ลดดอกเบี้ยนโยบาย คนไทยได้อะไรบ้าง

ลดดอกเบี้ยนโยบาย คนไทยได้อะไรบ้าง

ก็ถือเป็นเรื่องที่ค่อนข้าง surprise ตลาดนะครับเมื่อ ธปท. ประกาศลดดอกเบี้ยนโยบายในการประชุมเมื่อวันที่ 8 สิงหาคม ที่ผ่านมา

นับเป็นการลดครั้งแรกในรอบ 4 ปี โดยลดจาก 1.75% มาเป็น 1.50% เนื่องจากต้องการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ดูจะโตต่ำกว่าคาด ซึ่งในทางทฤษฎีการลดดอกเบี้ยนโยบาย จะสร้างแรงจูงใจให้ธนาคารพาณิชย์ลดดอกเบี้ยเงินกู้และเงินฝากลง ทำให้ภาระหนี้ในปัจจุบันลดลงและเอื้อให้เกิดการกู้เพื่อมาลงทุนและใช้จ่ายมากขึ้น กระตุ้นให้เกิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจ

แต่ในทางปฏิบัติ คนแต่ละกลุ่มก็ได้รับผลจากการลดดอกเบี้ยนโยบายที่แตกต่างกันนะครับ

อย่างเช่น ถ้าเราลองดูธุรกิจ SME สินเชื่อส่วนใหญ่จะอิงตามดอกเบี้ย MRR ในขณะที่บริษัทขนาดใหญ่มักอิงตามดอกเบี้ย MLR ซึ่งแม้ที่ผ่านมาแบงก์จะปรับดอกเบี้ยเงินกู้เหล่านี้ตามอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่เปลี่ยนไป แต่ก็ไม่ใช่ทุกครั้งนะครับ อย่างการลดดอกเบี้ยนโยบายครั้งล่าสุด แบงก์พาณิชย์ขนาดใหญ่ก็มีการลดอัตราดอกเบี้ย MOR และ MRR ลงเฉลี่ย 0.175% และ 0.2% มาอยู่ที่ 6.912% และ 6.987% ตามลำดับ ในขณะที่ MLR ยังคงไว้ที่อัตราเดิม

การลดดอกเบี้ยในครั้งนี้จึงดูเป็นการมุ่งเป้าหมายไปช่วยเหลือกลุ่มธุรกิจ SME ที่ได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจที่ชะลอ อย่างไรก็ดี การลดดอกเบี้ยในครั้งนี้ อาจช่วยบรรเทาภาระดอกเบี้ยให้ธุรกิจ SME ได้เพียงเล็กน้อย เนื่องจากในขณะนี้ตัวเลขยอดคงค้างสินเชื่อของภาคธุรกิจ SME มีอยู่ประมาณ 5.2 ล้านล้านบาท คิดเป็น 58% ของยอดคงค้างสินเชื่อเพื่อธุรกิจของธนาคารพาณิชย์ทั้งหมด ผลของการลดดอกเบี้ย MOR และ MRR จะทำให้ภาระหนี้รวมของธุรกิจ SME ลดลงไปประมาณ 7.6 พันล้าน ซึ่งคิดเป็น 2.1% ของภาระหนี้ทั้งหมดเท่านั้น

และแม้การลดดอกเบี้ยจะช่วยเหลือภาคธุรกิจได้บ้าง แต่ก็คงไม่สามารถกระตุ้นให้เกิดการลงทุนใหม่ได้ เนื่องจากแนวโน้มเศรษฐกิจที่มีความไม่แน่นอนสูงและอุปสงค์ในประเทศที่ลดลง ต่างส่งผลให้นักลงทุนเลื่อนแผนการลงทุนออกไป ซึ่งในช่วงครึ่งแรกของปี สินเชื่อธนาคารพาณิชย์ที่ให้แก่ภาคธุรกิจขยายตัวในระดับต่ำต่อเนื่อง โดยในไตรมาสที่ 2 สินเชื่อธุรกิจขนาดใหญ่ขยายตัวเพียง 2.6% ลดลงจาก 4.7% ในปีก่อน ในขณะที่สินเชื่อ SME หดตัวที่ 0.1% จากที่เคยเติบโตได้ 4.5% ในปีที่แล้ว

ในฟากธุรกิจขนาดใหญ่ ที่แม้ดอกเบี้ย MLR ไม่มีการเปลี่ยนแปลง ก็ได้รับประโยชน์ของการลดดอกเบี้ยนโยบายผ่านอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาล หรือ government bond yield ที่ลดลง เนื่องจากดอกเบี้ยที่บริษัทต้องจ่ายเวลาออกหุ้นกู้ ขึ้นอยู่กับ bond yield และ ความน่าเชื่อถือของบริษัทที่สะท้อนจาก credit spread ซึ่งหลังจากที่ กนง. ประกาศลดดอกเบี้ยนโยบาย อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยก็ปรับลดลง โดย bond yield ระยะ 5 ปี ปรับลดลงจาก 1.622% เหลือเพียง 1.423%

กลุ่มสุดท้ายที่จะได้ประโยชน์จากการลดดอกเบี้ยเงินกู้ก็คือ ผู้กู้รายย่อย ซึ่งมีสินเชื่อที่อยู่อาศัยเป็นสัดส่วนที่ใหญ่ที่สุดในสินเชื่อรายย่อยของระบบธนาคารพาณิชย์ โดยมีมูลค่าประมาณ 2.3 ล้านล้านบาท และส่วนใหญ่อ้างอิงอัตราดอกเบี้ย MRR ซึ่งแม้แบงก์จะปรับลดไปแล้ว แต่ภาระผ่อนต่อเดือนที่เราต้องจ่ายแบงก์จะคงเดิม เพราะแบงก์จะไปลดจำนวนเดือนที่ต้องจ่ายดอกเบี้ยลง หมายความว่าท่านอาจผ่อนบ้านหมดเร็วขึ้น แต่คนที่จะได้รับประโยชน์คือผู้กู้สินเชื่อใหม่จะอาจได้รับประโยชน์จากอัตราดอกเบี้ยที่ถูกลง แต่สินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยที่เร่งตัวขึ้นไปแล้วในช่วงก่อนหน้านี้ ประกอบกับมาตรการคุมเข้มสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยอย่างมาตรการ LTV ก็ทำให้แนวโน้มการขยายตัวของสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยเป็นไปอย่างจำกัดมากขึ้น

นอกจากนี้ สำหรับสินเชื่อรายย่อยอื่นๆ อย่างสินเชื่อบุคคล สินเชื่อรถ และบัตรเครดิต ที่ต่างใช้อัตราดอกเบี้ยแบบคงที่หรือที่เราเรียกว่า APR ประชาชนอาจไม่ได้รับประโยชน์ใดๆมากนัก เนื่องจากสินเชื่อเหล่านี้ไม่ได้ปรับลดตาม MRR ที่ปรับลดลง ทำให้ในภาพรวมแม้ธนาคารจะปรับ MRR และ MOR ลงตามดอกเบี้ยนโยบาย แต่ภาระผ่อนต่อเดือนของภาคครัวเรือนก็ไม่ได้ลดลงมากแต่อย่างใด

สุดท้ายที่ประเด็นเงินฝาก ที่หลายคนอาจมีความกังวลว่า หากมีการลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้แล้ว อัตราดอกเบี้ยเงินฝากก็จะเปลี่ยนแปลงไปด้วย ซึ่งในความเป็นจริงภายหลังจากการลดดอกเบี้ยนโยบาย ก็มีการการปรับลดดอกเบี้ยเงินฝากนิติบุคคลเพียงเล็กน้อยในบางธนาคาร และแม้ดอกเบี้ยเงินฝากบุคคลทั่วไปยังไม่มีการปรับลด แต่เราก็คงต้องรอดูกันต่อไปนะครับเพราะในอดีตเมื่อมีการปรับดอกเบี้ยนโยบายลง ดอกเบี้ยฝากประจำก็มักถูกปรับลงตาม

จึงอาจสรุปได้ว่า การลดดอกเบี้ยของ กนง. ครั้งนี้ อาจช่วยบรรเทาภาระดอกเบี้ยของภาคธุรกิจได้บ้าง โดยเฉพาะ SME แต่อาจยังไม่สามารถกระตุ้นการกู้เพื่อลงทุนเพิ่มได้ ในขณะที่ธุรกิจขนาดใหญ่อาจได้ประโยชน์จาก bond yield ที่ปรับลดลง ทำให้ต้นทุนในการระดมเงินโดยการออกหุ้นกู้ลดลงตาม ในส่วนของสินเชื่อรายย่อย ภาระผ่อนต่อเดือนของภาคครัวเรือนอาจจะไม่ได้ปรับลดลงมากนักเพราะสินเชื่อส่วนใหญ่อิงกับอัตราดอกเบี้ยคงที่ ในขณะที่ผู้ฝากเงินอย่างเราๆ ก็ยังไม่ได้รับผลกระทบในทางลบแต่อย่างใดครับ