒนาเศรษฐกิจทำให้มีการแข่งขันกันมากขึ้น ต่างคนต่างก็สนใจแต่เรื่องของตัวเองเป็นหลัก สังคมที่เคยอยู่กันอย่างอบอุ่นเปลี่ยนสภาพไปเป็นสนามรบย่อยๆ ความมีน้ำจิตน้ำใจหายไป เงินกลายเป็นทุกสิ่งทุกอย่าง ความเครียดกลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวัน ใครมีภูมิต้านความเครียดต่ำจึงมักมีปัญหาในการปรับตัว มองไม่เห็นทางออกบางครั้งจึงลงเอยด้วยโศกนาฏกรรมเหมือนกับเหตุการณ์ในช่วง 2 สัปดาห์นี้

ที่ผ่านมา นักการเมือง ข้าราชการ และประชาชนอย่างพวกเราเองมักจะให้ความสำคัญกับปัญหาสังคมน้อยกว่าปัญหาทางเศรษฐกิจ เนื่องจากปัญหาสังคมไม่ใช่ปัญหาสำคัญทางการเมือง การแก้ปัญหาวัยรุ่นตีกันตายไม่ส่งผลต่อความนิยมเหมือนกับการแก้ปัญหาดุลการค้า ปัญหานักเรียนขายตัวไม่สำคัญเท่าการกระตุ้นจีดีพี ปัญหาครอบครัวแตกแยกไม่ใช่เรื่องเร่งด่วนเหมือนกับการส่งเสริมการลงทุน การจับรถซิ่งอาจไม่ได้ช่วยให้ก้าวหน้าในอาชีพเหมือนการสืบคดีทางการเมือง การช่วยเหลือชุมชนไม่สำคัญเท่ากับการรีบกลับไปดูละครที่บ้าน การใช้สิทธิทางการเมืองเพื่อควบคุมพฤติกรรมนักการเมืองสำคัญน้อยกว่าการไปเดินเล่นในห้างสรรพสินค้า เมื่อสมาชิกของสังคมมีความคิดเช่นนี้ก็เท่ากับปล่อยให้สังคมเปลี่ยนแปลงไปตามบุญตามกรรม พอมีข่าวขึ้นมาก็หันหน้ามาคุยกัน ปรับทุกข์ แล้วก็ปล่อยให้ผ่านไป

โดยธรรมชาติแล้ว ปัญหาสังคมไม่ได้เกิดขึ้นชั่วข้ามคืน เป็นการเกิดขึ้นอย่างเป็นขั้นเป็นตอน มีระบบ ใช้เวลานานกว่าอาการจะปรากฏออกมาให้เห็นอาการเหล่านี้มักเป็นผลสะสมของสาเหตุหลายเรื่องที่ส่งผลซึ่งกันและกัน จึงเป็นยากจะระบุว่าต้นของปัญหาอยู่ที่ไหนกันแน่

พอไม่รู้จะเริ่มกันตรงไหน การแก้ปัญหาจึงเป็นการแก้ปัญหาแบบแยกส่วน เน้นเฉพาะการแก้ปัญหาระยะสั้น แก้ปัญหาเด็กแว้น เด็กมั่วสุม ด้วยการจับเด็กและคาดโทษพ่อแม่ แก้ปัญหาคอร์รัปชันด้วยการเดินขบวนรณรงค์ แก้ปัญหาการขาดคุณธรรมจริยธรรมด้วยการท่องจำคุณสมบัติของคนดี ซึ่งวิธีการเหล่านี้ได้พิสูจน์ตัวเองแล้วว่าไม่ได้ผลเลยสักนิด

ความจริงแล้วสังคมคือรากฐานสำคัญของเศรษฐกิจ เศรษฐกิจที่ตั้งอยู่บนฐานทางสังคมที่ง่อนแง่นอาจจะเติบโตต่อไปได้ แต่การเติบโตแบบนี้มีความเสี่ยงสูงมาก หากเกิดปัญหาทางเศรษฐกิจขึ้นโดยไม่มีโครงสร้างทางสังคมที่เข้มแข็งมาเป็นเบาะรองรับ ความเสียหายที่เกิดขึ้นมีมูลค่ามหาศาล อาจจะมากกว่าประโยชน์ทางเศรษฐกิจที่ได้มากจากการพัฒนาด้วยซ้ำไป

ในทางกลับกัน สังคมเข้มแข็งต่อให้รายได้ต่อหัวไม่สูงที่สุดในโลก เศรษฐกิจของประเทศก็ยังมีความมั่นคง คนในประเทศอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข เมื่อเกิดปัญหาทางสังคม เศรษฐกิจ หรือการเมือง ก็ยังอุ่นใจได้ว่าอย่างไรเสียปัญหาคงไม่บานปลายจนยากเกินกว่าการควบคุม ไม่นำไปสู่ความรุนแรง

สาเหตุหนึ่งที่ช่วยให้ระบบเศรษฐกิจไทยไม่ล่มสลายจากวิกฤติเศรษฐกิจในปี 2540 คือ โครงสร้างทางสังคมของเราถึงจะตกงานก็ยังกลับบ้านนอกไปอยู่กับครอบครัวช่วยทำไร่ทำนา กิจการเจ๊งก็ยังไปอาศัยอยู่กับญาติได้ ถ้าจำไม่ผิด ดูเหมือนในช่วงนั้นจะไม่มีข่าวคนไทย “อดตาย” เพราะตกงานเลย

หากมองในแง่การเมืองแล้ว ปัญหาสังคมไม่ใช่สินค้าหลักของนักการเมืองที่มาเสนอขายให้กับประชาชนเหมือนกับปัญหาทางเศรษฐกิจและการเมือง เวลาพูดถึงนโยบายทางสังคม เราจึงมักได้ยินข้อเสนอสูตรสำเร็จว่าควร “ให้โอกาส” “ช่วยคนแก่คนจน” “ให้การศึกษา” เป็นต้น แต่ไม่ค่อยบอกว่าจะจัดการกับรากเหง้าที่แท้จริงของปัญหาได้อย่างไร และแทบจะตอบไม่ได้เลยว่าเหตุใดปัญหาทางสังคมบางเรื่องถึงมีความสำคัญกว่าเรื่องอื่น ในเมื่อบ้านเมืองเรามีปัญหาทางสังคมตั้งมากมาย

ขนาดกรอบการคิดของผู้จะแก้ปัญหายังไม่สมดุล แล้วเราจะคาดหวังว่าพวกเขาจะสามารถสร้างความสมดุลให้เกิดขึ้นจริงๆ ได้อย่างไร?

ปัญหาในบ้านเมืองของเราตอนนี้พันกันยุ่งเหยิง ยากจะแก้ไปด้วยคนกลุ่มเล็กๆ จำเป็นต้องมีการประสานงานกันอย่างเป็นระบบ มีเจ้าภาพชัดเจน วิธีหนึ่งที่จะถึงจุดนั้นได้คือ ประชาชนต้องร่วมกันผลักดันผ่านกระบวนการทางการเมือง ตั้งแต่ระดับชุมชนไปจนถึงระดับประเทศ เพื่อให้นักการเมืองได้ตระหนักว่าปัญหาสังคมคือสินค้าทางการเมืองที่สำคัญ ซึ่งจะนำไปสู่การนำเสนอนโยบายและการลงมือปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรมมากขึ้น อย่าปล่อยให้ข่าวฆ่ากันตายกลายเป็นข่าวรายวันที่คนไทยพบเจอกันอีกเลย