บริหาร อย่างทหาร

  บริหาร อย่างทหาร

ชื่อเรื่องอาจจะเรียกแขก แต่บอกกันไว้เลยว่า ผมไม่ได้หมายถึงทหารคนที่ท่านกำลังคิดอยู่...หรอกนะ

ผมจะพูดถึงทหารคนหนึ่ง ที่ประสบความสำเร็จระดับโลก ฝรั่งเรียกเขาว่า Mr. Ren Zhengfei คนไทยเรียกเขาว่า เหริน เจิ้งเฟย ผู้ก่อตั้งบริษัทโทรคมนาคมที่ใหญ่ที่สุดในโลก และผู้ผลิตโทรศัพท์มือถืออันดับสองของโลก ที่ชื่อว่า หัวเหว่ย ครับ

ผมจะไม่พูดเรื่องหัวเหว่ยกับอเมริกา แต่จะศึกษาเขา ในฐานะผู้นำ ซึ่งทำให้บริษัทขนาดจิ๋ว เงินทุนเพียง 100,000 บาท พนักงาน 6 คน ก้าวขึ้นเป็นบริษัทยักษ์ใหญ่ระดับโลก ในเวลาเพียง 20 กว่าปี เท่านั้นเอง

เหริน มาจากครอบครัวที่แสนยากจน เวลาหิวก็ไม่ค่อยกล้ารับประทานอาหาร เพราะเกรงว่าน้องๆบางคนอาจจะอดตาย ตอนเรียนมัธยมเขาไม่เคยมีชุดนักเรียน ตอนเรียนมหาวิทยาลัย แม่ต้องเอาผ้าห่มที่คนอื่นทิ้งแล้ว มาปะชุนให้เขาใช้ ฯลฯ นึกออกหรือยัง ว่าจนขนาดไหน

เหริน เริ่มทำงานเป็นวิศวกร ที่ สถาบันวิจัยของกองทัพ เขามีสถานภาพเป็นทหาร แต่ก็ไม่มียศทหาร เขาดูแลงานเทคโนโลยี และไต่เต้าถึงตำแหน่งรองผู้อำนวยการสถาบันฯ

เหริน เป็นคนค่อนข้างเก็บตัว เราจึงไม่ค่อยได้เห็นเขาพูดในที่สาธารณะ เหมือน แจ้ค หม่า แต่ความจริง เหรินเป็นนักพูดและนักคิด เขาถ่ายทอดปรัชญาบริหาร ผ่านการสื่อสารภายในองค์กรอย่างสม่ำเสมอ เช่นในที่ประชุมพนักงาน หรือวารสารภายใน ซึ่งเรื่องราวที่เขาถ่ายทอดนั้น น่าเรียนรู้อย่างยิ่ง

เขาเคยเปรียบเทียบว่า ในช่วงแรกเริ่ม หัวเหว่ยก็เหมือนมดตัวเล็กๆ ที่อยู่ใต้ฝ่าเท้าช้าง และช้างก็คือบริษัทโทรคมนาคมยักษ์ใหญ่ของตะวันตก แต่เขายังกล้าฝันว่าวันหนึ่ง จะตัวโตเท่าช้างให้ได้

สมัยก่อร่างสร้างตัว ชาวหัวเหว่ยได้รับแจก เสื่อ เพราะ “ง่วงก็ปูเสื่อนอน ตื่นมาก็ทำงานต่อ” แต่เมื่อ 11-12 ปีก่อน บริษัทถูกวิจารณ์ว่า การทำงานหามรุ่งหามค่ำ หรือ “วัฒนธรรมเสื่อ” นั้น ทำให้พนักงานเครียด จนบางคนฆ่าตัวตาย ซึ่ง China Labour Bulletin ระบุว่า มีประมาณ 38 ราย

หลังจากนั้น บริษัทก็ออกกติกาว่าถ้าพนักงานจะทำงานเกินสี่ทุ่ม ต้องได้รับอนุญาตจากผู้บังคับบัญชา รวมทั้งห้ามทำงานและนอนค้างคืนที่บริษัทอีกด้วย

ศาสตราจารย์บางคนเขียนถึงหัวเหว่ยว่า “ชาวหัวเหว่ยมุ่งมั่นทำงาน เพื่อให้ระบบโทรคมนาคมใช้งานได้ แม้ท่ามกลางการโจมตีของผู้ก่อการร้ายที่มุมไบ หรือแผ่นดินไหวที่อัลจีเรีย” และ... “พวกเขาทำงานอย่างกล้าหาญ ในอากาศที่เย็นเฉียบ ยอมอดหลับอดนอนเพื่อให้นักไต่เขาเอเวอร์เรส มีสัญญาณโทรศัพท์มือถือใช้งานได้” ฯลฯ

ชาวหัวเหว่ยในเมืองไทยที่ผมรู้จัก ก็พูดกับผมเหมือนๆกันว่า พวกเขาทำงานหนักมาก จันทร์ถึงเสาร์ ดึกดื่นเกือบทุกวัน ซึ่งเมื่อผมได้อ่านเรื่องราวว่า เหรินสร้างวัฒนธรรมองค์กรขึ้นมาอย่างไร ก็ทำให้เข้าใจมากขึ้น

เหริน มีคำพูดคมๆมากมาย หนึ่งในนั้นน่าจะสะท้อนความเป็นทหารของเขา “แม่ทัพที่ชนะศึก จะรักและเอาใจใส่ทหารดั่งพี่น้อง” ซึ่งก็หมายถึงการดูแลพนักงานอย่างดีนั่นเอง

คนจีนรุ่นเขาซึ่งเติบโตมาจากความยากจน รวมทั้งชีวิตทหาร คงผสมผสานกันทำให้เขามีความรักชาติ แม้ไม่ได้ออกรบแบบทหาร แต่เขาก็รบในฐานะนักธุรกิจ เขาประกาศใช้เทคโนโลยี เป็นแนวรบเพื่อพัฒนาชาติ พนักงานต้องดูแลลูกค้าให้ดีที่สุด เพราะเมื่อธุรกิจประสบความสำเร็จ ก็เสียภาษีให้แก่ชาติได้ เขาบอกว่า นั่นเป็นการแสดงความรักชาติอีกมิติหนึ่ง

เหริน ถือหุ้นในหัวเหว่ยเพียง 1.4% เขากระจายความรู้สึกเป็นเจ้าของให้พนักงาน เพื่อช่วยกันสร้างองค์กรที่เข้มแข็ง ส่วนเรื่องผลิตภัณฑ์ คนทั่วไปคงไม่รู้เรื่องระบบโทรคมนาคมของหัวเหว่ย แต่รู้จักโทรศัพท์มือถือหัวเหว่ย หลายคนเลือกซื้อเพราะว่าเทคโนโลยีการถ่ายภาพดีเยี่ยม รู้ไหมว่านวัตกรรมที่นี่ เกิดขึ้นได้อย่างไร

หัวเหว่ย ใช้งบประมาณถึง 10% ของยอดขาย ในการวิจัยและพัฒนา พนักงานหัวเหว่ย 180,000 คน เกือบครึ่งหนึ่ง ทำ R&D กระจายกันอยู่ใน 14 ออฟฟิศทั่วโลก ปีที่แล้วหัวเหว่ยใช้เงินถึง 15,000 ล้านเหรียญ หรือ 14% ของยอดขาย เพื่อทำ R&D

แค่นี้ก็พอจะเห็นภาพแล้วว่า หัวเหว่ยคงจะมีผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ที่จ่อคิวรออยู่อีกมากมาย เพื่อทะยอยสู่ท้องตลาด ทุกวันนี้ หัวเหว่ยก็ได้รับการยอมรับแล้วว่า เป็นผู้นำ 5G ของโลก

การทำ R&D ขนาดนี้ ผมคิดว่า น่าทึ่งมาก และ น่ากลัวมาก สำหรับคู่แข่ง เพราะบริษัทที่ทุ่มงบประมาณ และบุคลากรไปในการวิจัย อย่างมากและอย่างต่อเนื่อง ย่อมรักษาความเป็นผู้นำและความได้เปรียบ ไปได้อีกนาน

วัฒนธรรมองค์กรของหัวเหว่ย ถูกกล่อมเกลาให้เป็น “วัฒนธรรมสุนัขป่า” (Wolf Culture) ซึ่งฟังแล้วน่ากลัวครับ แต่ก็มีการขยายความว่า ลักษณะแรก ของสุนัขป่าคือ ความกระหายเลือด (ยิ่งน่ากลัวเข้าไปใหญ่)​ ซึ่งแปลว่าพนักงานต้องทันต่อภาวะตลาดและตอบสนองความเปลี่ยนแปลงได้อย่างรวดเร็วเสมอ ลักษณะที่สองคือ พนักงานต้องอดทนต่อความยากลำบากทุกชนิด ลักษณะทีี่สาม คือทำอะไรต้องทำเป็นทีม และคิดเป็นทีม

นอกจากนั้น เหรินบอกว่า พนักงานทุกคน จะต้องวิพากษ์วิจารณ์ตนเอง เพื่อพัฒนาตนเองให้ดีขึ้นตลอดเวลา แต่ต้องไม่วิพากษ์วิจารณ์เพื่อนร่วมงานคนอื่น

ที่หัวเหว่ย ผู้บริหารระดับสูง ต้องรับผิดชอบในการ กำหนดทิศทาง ของวัฒนธรรมองค์กร ผู้บริหารระดับกลาง ต้องหาวิธีที่ดีที่สุดในการพัฒนาวัฒนธรรมองค์กร ผู้บริหารระดับล่าง ต้องมุ่งมั่นใน การสร้างทีม และ พนักงานใหม่ ต้อง เปิดตามอง ตั้งใจฟัง และเชื่อมั่น (Seeing, Hearing, Believing) ในวัฒนธรรมองค์กร

นั่นคือเรื่องราวโดยย่อ ว่าด้วยการบริหารแบบเหริน ซึ่งย่อมมีผลพวงจากความคิดแบบทหารแฝงอยู่พอสมควร เขาเป็นนักสู้ชีวิต พรั่งพร้อมด้วยคำสอน และปฎิบัติตัวเป็นตัวอย่างแก่พนักงาน จนกลายเป็นบริษัทใหญ่ระดับโลก

แต่เรื่อง บริหารแบบทหาร ยังไม่จบครับ คุณรู้ไหมว่ายังมี อีกหลายบริษัท ที่ ซีอีโอเคยเป็นทหารมาก่อน ครั้งหน้า ผมจะเล่าให้ฟังว่า ซีอีโอที่เคยเป็นทหารนั้น ประสบความสำเร็จในการบริหารธุรกิจ มากน้อยเพียงใด

ส่วน ซีอีโอของประเทศ ที่เคยเป็นทหารนั้น ผมมิบังอาจนำเสนอครับ คงต้องรอให้คุณผู้อ่านวิเคราะห์กันเอง แล้วช่วยแจ้งผมด้วยว่า ผลงานเป็นเช่นใด...

วันนี้ขออนุญาต ...ตะเบ๊ะ ครับพ้ม!