กฎหมายกับการจัดการขยะ

กฎหมายกับการจัดการขยะ

ด้วยเหตุผลทั้งทางด้านคุณลักษณะและราคา คงปฏิเสธไม่ได้ว่าพลาสติกได้เข้ามามีบทบาทในชีวิตคนยุคปัจจุบันอย่างมากมายในหลากหลายรูปแบบ

อย่างไรก็ดี ด้วยอายุย่อยสลายที่ใช้เวลาหลายปีก็เป็นหนึ่งในปัญหาที่ทั่วโลกต้องเผชิญ นอกจากนี้ ปัญหาที่พบมากขึ้นซึ่งเป็นตัวกระตุ้นสร้างกระแสรักษ์สิ่งแวดล้อมมากยิ่งขึ้นในช่วงนี้คือการพบเจอถุงพลาสติกภายในร่างกายของสัตว์น้ำใหญ่น้อยจำนวนมาก ซึ่งส่งผลร้ายต่อชีวิตของสัตว์น้ำเหล่านั้น  อีกทั้งเป็นที่น่าหวั่นเกรงว่าอาจส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศน์ต่อไปด้วย

ในปี 2019 เริ่มมีการรณรงค์ให้เลิกใช้ถุงพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้งให้เห็นอยู่มากมาย หลายประเทศทั่วโลกเริ่มออกกฎหมายบังคับห้ามไม่ให้ใช้ถุงพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง โดยอาจมีการเก็บค่าใช้จ่ายเพิ่มเติม หรือการใช้มาตรการทางภาษีควบคู่ และมีอีกหลายประเทศที่ตื่นตัวและเข้าสู่กระบวนการร่างกฎหมายดังกล่าวซึ่งรวมถึงประเทศไทยด้วย

ประเทศไทยได้ตั้งเป้าเลิกใช้พลาสติกบางจำพวกที่ไม่สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ หรือไม่สามารถย่อยสลายได้ทั่วประเทศภายใน 1 มกราคม 2564  รวมไปถึงการเร่งรัดการดำเนินแผนงานตามโรดแมปการจัดการขยะพลาสติก พ.ศ. 2561 - 2573 โดยมีเป้าหมายลดการใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง ภายในปี 2565 ด้วยการใช้วัสดุทดแทนที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และการนำขยะพลาสติกกลับมาใช้ประโยชน์ 100% ภายในปี 2570 พร้อมกับมีกฎหมายบังคับใช้ควบคู่การรณรงค์

อย่างไรก็ดี แม้การออกกฎหมายควบคุมการใช้และการจัดการขยะพลาสติกดังกล่าวจะเป็นมาตรการที่ดีมาตรการหนึ่ง แต่ที่จริงแล้ว ก็ควรดำเนินการจัดการขยะทั้งหลายให้เป็นระบบในภาพรวมด้วย ซึ่งจำเป็นที่จะต้องคำนึงถึงปัจจัยต่าง ๆ ให้รอบด้าน อาทิ ระบบการจัดการแยกขยะและการรีไซเคิล การทำลายขยะอย่างมีประสิทธิภาพและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมให้ได้มากที่สุด มาตรการบังคับใช้ รวมถึงระยะเวลาในการปรับตัวทั้งทางฝั่งผู้ประกอบการและผู้บริโภคซึ่งมีหลากหลายลักษณะและฐานะประกอบด้วย

นอกจากนี้ รัฐควรเตรียมการรับมือในประเด็นต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องด้วย อาทิ กรณีของถุงขยะในบ้านเรือน เนื่องจากปัจจุบันประชาชนส่วนใหญ่จะใช้ถุงพลาสติกที่ได้รับจากร้านค้าเป็นถุงขยะไปด้วย ดังนั้น รัฐจึงควรต้องพิจารณาการเตรียมการในส่วนนี้เช่นกัน โดยอาจศึกษาจากประเทศญี่ปุ่นซึ่งเป็นหนึ่งในประเทศที่มีระบบการจัดการด้านขยะที่ดีมากประเทศหนึ่ง โดยในเรื่องนี้ ญี่ปุ่นจะมีถุงพลาสติกไว้ใช้ทิ้งขยะแต่ละประเภทซึ่งสามารถหาซื้อได้ตามร้านค้าทั่วไปในราคาค่อนข้างถูก  โดยถุงพลาสติกดังกล่าวจะมีลักษณะของพลาสติกที่แตกต่างกันไปตามความเหมาะสมเพื่อประโยชน์แก่การดำเนินงานจัดการขยะในลำดับต่อไป

เราสามารถพบเห็นจุดรับขยะรีไซเคิลชนิดต่าง ๆ ตามซุปเปอร์มาร์เก็ตต่าง ๆ ในญี่ปุ่น อาทิ ถาดโฟมใส่อาหาร กล่องนม กระป๋องอลูมิเนียม เพื่อให้ประชาชนสามารถนำมาทิ้งได้  ซึ่งทางภาครัฐอาจนำแนวทางนี้มาร่วมใช้ด้วย โดยการใช้มาตรการทางภาษี เช่น ให้ร้านค้าต่าง ๆ สามารถหักค่าลดหย่อนได้ หากขึ้นทะเบียนกับภาครัฐในการที่จะมีจุดรับขยะรีไซเคิล เพื่อที่จะได้ทำให้การนำขยะไปรีไซเคิลสามารถทำได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ทั้งยังประหยัดงบประมาณในด้านสถานที่และการจัดเก็บขยะรีไซเคิลด้วย

การรณรงค์ให้ใช้ขวดแก้วดังเช่นในอดีต ก็น่าจะเป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่ดีในการลดขยะจำพวกขวดพลาสติก โดยอาจนำแนวทางของเยอรมนีมาใช้ประกอบด้วย ด้วยการที่เมื่อลูกค้านำขวดไปคืนตามร้านค้าก็จะได้ค่าขวดกลับมาด้วย (ซึ่งลูกค้าจะจ่ายไปก่อนแล้วคล้าย ๆ เป็นค่ามัดจำ) โดยจะมากน้อยเพียงใดก็ขึ้นกับวัสดุที่ใช้ทำขวด

อนึ่ง หากรัฐจัดทำถุงขยะพลาสติกขาย หรือกรณีมีมาตรการลงโทษที่เป็นค่าปรับ รายได้ของรัฐและค่าปรับส่วนนี้ควรนำไปใช้ในการรักษาหรือฟื้นฟูสิ่งแวดล้อม รวมไปถึงการจัดการขยะเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดในการจัดการเพื่อสิ่งแวดล้อม

 อย่างไรก็ตาม แม้ว่าการศึกษาตัวอย่างจากหลาย ๆ ประเทศเป็นสิ่งที่ดี แต่ต้องไม่ลืมบริบทของประเทศไทยด้วย หากนำมาใช้โดยคิดไม่รอบด้าน รวมถึงปัจจัยด้านเวลาในการปรับตัวและเตรียมการรับมือ ก็อาจทำให้ประสบปัญหาได้ ดังเช่นในเคนย่าซึ่งได้ประกาศใช้กฎหมายห้ามใช้ถุงพลาสติกที่มีบทบังคับรุนแรง เช่น ผู้ใดผลิต นำเข้า หรือขายถุงพลาสติก  (plastic carrier bag) อาจถูกปรับสูงสุดไม่เกิน 40,000 ดอลลาร์ หรือจำคุกสูงสุดไม่เกิน 4 ปี  หรือกรณีใช้ถุงพลาสติกที่ห้ามใช้ อาจถูกปรับอย่างน้อย 500 ดอลลาร์ หรือจำคุกไม่เกิน 1 ปี เป็นต้น ก็ประสบปัญหาอย่างมากทั้งทางด้านสังคมและเศรษฐกิจจากกฎหมายฉบับดังกล่าว ไม่ว่าจะเป็นปัญหาการลักลอบนำเข้า หรือภาวะการชะงักงันของธุรกิจในหลายบริษัท

ในประเทศไทยเองยังมีอีกหลายชุมชนริมน้ำ ที่รัฐยังดูแลเกี่ยวกับการจัดการขยะไม่ทั่วถึง และส่งผลให้คนในชุมชนเหล่านั้นยังใช้แหล่งน้ำเป็นแหล่งทิ้งขยะ อันส่งผลให้เกิดโศกนาฏกรรมต่อสัตว์ทะเลดังที่เราได้พบเห็นในข่าว ยังไม่นับกรณีที่ประชาชนทั่วไปบางส่วนทิ้งขยะไม่เลือกที่ ซึ่งนอกจากจะทำให้เกิดภาพที่ไม่สวยงามและเป็นแหล่งเชื้อโรคแล้ว ก็ยังมีโอกาสส่งผลทำให้เกิดการอุดตันของท่อระบายน้ำและคูคลองต่าง ๆ ทำให้เกิดน้ำท่วม บางส่วนที่หลุดรอดไปได้ ก็จะมีปลายทางอยู่ที่แหล่งน้ำซึ่งสร้างปัญหาต่อระบบนิเวศน์ต่อไป

สิ่งที่สำคัญที่สุด คงไม่ใช่แค่การลด ละ เลิก ใช้ถุงพลาสติก แต่เป็นเรื่องของการปลูกฝังจิตสำนึกและการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมต่าง ๆ เช่น การแยกขยะและการทิ้งขยะลงในถังขยะที่ถูกต้องตามประเภทของขยะ การมีมาตรการบังคับใช้ทางกฎหมายที่เข้มงวดสำหรับผู้ที่ฝ่าฝืน  รวมถึงระบบการจัดเก็บขยะที่ดีด้วย เพราะแม้จะมีกฎหมายที่ดี แต่ถ้าไม่อาจจัดการกับปัญหาดังกล่าวได้ ปัญหาที่มีต่อสิ่งแวดล้อมก็คงไม่อาจลดลงได้ 

เช่นเดียวกับอีกหลาย ๆ เรื่องที่มีการปฏิบัติในรูปแบบหนึ่งมาเป็นเวลานาน สิ่งที่สำคัญที่สุดในการดำเนินการเรื่องนี้ คือการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมและการสร้างจิตสำนึกของคน มิใช่เรื่องของการบังคับใช้กฎหมาย การปลูกฝังจิตสำนึกตั้งแต่เด็กยังคงเป็นสิ่งสำคัญ แต่ต้องดำเนินการอย่างจริงจังควบคู่ไปกับการรณรงค์และปลูกฝังจิตสำนึกผ่านสื่อต่าง ๆ ให้กับประชาชน เพื่อให้เกิดผลที่ยั่งยืนด้วย.