จาก ‘Black Swan’ สู่ ‘Green Swan’

จาก ‘Black Swan’ สู่ ‘Green Swan’

ในการประชุม World Economic Forum เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ที่เมืองดาวอส หรือ Davos 2020 ได้เกิดการปะทะคารมของคู่กัดต่างวัย

ระหว่าง รัฐมนตรีคลัง สหรัฐ สตีเฟน มนูชิน กับ นักเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อมวัย17 ปี นามว่า เกรธา ธันเบิร์ก โดยนายมนูชินได้ให้ความเห็นว่าการที่ธันเบิร์กพยายามรณรงค์ให้ชาวโลกลดการปล่อยควันพิษเข้าสู่บรรยากาศนั้น แท้จริงแล้ว เธอยังไม่เข้าใจถึงวิชาเศรษฐศาสตร์อย่างแท้จริง โดยแนะนำให้เธอเลิกทำกิจกรรมด้านสิ่งแวดล้อมแล้วกลับไปเรียนวิชาเศรษฐศาสตร์ในโรงเรียนน่าจะดีกว่า โดยเขามองว่าอนาคตในระยะยาวการเปลี่ยนแปลงสภาวะอากาศยังมีความไม่แน่นอนสูง อีกทั้งยังอาจมีเทคโนโลยีเข้ามาช่วยให้ดีขึ้น การที่เริ่มมาตรการอย่างการตั้งราคาคาร์บอนหรือ Carbon pricing ในวันนี้ เป็นสิ่งที่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อเศรษฐกิจ

โดยนายมนูชินมองว่า เทคโนโลยีของสหรัฐ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาคเอกชน จะค่อยๆ พัฒนาขึ้นสามารถแก้ปัญหาภาวะโลกร้อนได้

ก่อนที่ผมจะให้ความเห็นว่าความเชื่อของเขาถูกหรือไม่ จะขอพาท่านผู้อ่านมารู้จักแนวคิดล่าสุด กับการจัดการความเสี่ยงด้านสิ่งแวดล้อมของโลก ดังนี้

เริ่มจากคำว่าความเสี่ยงด้านกายภาพ หรือ Physical Risks หมายถึงความเสี่ยงที่เกิดจากการปฏิสัมพันธ์ระหว่างอันตรายจากภาวะอากาศเปลี่ยนแปลงกับสภาพที่อ่อนแอของมนุษย์และระบบธรรมชาติโดยใช้ความเสียหายในเชิงเศรษฐกิจและการเงิน เป็นมาตรวัดจากความถี่และความรุนแรงที่เพิ่มขึ้นของเหตุการณ์ที่อากาศมีสภาพความแปรปรวนมากขึ้น

รวมถึงผลกระทบจากความเปลี่ยนแปลงของรูปแบบของสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติ อาทิ ระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้นและการเปลี่ยนแปลงของรดะดับปริมาณน้ำฝน ซึ่งจะส่งผลต่อทั้งมูลค่าของตราสารทางการเงินและอสังหาริมทรัพย์

คาดกันว่า ยังมีความเสี่ยงและความเสียหายดังกล่าว ที่ยังไม่ได้มีการทำประกันไว้ถึง 70% อันเนื่องมาจากความเปลี่ยนแปลงของธรรมชาติทั้งทางตรงและทางอ้อม

โดยภายใต้บรรยากาศที่ทรัพยากรธรรมชาติที่อยู่ใต้ดิน อาทิ น้ำมันและก๊าซธรรมชาติ ได้ถูกต่อต้านจากกลุ่ม Green ไม่ให้ถูกนำขึ้นมาใช้ เนื่องด้วยจะทำให้อุณหภูมิของโลกสูงขึ้น จึงเกิดส่วนของทรัพยากรธรรมชาติที่ไม่สามารถนำขึ้นมาใช้นี้ ที่เรียกกันว่า Stranded Asset ซึ่งส่วนของสินทรัพย์นี้ แม้จะเป็นสินทรัพย์ในงบดุลของบริษัทที่เป็นเจ้าของสัมปทาน ทว่าไม่สามารถนำมาใช้ได้ จนบางส่วนจะด้อยค่าลง รวมถึงอาจกลายเป็นส่วน Liabilities ในที่สุดเนื่องจากต้องเสียค่าใช้จ่ายในการทำลาย

โดยค่าใช้จ่ายดังกล่าว คาดว่าอาจมีมูลค่าถึง 1-15 ล้านล้านดอลลาร์เลยทีเดียว โดยความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงนโยบาย หรือ Transition Risks คือความเสี่ยงที่เกิดจากการความเสียหายของเศรษฐกิจในทุกอุตสาหกรรมจาก Stranded Asset ดังกล่าว

ทั้งนี้ หากเราไม่สนใจประเด็นปัญหาสภาวะโลกร้อนหรือ Climate Change ในตอนนี้ โดยเห็นว่าจะสามารถมีเทคโนโลยีที่ทันสมัยในอนาคตอันใกล้ในการจัดการปัญหาโลกร้อน โดยยอมให้อุณหภูมิของโลกสูงขึ้นถึง 4 ํc หรือกรณี Business-as-usual ดังเช่นกรณีด้านขวาดังรูป ในกรณีนี้ จะมีระดับความเสี่ยง Physical Risk อยู่สูง ขณะที่จะมีระดับความเสี่ยง Transition Risk ที่ต่ำ 

158078536755

ในทางกลับกัน หากเราเข้มกับปัญหาภาวะโลกร้อน จนยอมให้อุณหภูมิของโลกสูงขึ้นเพียง 1.5  ํc หรือกรณี Rapid Transition ในกรณีนี้ จะมีระดับความเสี่ยง Physical Risk อยู่ต่ำ ในขณะที่จะมีระดับความเสี่ยง Transition Risk ที่สูง

ทั้งนี้ ความคิดของนายมนูชินตรงกับกรณี Business-as-usual ที่จะไม่จำกัดวงจำกัดของปัญหาภาวะโลกร้อน ซึ่งหากเป็นเช่นนี้ ในอนาคตโลกเราจะมีสิ่งแวดล้อมที่จะค่อยๆ แย่ลงไป และจะมีความเสี่ยงด้านกายภาพที่มีระดับสูงขึ้นไปเรื่อยๆ

ทั้งนี้ งานศึกษาของนักวิทยาศาสตร์ของมหาวิทยาลัยชั้นนำของสหรัฐ ได้ศึกษาผลกระทบของภาวะที่โลกเราร้อนขึ้น 4  ํc จะส่งผลต่อจีดีพีสหรัฐในเชิงลบระหว่าง 1.5% ถึง 5.6% ซึ่งจะเกิดขึ้นแบบต่อเนื่องเป็นระยะเวลายาวนาน

โดยแม้ว่างานศึกษาดังกล่าว จะกล่าวว่ายังต้องใช้เวลาอีกหลายสิบปีกว่าวันนั้นจะมาถึง ทว่าความเห็นของนายมนูชินที่จะปล่อยให้เป็นปัญหาในอนาคตแล้วค่อยแก้ไขในตอนนั้น ก็ถือว่าน่าจะไม่ถูกต้อง

แล้วก็มาถึงศัพท์คำใหม่ที่ชื่อ Green Swan ซึ่งหมายถึง Black Swan หรือ เหตุการณ์ใหญ่ๆที่ไม่เคยเกิดขึ้นแต่มาเกิดแบบฉับพลันและรุนแรง ซึ่งเรารู้จักกันดีจากหนังสือปี 2007 ของ นาซิม นิโคลัส ทาเลปในยุคที่เกิดจากสภาวะอากาศเปลี่ยนแปลง ซึ่งมีลักษณะเด่นอยู่ 3 ประการ ดังนี้

1.ปฏิกิริยาระหว่าง Physical Risk และ Transition Riskส่งผลให้เกิดความไม่แน่นอนที่จะเกิดเหตุการณ์ที่รุนแรงสุดๆหรือExtreme Events แบบไม่เป็นเชิงเส้นหรือNon-linearity โดยที่ข้อมูลในอดีตไม่สามารถนำมาคาดการณ์ Green Swan ได้

2.ระดับความเสียหาย อยู่ในระดับที่มากกว่าความเสียหายทางการเงินโดยอาจทำให้ถึงกับสูญเสียซึ่งมนุษยชาติได้

3.ความซับซ้อนของ Climate Change อยู่ในระดับที่เป็นทวีคูณทั้งทางด้านสิ่งแวดล้อม ภูมิรัฐศาสตร์ สังคม และเศรษฐกิจ

โดยสรุป ผมมองว่า ปี 2020 เป็นจุดเปลี่ยนที่ประเด็นสภาวะอากาศเปลี่ยนแปลง หรือ Climate Change ได้กลายเป็นประเด็นหลักที่ทุกคนต้องช่วยกันแก้ไขปัญหานี้ครับ