Petroleum Accounting เรื่องที่คนไทยไม่คุ้นเคย

Petroleum Accounting เรื่องที่คนไทยไม่คุ้นเคย

สมัยเรียนหนังสือและทำงาน ทั้งภาคเอกชนและภาครัฐที่่เท็กซัส นานถึง 11 ปีเต็ม ได้เห็นอะไรหลายอย่างที่คนอยู่รัฐอื่นไม่ทราบ หรือไม่สนใจ

เหตุที่ย้ายไปเรียนที่เท็กซัส ก็เพราะช่วงนั้นเท็กซัสถือเป็นรัฐที่ร่ำรวยมากจากน้ำมัน ไปไหนๆ ก็เห็นแต่ตั๊กกะแตนตำข้าว เครื่องขุดเจาะน้ำมันเต็มไปหมด โดยเฉพาะ Midland เขต West Texas นักเรียนจากประเทศกำลังพัฒนาแบบเราได้รับยกเว้นไม่ต้องเสียเงินเพิ่มจากการที่ไม่ได้เป็นชาวเท็กซัส ไม่ต้องจ่ายค่าเล่าเรียนที่เรียกว่า out-of-state fee แต่จ่ายราคาเดียวกับคนเท็กซัส

ตอนเรียนนั้น ก็พบว่ามีบางวิชาที่เปิดสอนต่างจากที่อื่น โดยเฉพาะวิชาหนึ่งทางด้านการเงินและบัญชีที่เกี่ยวกับอุตสาหกรรมและธุรกิจขุดเจาะน้ำมัน เรียกว่า Petroleum Accounting ซึ่งต่อมาได้เปลี่ยนเป็น Oil & Gas Finance and Accounting ที่สนใจก็เพราะมีครูคนหนึ่งชื่อศาสตราจารย์ Brock สอนที่มหาวิทยาลัยเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านบัญชีและการเงินด้านปิโตรเลี่ยม และเขียนหนังสือเป็น Text book ที่นักเรียนด้านบัญชีและการเงินในธุรกิจ Petroleum Oil & Gas ทั่วสหรัฐต้องอ่าน

เนื่องจากไม่ได้เรียนบัญชีจึงไม่เคยเรียนกับครูท่านนี้ ก็ได้แต่อาศัยอ่านบางบทความที่สนใจ ซึ่งก็เข้าใจบ้างไม่เข้าใจบ้าง เพราะวิชาบัญชีนั้นละเอียดละออในรายละเอียดมากถึงขนาดมีปัญหาตอนเรียนวิชานี้ ยิ่งเป็นบัญชีของปิโตรเลี่ยม (Petroleum Accounting) ก็ยิ่งยุ่งยาก เพราะมีปัจจัยทางด้านวิศวกรรม ธรณีวิทยา แร่ธาตุ มาเกี่ยวอีกมาก

ทราบว่า ที่เมืองไทย (ไม่แน่ใจว่าเป็นที่จุฬาหรือไม่) ก็มีสถาบันปิโตรเลี่ยม แต่เน้นในด้านวิศวกรรม ธรณีวิทยา ซึ่งไม่แน่ใจว่ามีการเรียนการสอนด้านบัญชีและการเงินสำหรับธุรกิจปิโตรเลี่ยมหรือไม่ ความซับซ้อนของการทำบัญชีและรายงานทางการเงินในธุรกิจนี้ทำให้คนที่เรียนบัญชีธรรมดาๆไม่เข้าใจ และผลก็คือระบบบัญชีและการเงินของบริษัทไม่ได้ถูกตรวจสอบลงลึกในเรื่องเฉพาะ สังเกตุจากที่เคยไปประชุมผู้ถือหุ้น ปตท. และอ่านรายงานประจำปีของบริษัท ก็ไม่พบว่ามีอะไรเป็นพิเศษ โดยเฉพาะผู้สอบบัญชีของกลุ่ม ปตท.นั้นเป็นสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน หรือ สตง. ที่เป็นหน่วยงานรัฐที่ทำหน้าที่สอบบัญชีทั่วไป

ประเทศไทยมีเรื่องเกี่ยวกับพลังงานไม่น้อย และส่วนหนึ่งเป็นเรื่องอุตสาหกรรมการผลิตเช่น ปตทสผ. ของกลุ่ม ปตท. และบรรษัทข้ามชาติด้านน้ำมันที่รับสัมปทานขุดเจาะสำรวจในประเทศไทย รวมถึงพวก Joint-development ระหว่างประเทศไทยกับเพื่อนบ้าน เช่น ไทย-มาเลเซีย ไทย-พม่า เป็นต้น แต่ทั้งหมดเป็นเรื่องแบ่งปันผลประโยชน์มากกว่าเรื่องบัญชีการเงินที่ควบคุมตรวจสอบธุรกิจของอุตสาหกรรมนี้ แม้กระทั่งกลุ่มที่ออกมาเรียกร้องให้ปฏิรูประบบพลังงานบ้านเรา เท่าที่ติดตามก็ไม่เคยได้ยินเรื่องการควบคุมและตรวจสอบการเงินและบัญชี มีแต่เรื่องสมบัติชาติ เรื่องสัมปทาน เรื่องแบ่งปันรายได้ แบ่งปันผลผลิต

เคยเขียนเรื่องนี้เมื่อ 2 - 3 ปีที่แล้วลงหนังสือพิมพ์ มีความเห็นว่าจะเป็นสัมปทานหรือแบ่งปันผลผลิตนั้นไม่สำคัญเท่าเรื่องรายได้ เพราะทุกอย่างจบลงที่รายได้ เพียงแต่จะแบ่งกันที่จุดไหนและเอาอะไรเป็นตัวตั้ง และการที่จะรู้รายได้จริงๆ นั้น ต้องรู้เรื่องบัญชีและการเงิน เพราะไม่เช่นนั้น เจ้าของเทคโนโลยีต่างชาติสามารถโยกรายรับรายจ่ายได้ตลอด เราไม่รู้เท่าเขา ตรวจสอบไม่ได้

เรื่องน้ำมัน แก๊ส พลังงานนี่ เป็นเรื่องของธุรกิจระดับล้านล้านบาท กระทรวงพลังงานจึงมีความสำคัญอย่างมาก ประเภทกระทรวงอาจถือว่าเป็นระดับ S small แต่ธุรกิจถือเป็นระดับ L large ในขณะที่การตรวจสอบระบบการเงินการบัญชีของ สตง. เป็นแค่การตรวจสอบทั่วไปเหมือนเช่นองค์กรของรัฐหรือรัฐวิสาหกิจอื่นๆ ทั้งๆ ที่เป็นเรื่องเฉพาะบัญชีการเงินของระบบปิโตรเลี่ยมที่ต้องมีผู้มีความรู้ความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน ซึ่งถ้าเป็นเช่นนี้ต่อไป ก็คงน่าสงสัยประสิทธิภาพในการตรวจสอบการบัญชีและการเงินของ สตง.เป็นอย่างยิ่ง