มอเตอร์ไซค์: ปัจจัยที่ 5 ของคนเมือง

มอเตอร์ไซค์: ปัจจัยที่ 5 ของคนเมือง

แนวโน้มหลักของการเดินทางในภาคมหานครยังคงเป็นการใช้รถยนต์ส่วนตัวที่เพิ่มขึ้นอย่างไม่มีที่สิ้นสุด

แม้ในช่วงหลังการเดินทางด้วยขนส่งมวลชนระบบรางได้เพิ่มขึ้นตามความคืบหน้าในการพัฒนา ในขณะที่การเดินทางด้วยรถประจำทางกลับลดลงอย่างเห็นได้ชัด ท่ามกลางกระแสการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ พาหนะสำคัญของผู้คนในเมืองทั่วประเทศไทยคือจักรยานยนต์ ซึ่งเป็นองค์ประกอบสำคัญของระบบการขนส่งในเมือง ทั้งสำหรับผู้โดยสารและสิ่งของ การพัฒนาแพลตฟอร์มบนฐานดิจิทัล ยิ่งทำให้พฤติกรรมการขับขี่มอเตอร์ไซค์เปลี่ยนแปลงไปมาก ในโครงการคนเมือง 4.0: อนาคตชีวิตเมืองในประเทศไทย ดร.เปี่ยมสุข สนิท ภายใต้แผนงานคนไทย 4.0 ซึ่งสนับสนุนโดยสำนักงานการวิจัยแห่งชาติได้กวาดสัญญาณในเรื่องนี้มา 3 ประเด็นด้วยกัน

  1. กรุงเทพมหานคร: เมืองมอเตอร์ไซค์ชั่วกัลปาวสาน

จำนวนที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่องปีละ 1 แสนคันทุกปี สะท้อนปัญหาหลักของมหานคร ในด้านโครงข่ายถนนและประสิทธิภาพของระบบขนส่งสาธารณะ ระบบถนนในกทม. มีแต่สายหลัก ไม่มีสายรอง แต่มีตรอกซอกซอยจำนวนมาก ส่งผลให้ระบบขนส่งสาธารณะที่มีประสิทธิภาพไม่สามารถเกิดขึ้นได้ ด้วยรถเมล์และรถไฟฟ้าไม่สามารถเข้าไปในซอยได้ คนในซอยจึงต้องอาศัยการเดินทางด้วยรถส่วนตัวหรือมอเตอร์ไซค์ สำหรับกลุ่มผู้มีรายได้น้อยและชนชั้นกลางที่อาศัยทั้งในและนอกเมือง มอเตอร์ไซค์จึงทำหน้าที่เป็นพาหนะหลักที่ใช้เดินทางไปยังจุดหมายปลายทาง นอกจาก เหตุผลด้านเศรษฐกิจที่คนจำนวนมากไม่สามารถซื้อรถยนต์ส่วนบุคคลได้ ยังมีเหตุผลอีกมายมายที่ทำให้มอเตอร์ไซค์ได้รับความนิยม เช่น ความประหยัดน้ำมัน ความคล่องตัวา หาที่จอดรถในเมืองได้ง่ายกว่า และประหยัดเวลาในการเดินทางมากกว่า คนจำนวนมากจึงซื้อมอเตอร์ไซด์เป็นยานพาหนะส่วนตัว และใช้บริการมอเตอร์ไซค์รับจ้างในการเดินทาง รวมทั้งบริการส่งพัสดุและส่งอาหารเพื่อประหยัดเวลา

ทุกวันนี้มอเตอร์ไซค์จึงไม่ได้เป็นเพียงยานพาหนะในการเดินทาง แต่ยังเป็นกองทัพมดที่สนับสนุนเศรษฐกิจเมืองยุคใหม่ท่ามกลางการเติบโตของเศรษฐกิจกิ๊ก (gig economy) และเศรษฐกิจแบ่งปัน (sharing economy) จากการคาดประมาณปริมาณการเดินทางภาคมหานครในอนาคตพบว่า การจราจรจะยังคงติดขัดอย่างมาก เนื่องจากจำนวนรถยนต์ส่วนตัวจะยังคงเพิ่มสูงขึ้น ดังนั้น ตราบใดที่ปัญหาบล็อกถนนขนาดใหญ่ (superblock) ยังคงเป็นความท้าทายด้านโครงข่ายถนน รวมถึงการเดินทางและการขนส่งสินค้าในช่วงกิโลเมตรสุดท้าย (the last kilometer) ยังคงต้องพึ่งพาหนะที่มีความคล่องตัวสูง การเดินทางของคนและการขนส่งของในเมืองกรุงก็ยังคงต้องพึ่งพามอเตอร์ไซค์ต่อไป 

  1. มอเตอร์ไซค์รับจ้าง: เส้นเลือดฝอยของคนเมือง

ปัญหาซุปเปอร์บล็อกและการขาดระบบถนนสายรองในภาคมหานครที่ยากเกินแก้ไข ทำให้รัฐไม่สามารถพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะที่มีประสิทธิภาพได้ ปัญหาเหล่านี้กลับมีผู้ประกอบการนอกระบบเข้ามาแก้ปัญหาแทน ซึ่งก็คือมอเตอร์ไซค์รับจ้าง จากการที่ประชากรในเขตเมืองเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ทำให้ความต้องการเดินทางเพิ่มมากขึ้น อีกทั้งผู้คนยังมีความเร่งรีบในการเดินทาง แต่ด้วยการจัดวางทางผังเมืองที่ไม่เป็นระบบ และบริการขนส่งสาธารณะไม่ทั่วถึงและเพียงพอ และราคาจักรยานยนต์ไม่แพงมาก ทำให้สามารถประกอบอาชีพมอเตอร์ไซค์รับจ้างได้ง่าย ปัจจัยทั้งหลายนี้จึงทำให้บริการขนส่งรูปแบบนี้ได้ขยายตัวอย่างมากในช่วง 30 ปีที่ผ่านมา

ในปัจจุบันจำนวนผู้ขับมอเตอร์ไซค์รับจ้างในภาคมหานคร มีมากกว่า 1 แสนคน แต่ละคนขับกันประมาณ 20-30 เที่ยวต่อวัน เมื่อรวมแล้วมอเตอร์ไซค์รับจ้างทั้งหมดวิ่งรับส่งเป็นจำนวน 2-3 ล้านเที่ยวต่อวันมากกว่าจำนวนเที่ยวของรถไฟฟ้าและรถไฟฟ้าใต้ดินรวมกัน 3 เท่า มอเตอร์ไซค์รับจ้างจึงเป็นทางรอดเดียวของระบบขนส่งมวลชนทางราง ซึ่งเปรียบเสมือนเส้นเลือดใหญ่ของเมืองที่ต้องการเส้นเลือดฝอยมารองรับ เนื่องจากระบบขนส่งสาธารณะอื่นไม่สามารถเป็นระบบขนส่งรอง (feeder) ที่สนับสนุนรถไฟฟ้าและรถไฟฟ้าใต้ดินได้ มอเตอร์ไซค์รับจ้างเท่านั้นที่ช่วยขนส่งคนจากบ้านไปสู่ป้ายรถเมล์ สถานีรถไฟฟ้า และสถานที่ทำงานได้อย่างสะดวกรวดเร็ว หากปราศจากคนขับมอเตอร์ไซค์รับจ้าง ภาคมหานครจะเป็นอัมพาตทันที การพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะด้วยมอเตอร์ไซค์รับจ้างให้มีคุณภาพ ทั้งในด้านราคา การบริหารจัดการ และความปลอดภัย จึงเป็นคำตอบหนึ่งในการแก้ไขปัญหาการจราจรอย่างยั่งยืนภาคมหานครในอนาคต

  1. มอเตอร์ไซค์รุ่งโรจน์ในยุคอีคอมเมิร์ซ

การเติบโตของธุรกิจรถร่วมโดยสาร (ride hailing services) และธุรกิจบริการส่งของได้เพิ่มโอกาสในการใช้มอเตอร์ไซค์เพื่อประกอบอาชีพมากขึ้น จำนวนผู้สมัครทำงานในธุรกิจส่งของ เช่น Grab Bike เพิ่มสูงขึ้นมาก เนื่องจากสามารถทำเป็นรายได้เสริมจากงานประจำ ในปัจจุบันพบว่ามีผู้ขับรถจักรยานยนต์เพื่อส่งผู้โดยสาร พัสดุ เอกสารและอาหารให้กับหลายบริษัทในเวลาเดียวกันพร้อมกัน เริ่มจากบริการของแอปพลิเคชันหลักได้แก่ Line Man และ Grab Bike ต่อมามีแอปพลิเคชันส่งพัสดุและเอกสารเพิ่มขึ้นในตลาด อาทิ Banana Bike, Lalamove, SendRange, Skootar, Grab Bike (Delivery), SCG Express และ Deliveree เป็นต้น

ธุรกิจออนไลน์เติบโตอย่างต่อเนื่อง ในปัจจุบันบริการส่งสินค้าออนไลน์ต้องการความรวดเร็วในการส่ง จึงทำให้การขนส่งด้วยมอเตอร์ไซค์ซึ่งเป็นการขนส่งช่วงสุดท้าย (last mile delivery) ของสินค้าออนไลน์ มีการเติบโตอย่างต่อเนื่องเช่นเดียวกัน ธุรกิจส่งของเริ่มเข้ามาให้บริการจัดส่งอาหารมากขึ้นด้วย แกร็บฟู้ด (Grab Food) เป็นธุรกิจที่มีการเติบโตสูงสุดในบรรดาบริการทั้งหมดของแกร็บประเทศไทย ในปัจจุบันมีผู้เปลี่ยนอาชีพมาทำงานหลักหรือทำงานเสริมเป็นผู้รับส่งอาหารเป็นจำนวนมาก นอกจากส่งอาหารแล้ว แอปพลิเคชันชื่อดังอย่าง Line Man ยังให้บริการรับส่งเอกสารและส่งสินค้าจากร้านสะดวกซื้อ เช่น SevenEleven อีกด้วย ในปัจจุบันมีแอปพลิเคชันส่งอาหารให้บริการในกรุงเทพฯ อาทิ Get, FoodPanda, GrabFood, Skootar, Honestbee, HAPPY FRESH และ NOW เป็นต้น ทุกวันนี้จึงเป็นยุคทองในการหารายได้ของคนขับมอเตอร์ไซค์อย่างแท้จริง

 จากแนวโน้มเหล่านี้ คงมองภาพอนาคตออกว่า มอเตอร์ไซค์จะยังคงเป็นปัจจัยที่ 5 ของคนเมืองกรุงไปอีกยาวนาน

โดย... 

อภิวัฒน์ รัตนวราหะ และคณะ

คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาฯ