สินเชื่อส่วนบุคคล... ความน่ากังวลของหนี้ครัวเรือนไทย

สินเชื่อส่วนบุคคล... ความน่ากังวลของหนี้ครัวเรือนไทย

หนี้ครัวเรือนก็ยังคงเป็นประเด็นที่หลายๆ ฝ่ายยังคงจับตามองนะครับ เพราะตอนนี้หนี้ครัวเรือนไทยเร่งตัวสูงขึ้นจนเกือบแตะ 13 ล้านล้านบาท

หรือประมาณ 78% ต่อ GDP แล้ว จากข้อมูลหนี้ครัวเรือนที่รวบรวมโดย IMF ในปี 2018 หนี้ครัวเรือนต่อ GDP ของไทยสูงเป็นอันดับที่ 12 ของโลก หรือที่ 2 ในเอเชียรองจากเกาหลีใต้ที่มีหนี้ครัวเรือนประมาณ 94% ต่อ GDP

ซึ่งผู้ให้สินเชื่อรายใหญ่ในไทยไม่ได้มีแค่ธนาคารพาณิชย์เท่านั้น จริงๆ แล้วในระบบสถาบันการเงินยังมีสถาบันการเงินอื่นๆ อย่างสถาบันการเงินเฉพาะกิจ (SFIs) สหกรณ์ออมทรัพย์ และสถาบันการเงิน non-bank ที่มีสัดส่วนการให้สินเชื่อแก่ภาคครัวเรือนอยู่ในระดับสูงเช่นกัน โดยสินเชื่อที่มาจาก SFIs สหกรณ์ออมทรัพย์และ non-bank ให้แก่ภาคครัวเรือนล่าสุดอยู่ที่ระดับ 3.6 2.0 และ 1.2 ล้านล้านบาทตามลำดับ คิดเป็น 54% ของสินเชื่อที่ให้แก่ครัวเรือนทั้งหมด โดยสินเชื่อที่ธนาคารพาณิชย์มีอยู่ 5.4 ล้านล้านบาทซึ่งคิดเป็น 43% ของทั้งหมด ซึ่งอย่างที่เราทราบกันว่าการกำกับดูแลสถาบันการเงินเหล่านี้อาจจะยังไม่ได้เข้มงวดเท่าการกำกับดูแลธนาคารพาณิชย์ หนี้ครัวเรือนที่สูงจึงอาจสร้างความเปราะบางในเสถียรภาพระบบการเงินได้

แต่ประเด็นที่น่ากังวลเกี่ยวกับหนี้ครัวเรือนไทยจริงๆ แล้วผมคิดว่าคือเรื่ององค์ประกอบของหนี้ครัวเรือนไทยมากกว่า เพราะดูจะแตกต่างจากของหลายๆ ประเทศโดยเฉพาะประเทศที่พัฒนาแล้ว เช่นหากเราไปดูสหรัฐอเมริกา อังกฤษ หรือประเทศเพื่อนบ้านเราอย่างสิงคโปร์ เกินครึ่งหนึ่งของหนี้ภาคครัวเรือนเค้าจะอยู่ในสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย ในขณะที่หนี้ครัวเรือนไทยมีสินเชื่อที่อยู่อาศัยเป็นสัดส่วนเพียงแค่ 32.5% ของหนี้ทั้งหมด และสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์เป็นสัดส่วนประมาณ 12% แต่อีกเกือบ 40% หรือประมาณ 4.3 ล้านล้านบาท กลับมากระจุกตัวอยู่ในสินเชื่อส่วนบุคคลอื่นๆ ซึ่งก็คงปฏิเสธไม่ได้ว่าสินเชื่อส่วนบุคคลประเภทนี้ส่วนใหญ่ไม่ได้ใช้เพื่อการลงทุนหรือสร้างรายได้ แต่มักจะเน้นไว้ใช้เพื่ออุปโภคบริโภคซะมากกว่า

โดยหากพิจารณาเฉพาะสินเชื่อส่วนบุคคลในระบบธนาคารพาณิชย์ซึ่งมียอดคงค้างรวมอยู่ที่ 1.2 ล้านล้านบาท พบว่า เกินครึ่งเป็นสินเชื่อที่ไม่มีหลักประกันซึ่งเป็นสินเชื่อที่มีความเสี่ยงสูง และยังมีอัตราการขยายตัวที่สูงมากในช่วงที่ผ่านมา ล่าสุดในไตรมาสหนึ่ง 2019 สินเชื่อไม่มีหลักประกันประเภทบัตรเครดิตขยายตัวถึง 8.8% แตะระดับ 2.3 แสนล้านบาท ในขณะที่สินเชื่อไม่มีหลักประกันอื่นๆ ขยายตัวสูงกว่า 21.2% ทำให้ยอดคงค้างสินเชื่อพุ่งสูงถึง 4 แสนล้านบาทและยังคงมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่อง ในขณะที่สินเชื่อส่วนบุคคลที่มีบ้านเป็นหลักประกัน ซึ่งมีสัดส่วนใหญ่รองลงมา หรือมียอดคงค้างประมาณ 2.8 แสนล้านบาท ก็ขยายตัวกว่า 13.5% ในไตรมาสหนึ่งที่ผ่านมา ในส่วนของการขยายตัวของหนี้เสีย หรือ NPL ของสินเชื่อส่วนบุคคล ก็เพิ่มขึ้นเช่นกัน โดยในไตรมาสหนึ่งที่ผ่านมา NPL ของสินเชื่อส่วนบุคคลที่ไม่รวมบัตรเครดิตขยายตัวเพิ่มขึ้น 10% ทำให้สัดส่วน NPL ต่อสินเชื่ออยู่ที่ 2.55% ซึ่งแม้จะไม่ใช่ระดับที่สูงมาก แต่เศรษฐกิจที่กำลังชะลอลงอาจส่งผลกระทบต่อความสามารถในการชำระหนี้ในอนาคตได้

แม้เราจะเห็น ธปท. เข้ามาคุมเข้มการปล่อยสินเชื่อแก่ภาคครัวเรือนมากขึ้น เช่นการออกมาตรการดูแลสินเชื่อบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคลทั้งธนาคารพาณิชย์และผู้ประกอบธุรกิจสินเชื่อภายใต้การกำกับ ที่มีการปรับแนวทางการกำหนดวงเงินสินเชื่อให้เข้มงวดขึ้น ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่เดือนกันยายน 2017 แต่เราก็ยังคงเห็นการเร่งตัวขึ้นของการขยายตัวของสินเชื่อดังกล่าว จนล่าสุด ธปท. กำลังจะออกมาตรการควบคุมภาระหนี้ต่อรายได้ของผู้กู้ หรือ Debt Service Ratio (DSR) ผ่านสถาบันการเงินภายใต้การกำกับภายในปีนี้ ต้องเรียนท่านผู้อ่านว่า DSR ไม่ใช่เรื่องใหม่สำหรับธนาคารพาณิชย์ เพราะที่ผ่านมาการให้สินเชื่อก็มีการพิจารณาถึงภาระผ่อนต่อรายได้อยู่แล้ว

แล้วทำไมธปท.ถึงต้องใช้มาตรการควบคุม DSR … ถ้าระบบแบงค์ใช้ปฏิบัติอยู่แล้ว

คำตอบก็คือ ต่างธนาคารต่างมีมาตรฐานและวิธีการคำนวณที่แตกต่างกัน มาตรการใหม่ของธปท.จะเป็นการสร้างมาตรฐานเดียวกัน (Standardization) ในระบบธนาคารพาณิชย์ มองลึกลงไปปัญหาไม่ได้อยู่ที่การคำนวณภาระหนี้เนื่องจากประเทศไทยมีฐานข้อมูลเครดิตกลางระดับชาติอยู่แล้ว แต่ความยากอยู่ที่การประเมินรายได้ (Income Estimation) โดยเฉพาะกลุ่มลูกค้าที่ไม่ใช่พนักงานเงินเดือน แต่เป็นเจ้าของธุรกิจ ฟรีแลนซ์ หรือมีรายได้จากค่านายหน้า และอื่นๆ ลองนึกภาพนะครับ ปัจจุบันลูกค้าคนเดียวกัน แต่ละธนาคารประเมินรายได้ออกมาไม่เท่ากัน แล้วถ้านำไปคำนวณ DSR มันก็ไม่ได้มาตรฐานเดียวกัน จุดนี้แสดงให้เห็นถึงความสำคัญของมาตรการใหม่ของธปท.

โดยมาตรการจะเริ่มจากความร่วมมือจากสถาบันการเงินภายใต้การกำกับให้เริ่มรายงานข้อมูล DSR ในเดือนตุลาคม 2019 ซึ่งข้อมูลดังกล่าวสามารถใช้เป็นตัวบ่งบอกความสามารถในการจ่ายหนี้ก้อนใหม่ของผู้กู้ได้ ซึ่งข้อมูลดังกล่าวถือเป็นข้อมูลสำคัญเกี่ยวกับหนี้ครัวเรือนไทย เพราะทำให้เราสามารถประเมินความเสี่ยงของภาคครัวเรือนได้ชัดเจนมากขึ้นเพื่อให้ภาคการเงินเตรียมรับมือได้ทันเมื่อมีปัญหาเกิดขึ้น และนำไปสู่การปล่อยสินเชื่ออย่างมีความรับผิดชอบ (Responsible Lending) ซึ่งไม่ได้คำนึงถึงแต่ความสามารถในการชำระหนี้ของผู้กู้ (Ability-to-Pay) แต่จะต้องพิจารณาถึงความเหมาะสมของการก่อหนี้ของผู้กู้ด้วย (Affordability)

ประเด็นที่จะอยากเรียนปรึกษาท่านผู้อ่านต่อคือ ทั้งมาตรการนี้และการกำกับดูแลจะมีประสิทธิภาพแค่ไหนถ้าความครอบคลุมในการบังคับใช้มีแต่บนธนาคารพาณิชย์ ในเมื่ออีก 60% ของยอดหนี้ครัวเรือนอยู่ในสถาบันการเงินอื่นๆ