ผู้แทนองค์กรพัฒนาเอกชน (NGO) ที่เข้าไปนั่งเป็นบอร์ดอย่างถาวร

ผู้แทนองค์กรพัฒนาเอกชน (NGO) ที่เข้าไปนั่งเป็นบอร์ดอย่างถาวร

ในหลายองค์กรของรัฐที่ไม่ใช่ราชการ จะมีคนกลุ่มหนึ่งที่เรียกว่าองค์กรเพื่อการพัฒนาเอกชน หรือ NGO เข้าไปเป็นบอร์ดขององค์กร

ในฐานะตัวแทนภาคประชาชน แต่ไม่ใช่เพื่อประชาชนโดยรวมของประเทศ แต่เป็นภาคเอกชนที่เป็นกลุ่มผลประโยชน์ หรือ Interest group ประเภทหนึ่งที่เข้ามาเพื่อปกป้องผลประโยชน์ของภาคส่วนโดยเฉพาะ

โดยหลักการแล้ว NGO แบบนี้ ไม่ควรเข้ามาเป็นบอร์ดถาวรขององค์กรรัฐ ยกเว้นในบางเรื่องเฉพาะกิจเฉพาะการเพื่อรับฟังความคิดเห็นของภาคส่วนต่างๆ ในฐานะภาคประชาชน ที่เป็นกลุ่มผลประโยชน์ภาคหนึ่ง เพราะพวกเขา ไม่ใช่ผู้แทนของประชาชนทั้งประเทศอย่างแท้จริง

องค์กรพัฒนาเอกชน หรือ NGOs จำนวนไม่น้อยในบ้านเรา มีความต่างจาก NGOs ในความหมายทั่วไปไม่น้อย เคยคิดว่า หลักการของ NGO นั้นคือเป็นองค์กรตรวจสอบการทำงานของภาครัฐ ฉะนั้นจึงต้องมีความเป็นอิสระ ไม่ควรเข้าไปนั่งทำงานให้กับรัฐ เพราะถ้าไปทำงานให้รัฐ แล้วจะไปตรวจสอบรัฐได้อย่างไร มันเท่ากับตรวจสอบตัวเอง แล้วความน่าเชื่อถือจะมีแค่ไหน

NGOs จำนวนมากในบ้านเรา ที่เป็น NGOs จริงๆ ไม่เข้าไปนั่งในบอร์ดโน้น บอร์ดนี้ ออกนโยบายนั้นนโยบายนี้ ส่วนค่าใช้จ่ายก็มาจากการดำเนินการตรวจสอบที่ได้รับการสนับสนุนจากองค์กรอื่นหรือประชาชนที่สนับสนุนการทำงานตรวจสอบ แต่พอไปนั่งในบอร์ดนโยบาย มันก็หนีไม่พ้นเรื่องอัฐยายซื้อขนมยาย เข้าลักษณะกระเป๋าซ้ายกระเป๋าขวา อย่างที่เรียกว่า ชงเองกินเอง อย่างนี้ ความน่าเชื่อถือคงลดลงไปเรื่อยๆเพราะเท่ากับเป็นมือไม้ของรัฐบาลหรือหน่วยงานรัฐ ไม่ได้ทำเพื่อประชาชนอย่างแท้จริง

ปกตินโยบายที่รัฐกับเอกชนร่วมมือกันนั้นหมายถึงการร่วมมือในโครงการที่รัฐต้องการให้ภาคเอกชนเข้ามามีส่วนร่วม คำว่ามีส่วนร่วม คือเป็นหุ้นส่วนไม่ว่าการบริการ การผลิตหรืออุตสาหกรรม และมีส่วนได้เสีย มีกำไรขาดทุน อาจจะเรียกว่าเป็น ppp หรือ public-private partnership หรือจะเรียกโครงการประชารัฐ ก็น่าจะเป็นโครงการที่รัฐกับประชาชนร่วมมือกัน ดำเนินการร่วมกัน

แต่ NGO ไม่ใช่ประชาชน แต่เป็นองค์กรอิสระภาคประชาชน และมีหน้าที่หลักในการดูแลตรวจสอบเพื่อประโยชน์สาธารณะหรือประชาชนที่ไม่ใช่กลุ่มประชาชนส่วนที่ไปร่วมกับรัฐ เพราะถ้า NGO เข้าไปร่วมโครงการประชารัฐ หรือโครงการ ppp ก็คงไปตรวจสอบอะไรไม่ได้ รัฐบาลน่าจะมีความชัดเจนตรงนี้ว่า องค์กรพัฒนาเอกชนนั้นไม่ควรได้รับการแต่งตั้งเข้ามาร่วมออกนโยบาย แต่ให้พวกเขาเป็นองค์กรตรวจสอบความโปร่งใส เมื่อไม่มีส่วนได้เสีย ก็ทำหน้าที่ได้เต็มที่

บ้านเรามีปัญหาที่ซับซ้อนไปกว่านั้นอย่างไม่น่าเชื่อ เพราะรัฐบาลต้องการใช้ทรัพยากรบุคคลที่มีเครือข่ายเข้ามาช่วยผลักดันงานของรัฐ เมื่อเป็นเช่นนี้ บุคคลจากภาค NGO ที่เข้ามาช่วยงาน ก็ต้องดึงเครือข่ายเข้ามาช่วยด้วย เพราะไม่เช่นนั้นก็ไม่มีแขนขา ไม่มีพลัง ไปๆมาๆ เครือข่ายเหล่านั้นก็เพิ่มอำนาจต่อรองมากขึ้นเรื่อยๆ ส่วนภาครัฐก็ถดถอยลงไปเรื่อยๆ เหมือนเรื่อง ม้าอารี ที่ทีแรกวัวก็เพียงขอเข้ามาอาศัยชั่วคราวเพื่อหลบฝน แต่พอนานๆ เข้า วัวก็เริ่มเบียดม้าอารีออกไป จนม้าอารีต้องออกไปตากฝนแทน

ยังมีองค์กรพัฒนาเอกชนจำนวนมากในบ้านเราที่ไม่ได้เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับการบริหารจัดการของรัฐ ไม่ได้เข้าไปเป็นกรรมการบอร์ด ไม่ได้เข้าไปขอเงินสปอนเซ่อร์ ไม่ได้ขอส่วนแบ่งผลประโยชน์ ทำงานอย่างจิตอาสา อาจมีธุรกิจบ้างแต่เป็นประเภทองค์กรไม่เอากำไรที่เรียกว่า Non-profit organization หรือเอากำไรเพียงเพื่ออยู่ได้ที่เรียกว่า not-for-profit organization

รัฐบาลคงต้องลงมาจัดระเบียบเรื่องนี้ใหม่ เพราะถ้าปล่อยให้องค์กรพัฒนาเอกชน หรือ NGO เข้ามาทำหน้าที่ออกนโยบายได้ ก็เท่ากับทำงานให้รัฐโดยตรง ไม่ได้ทำหน้าที่องค์กรตรวจสอบอย่างที่ควรจะเป็น ไม่งั้นเรื่องยุ่งๆก็จะเกิดต่อไป เหมือนที่เกิดทุกวันนี้