อินโดนีเซียปักหมุดเมืองหลวงใหม่... สู่โอกาสทางเศรษฐกิจ

อินโดนีเซียปักหมุดเมืองหลวงใหม่... สู่โอกาสทางเศรษฐกิจ

นาทีนี้คงปฏิเสธไม่ได้ว่าโลกกำลังตกอยู่ในสถานการณ์ที่ค่อนข้างน่ากังวล ทั้งจากสงครามการค้า Brexit การประท้วงในฮ่องกง

ไปจนถึงความไม่สงบในตะวันออกกลาง ขณะที่เศรษฐกิจของหลายประเทศทั่วโลกเขยิบเข้าใกล้ภาวะชะลอตัว จึงไม่น่าแปลกใจที่แต่ละประเทศกำลังเร่งพิจารณามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ซึ่งแบ่งได้เป็น
(1) มาตรการระยะสั้น อาทิ การอัดฉีดสภาพคล่องเข้าระบบเศรษฐกิจ หรือการกระตุ้นการบริโภคในประเทศ และ (2) มาตรการระยะยาว อาทิ การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจให้สามารถขับเคลื่อนประเทศต่อไปได้ในระยะยาว ซึ่งมาตรการประเภทหลังเป็นประเด็นที่ผมอยากมาชวนคุยในวันนี้ หลังจากได้ทราบข่าวการประกาศย้ายเมืองหลวงของอินโดนีเซีย เนื่องจากเห็นว่าเป็นโครงการที่จะเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญของเศรษฐกิจอินโดนีเซียในอนาคต

รัฐบาลอินโดนีเซียประกาศแผนย้ายเมืองหลวงจากกรุงจาการ์ตาไปยังจังหวัดกาลิมันตันตะวันออกบนเกาะเบอร์เนียว ซึ่งห่างจากกรุงจาการ์ตาไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือกว่า 1,000 กิโลเมตร สาเหตุเบื้องต้นของการย้ายเมืองหลวงก็เพื่อช่วยบรรเทาปัญหาต่างๆ ที่สะสมมานานในกรุงจาการ์ตา ไม่ว่าจะเป็นปัญหาแผ่นดิน
ทรุดตัว อันเป็นผลมาจากการสูบน้ำบาดาลขึ้นมาใช้มากเกินไป นำไปสู่ความเสี่ยงที่กรุงจาการ์ตาอาจจมอยู่ใต้ทะเลในระยะข้างหน้า ตลอดจนปัญหาความแออัดของประชากรที่มีมากกว่า
10 ล้านคน บนพื้นที่เพียง 662 ตารางกิโลเมตร ซึ่งหมายถึงมีประชากรอาศัยอยู่มากถึง 15,764 คนต่อตารางกิโลเมตร เทียบกับกรุงเทพฯ ที่ 3,625 คนต่อตารางกิโลเมตร จึงไม่น่าแปลกใจว่าเหตุใดการจราจรในกรุงจาการ์ตาจึงติดขัดมากและกลายเป็นปัญหาเรื้อรัง จนทำให้อินโดนีเซียสูญเสียโอกาสทางธุรกิจคิดเป็นมูลค่าถึง 4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี เลยทีเดียว

อย่างไรก็ตาม ผมเห็นว่าการตัดสินใจย้ายเมืองหลวงของอินโดนีเซียมิใช่เพียงเพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว
แต่โครงการนี้ยังก่อให้เกิดประโยชน์ต่อเศรษฐกิจอินโดนีเซียในระยะยาว ดังนี้

  • การเติบโตทางเศรษฐกิจ (Growth Engine) : แผนการย้ายเมืองหลวงจะมีส่วนช่วยกระตุ้นการจ้างงานและขับเคลื่อนเศรษฐกิจอินโดนีเซียให้ขยายตัวได้ตามเป้าหมาย 7% ที่ประธานาธิบดี Jokowi เคยหาเสียงไว้เมื่อปี 2557 ซึ่งที่ผ่านมารัฐบาลยังไม่สามารถผลักดันเศรษฐกิจอินโดนีเซียให้ขยายตัวได้มากกว่า 5% เป็นที่แน่นอนว่าการสร้างเมืองใหม่จะดึงดูดให้เม็ดเงินลงทุนหลั่งไหลเข้ามาในอินโดนีเซียเป็นจำนวนมาก เพื่อก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐาน หน่วยงานราชการ อาคารบ้านเรือนต่างๆ โดยในเบื้องต้นรัฐบาลอินโดนีเซียตั้งงบประมาณสำหรับการย้ายเมืองหลวงไว้ 3.3 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ ขณะเดียวกัน รัฐบาลอินโดนีเซียก็ไม่ได้ละทิ้งการพัฒนากรุงจาการ์ตานะครับ รัฐบาลได้ตั้งงบประมาณสำหรับการพัฒนากรุงจาการ์ตาไว้กว่า 4 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ ไม่ว่าจะเป็นระบบขนส่งมวลชน ระบบบำบัดน้ำเสีย และการขยายท่อส่งน้ำให้ครอบคลุมทั้งกรุงจาการ์ตา
  • การกระจายความมั่งคั่ง (Spreading Wealth) : การย้ายเมืองหลวงจะช่วยกระจายความมั่งคั่งไปยังพื้นที่อื่นๆ โดยเฉพาะทางฝั่งตะวันออกของประเทศ จากเดิมที่ความเจริญทางเศรษฐกิจกระจุกตัวอยู่เฉพาะในเกาะชวาซึ่งเป็นที่ตั้งของกรุงจาการ์ตาและเป็นศูนย์รวมธุรกิจสำคัญที่สุดของอินโดนีเซีย ทั้งนี้ ในปี 2561 เกาะชวามีขนาดเศรษฐกิจคิดเป็นสัดส่วนถึง 58.5% ของ GDP ทั้งประเทศ และมีประชากรอาศัยอยู่ถึง 60% ของประชากรทั้งประเทศ ขณะที่ขนาดเศรษฐกิจของกาลิมันตัน อันเป็นที่ตั้งของเมืองหลวงใหม่ มีสัดส่วนเพียง 8.2% และมีประชากรอาศัยอยู่เพียง 5.8% เท่านั้น
  • การเชื่อมโยงระหว่างกัน (Better Connectivity) : เป็นที่น่าสังเกตว่า จังหวัดกาลิมันตันตะวันออกตั้งอยู่ใจกลางของประเทศจึงเป็นจุดเชื่อมต่อสำคัญที่ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการเชื่อมโยงระบบโลจิสติกส์ของประเทศเข้าด้วยกัน โดยเฉพาะพื้นที่ทางฝั่งตะวันออกและทางตะวันตกของอินโดนีเซีย อีกทั้งยังเป็นโอกาสที่ดีในการสร้างความเชื่อมโยงระดับภูมิภาค โดยเฉพาะด้านการท่องเที่ยวกับประเทศเพื่อนบ้านอย่างมาเลเซียและบรูไน เนื่องจากคาดว่าจะช่วยดึงดูดนักท่องเที่ยวให้เดินทางมายังกาลิมันตันได้มากขึ้นในระยะข้างหน้า

            สุดท้ายนี้ ผมอยากให้ผู้ประกอบการติดตามความคืบหน้าของแผนการย้ายเมืองหลวงของอินโดนีเซียอย่างใกล้ชิด เนื่องจากปัจจุบันจังหวัดกาลิมันตันตะวันออกยังเป็นพื้นที่ป่าไม้และขาดการพัฒนาอยู่อีกมาก
ซึ่งแน่นอนครับว่าอินโดนีเซียจำเป็นต้องดึงดูดการลงทุนจากต่างชาติ จึงเป็นโอกาสสำหรับผู้ประกอบการไทยที่มีประสบการณ์ ความเชี่ยวชาญ และผู้ประกอบการ SMEs ที่อยู่ใน Supply Chain โดยเฉพาะด้านการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานหรือระบบสาธารณูปโภคต่างๆ อีกทั้งยังเป็นโอกาสสำหรับสินค้าส่งออกของไทย อาทิ
วัสดุก่อสร้างและเฟอร์นิเจอร์ ในการขยายตลาดรองรับภาคก่อสร้างในระยะข้างหน้าครับ

 Disclaimer : คอลัมน์นี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคล จึงไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับความคิดเห็นของ EXIM BANK