Digital Lean Way วิถีที่ไม่หลงทาง อุตสาหกรรม4.0

Digital Lean Way วิถีที่ไม่หลงทาง อุตสาหกรรม4.0

“การพัฒนาต้องคำนึงอยู่เสมอว่าเป็นไปเพื่อการปรับปรุงผลิตภาพ (Productivity) เทคโนโลยีเป็นเพียงหนึ่งในปัจจัยที่จำเป็นต้องเปลี่ยนแปลงเท่านั้น

อีกสองปัจจัยแห่งการเปลี่ยนแปลงที่ต้องพิจารณาควบคู่ไปด้วยเสมอ คือกระบวนการ (Process) และคน (People)”

ประโยคข้างต้นมาจากงานสัมมนา Digital Lean Way : The Next Operation Transform to Industry 4.0 โดยผู้เชี่ยวชาญ Dr.William Lee จากสิงคโปร์ ซึ่งผมคิดว่าเป็นเนื้อหาที่ชวนคิดมากที่สุดจะได้หยิบเนื้อหาสำคัญๆ มาเล่าต่อ พร้อมกับผสมผสานความคิดเห็นของตัวเองเพิ่มเติมครับ

อุตสาหกรรม 4.0

Dr.Lee เริ่มบรรยายด้วย Slide แรก เป็นภาพหินโม่แป้งที่ต้องใช้แรงงานคนมาหมุน แล้วตั้งคำถามว่าคนทำงานต้องมีทักษะอะไร? หากอยากผลิตให้มากขึ้น จะทำได้อย่างไร?

คำตอบคือไม่ต้องการทักษะอะไรมากเลย ขอให้แข็งแรง หมุนได้เยอะๆ อย่าอู้งาน อยากได้แป้งเพิ่มก็ใช้แรงให้มากขึ้น ถ้าต้องการยิ่งขึ้นไปอีกก็ต้องเพิ่มเครื่องและเพิ่มคน

การพัฒนาเกิดขึ้น เมื่อมนุษย์รู้สึกว่าทำไมต้องมาเปลืองแรงทำเอง มีการประดิษฐ์เกียร์ใช้พลังน้ำมาหมุนให้แทน จนกระทั่งมาถึงการประดิษฐ์มอเตอร์หลังจากมีไฟฟ้า ทักษะพนักงานก็เปลี่ยนไป จากอยากได้พนักงานกล้ามโตๆ ก็กลายมาเป็นคนที่มีความรู้ใช้งานเครื่องจักรได้

ดังนั้น การนำเทคโนโลยีมาใช้ทดแทนแรงงานคนเป็นสิ่งที่มีมานานแล้ว แต่สิ่งที่ทำให้การปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 นี้มีผลกระทบมาก เพราะเทคโนโลยีใหม่ที่กำลังก้าวเข้ามานั้นเป็นไปอย่างรวดเร็วกว่าทุกๆ ครั้ง

รัฐบาลปัจจุบัน สื่อสารกับคนในสังคมว่าประเทศไทย 4.0 และอุตสาหกรรม 4.0 คือหนทางแห่งการก้าวข้ามผ่านไปสู่การเป็นประเทศรายได้สูง มีโครงการรัฐออกมามากมาย รวมถึงการส่งเสริมให้ผู้ประกอบการลงทุนในเทคโนโลยีเพื่อปรับเปลี่ยนระบบการผลิตของตนเอง

แต่คำถามพื้นฐานที่ต้องไม่ลืมคือ เป้าหมายของอุตสาหกรรม 4.0 คืออะไร? ทำให้เกิดผลลัพธ์อะไรที่ดีขึ้น ผลิตได้มากขึ้น? คุณภาพดีขึ้น? ต้นทุนถูกลง? เสร็จเร็วขึ้น? ลูกค้าพอใจมากขึ้น? เราอาจขมวดสิ่งที่พูดมาทั้งหมดนี้ด้วยคำเดียวคือ ผลิตภาพ ที่สูงขึ้น

ดังนั้น อุตสาหกรรม 4.0 จึงไม่ใช่เพียงมุมแห่งการนำ Technology ใหม่ๆ มาใช้ แต่ต้องเป็นการปรับปรุงผลิตภาพ โดยการใช้ Technology เป็นเครื่องมือ ซึ่งจะทำให้ Technology นั้นมีความเหมาะสมและเกิดประโยชน์กับลูกค้า องค์กร และผู้มีส่วนเกี่ยวข้องอื่นๆ ได้อย่างแท้จริง 

Digital Lean Way

แนวคิด Lean นั้นนำมาจากการตกผลึกวิถีการปฏิบัติของโตโยต้า ที่ได้รับการยอมรับว่าเป็นวิธีการจัดการที่เป็นเลิศ ด้วยการขจัดความสูญเสียที่มีในกระบวนการ

หลักการต่างๆ ที่มีการพูดถึง เช่น กระบวนการที่ต่อเนื่อง (Flow) ระบบการผลิตที่ยืดหยุ่นตอบสนองความต้องการลูกค้าที่แตกต่าง การสร้างและตรวจสอบคุณภาพในทุกกระบวนการ ด้วยการมีส่วนร่วมจากพนักงานทุกคน เป็นต้น

การประยุกต์ใช้แนวคิด Lean โดยทั่วไปนั้นไม่ได้เน้นการใช้เทคโนโลยีเพื่อการปรับปรุงมากนัก แต่ในยุคแห่งอุตสาหกรรม 4.0 นี้ การนำเทคโนโลยีมาใช้เพื่อการปรับปรุงผลิตภาพ ตามแนวคิดของ Lean จึงกลายเป็นโอกาสแห่งการปรับปรุงครั้งใหญ่ที่เกิดขึ้น

ด้วยโลกดิจิทัลในปัจจุบัน การเชื่อมต่อข้อมูลไม่มีข้อจำกัดในเรื่องของสถานที่และเวลาอีกต่อไป นอกจากนั้นต้นทุนการใช้เทคโนโลยีก็ยังลดลงมาเรื่อยๆ ด้วย

การสื่อสารที่เกิดขึ้นสามารถพิจารณาได้ทั้งที่เกิด ภายใน องค์กรเอง เช่น ระหว่างคนกับคน คนกับเครื่องจักร เครื่องจักรกับเครื่องจักร ส่วนในระดับถัดมาคือ ข้าม องค์กร หรือใน Supply Chain เช่น ระหว่างองค์กรกับ Supplier ลูกค้าและผู้มีส่วนได้เสียอื่น เป็นต้น

ระบบการผลิตจึงเป็นกระบวนการที่ใช้ประโยชน์จากทรัพยากรได้สูงสุด ปรับเปลี่ยนตนเองได้อย่างรวดเร็ว เพื่อสนองความต้องการของลูกค้ารายบุคคล ลูกค้าติดตามความคืบหน้าของการผลิตได้ตลอดเวลา ใช้ Simulation ในการออกแบบทั้งผลิตภัณฑ์และกระบวนการเพื่อให้ความสูญเสียมีค่าต่ำสุด

การประยุกต์ใช้เทคโนโลยีที่สำคัญๆ เพื่อรองรับ Digital Lean เช่น

การใช้หุ่นยนต์ หุ่นยนต์ผลิตและตรวจสอบคุณภาพได้ด้วยตัวเอง มีความสามารถหลากหลาย สื่อสารข้อมูลที่จำเป็นและปัญหาที่เกิดขึ้น ไปยังเครื่องจักรอื่นๆ หรือผู้ที่เกี่ยวข้องได้

ระบบบำรุงรักษา ทราบข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับเครื่องจักรได้ทันที เช่น เครื่องจักรเสีย เปลี่ยนแม่พิมพ์ ความเร็วตก เดินเครื่องตัวเปล่า นอกจากนี้ยังสามารถวิเคราะห์เพื่อคาดการณ์เวลาที่จะควรจะบำรุงรักษาล่วงหน้าได้ด้วย (Predictive Maintenance)

Additive Manufacturing เครื่องพิมพ์ 3 มิติราคาถูกลงมามาก การสร้างชิ้นงานต้นแบบ หรือคำสั่งซื้อจำนวนน้อยๆ จะทำได้ง่ายขึ้นด้วยต้นทุนถูก พร้อมกับความหลากหลายของการใช้วัสดุพิมพ์ที่หลากหลายขึ้นเรื่อยๆ และเทคโนโลยีคู่กัน คือ 3D Scanner ที่ทำให้รูปทรง 3 มิติ กลายเป็นข้อมูล Digital ได้ในเวลาอันสั้น

Machine as a service การถ่ายเอกสารในอดีต องค์กรต้องมีเครื่องถ่ายเอกสารเองเป็นทรัพย์สิน แต่ปัจจุบันการให้บริการถ่ายเอกสารโดยคิดต้นทุนตามปริมาณงานกลายเป็นเรื่องปกติ เครื่องจักรการผลิตในอนาคตสามารถมีรูปแบบธุรกิจที่เปลี่ยนแปลงในลักษณะเดียวกัน

Big Data Driven Quality ข้อมูล Digital มหาศาลจากระบบการผลิตและเครื่องจักร สามารถนำมาวิเคราะห์ประมวลผล เพื่อนำมาใช้ในการพัฒนาคุณภาพในกระบวนการ

บทส่งท้าย

มีคำกล่าวหนึ่งในระหว่างการสัมมนาที่น่าใคร่ครวญมากคือ ไม่ควรมีใครที่ถูกทิ้งไว้เบื้องหลังเพราะ Industry 4.0”  ประเทศไทยเรายังคงมีแรงงานอีกจำนวนมากที่ไม่ได้มีทักษะความรู้หรือการศึกษาสูง จึงเป็นภารกิจที่ท้าทายของผู้บริหารที่จะต้องบริหารการเปลี่ยนแปลงนี้ด้วยความเร็วที่เหมาะสม พร้อมกับนำพาบุคลากรในองค์กรในการฝ่าคลื่นลมแห่งความเปลี่ยนแปลงที่ถาโถมเข้ามาครับ

โดย... กฤชชัย อนรรฆมณี