ปัญหาการจ้างงาน “แบบไม่ราชการ” ในภาครัฐ

ปัญหาการจ้างงาน “แบบไม่ราชการ” ในภาครัฐ

หลายปีที่ผ่านมา ใครหลายคนคงพอจะรับรู้ว่า หน่วยราชการต่างๆ มีผู้ปฏิบัติงานจำนวนหนึ่งที่ไม่ใช่ข้าราชการ

ซึ่งในแต่ละกระทรวง อาจเรียกขานคนเหล่านี้แตกต่างกันออกไป เช่น พนักงานราชการ พนักงานมหาวิทยาลัย ลูกจ้างประจำ ลูกจ้างชั่วคราว พนักงานเงินรายได้ อัตราจ้าง ฯลฯ ผู้คนทั่วไปอาจคิดว่าคนเหล่านี้ ไม่ได้ทำงานที่เป็นงานหลักขององค์กรนั้นจึงไม่จำเป็นต้องบรรจุเป็นข้าราชการ เช่น ผู้มีหน้าที่ทำสวน ทำความสะอาดสถานที่ ขับรถรับส่งบุคลากร หรือมิเช่นนั้นก็คงเพราะมีวุฒิการศึกษาไม่สูง ทำให้หน่วยงานไม่สามารถบรรจุเป็นข้าราชการได้ แต่คนในแวดวง ตรงต่างรู้ดีว่าปัญหาการบรรจุเป็นข้าราชการในหน่วยงานต่างๆ เกิดขึ้นต่อเนื่อง โดยเฉพาะตำแหน่งที่ดูเหมือนจะเป็นข่าวอยู่บ่อยครั้งคือ ครูและพยาบาล เมื่อไม่นานมานี้ก็มีข่าวคราวเกี่ยวกับเภสัชกรเพิ่มเข้ามาอีก ซึ่งตำแหน่งหน้าที่เหล่านี้ล้วนแต่เป็นตำแหน่งที่ทำหน้าที่หลักในหน่วยงานทั้งสิ้น

ดังนั้นจึงไม่น่าแปลกใจที่ครู พยาบาล เภสัชกรและคนกลุ่มอื่นๆ ได้แสดงออกถึงความไม่พอใจให้เป็นข่าวคราวเป็นระยะๆ นั่นเพราะว่าเมื่อตนเองต้องปฏิบัติหน้าที่ในลักษณะเดียวกันกับพวกรุ่นพี่ในหน่วยงานนั้นๆ ในขณะที่พวกรุ่นพี่ได้บรรจุแต่งตั้งให้เป็นข้าราชการ แต่ตนเองกลับไม่ถูกบรรจุ ซึ่งไม่ว่าจะถูกเรียกด้วยชื่อว่าอะไร ไม่ว่าจะเป็นพนักงานราชการ อัตราจ้างหรืออะไรก็ตาม ทุกคนต่างก็รู้ดีว่า ตนเองนั้นด้อยสิทธิกว่าการเป็นข้าราชการในทุกทาง ไม่ว่าจะด้านความมั่นคง สิทธิประโยชน์ สวัสดิการ ยังไม่ต้องนับรวมถึงสิ่งที่กินไม่ได้อย่างเกียรติยศ กรณีที่กล่าวมานี้อาจสามารถเรียกได้ว่าเป็นการจ้างงานแบบไม่เป็นทางการและการจ้างงานแบบยืดหยุ่นในภาครัฐ

ความจริงแล้วกระแสการจ้างงานแบบไม่เป็นทางการ(non-standard employment) และการจ้างงานแบบยืดหยุ่น(flexible employment)เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นมานานแล้วในภาคเอกชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสายการผลิตของโรงงานอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ที่มีการจ้างพนักงานประจำไว้ส่วนหนึ่ง แล้วส่วนที่เหลือใช้การจ้างผ่านผู้รับเหมาช่วงบ้าง จ้างด้วยสัญญาระยะสั้นบ้าง ซึ่งพนักงานเหล่านี้แม้จะต้องทำงานเคียงข้างพนักงานประจำของโรงงานแต่ก็จะมีสภาพการจ้างอันหมายถึงค่าจ้างและสวัสดิการที่ด้อยกว่า โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับผู้ที่ถูกจ้างด้วยสัญญาจ้างแบบมีกำหนดระยะเวลา ไม่ว่าจะเป็นแบบ 3 เดือน 6 เดือน หรือ 1 ปีก็ตาม ก็จะมีความไม่มั่นคงในการทำงานสูง ซึ่งหากจะว่ากันตามกฎหมายโดยเคร่งครัดแล้ว การจ้างงานแบบมีกำหนดระยะเวลานี้ไม่สามารถจะกระทำได้หากงานดังกล่าวนั้นเป็นงานปกติที่กระทำต่อเนื่องตลอดทั้งปีและไม่มีกำหนดระยะเวลาสิ้นสุดที่แน่ชัด

ภายใต้การจ้างงานดังเช่นที่ว่านี้ ฝ่ายที่ได้ประโยชน์อย่างชัดเจนก็คือฝ่ายผู้จ้าง เพราะสามารถประหยัดต้นทุนทางด้านแรงงานลงได้มาก อีกทั้งในยามที่ยอดการผลิตสินค้ามีการผันแปรในทางลดลงนายจ้างก็จะสามารถลดจำนวนพนักงานได้โดยไม่ต้องกังวลกับค่าชดเชยที่จะต้องเสียดังเช่นการปลดพนักงานประจำ ในขณะที่ฝ่ายผู้เสียประโยชน์ก็คือลูกจ้าง

เมื่อมองจากมุมของนายจ้างที่เป็นธุรกิจภาคเอกชน การจ้างงานแบบไม่เป็นทางการและการจ้างงานแบบยืดหยุ่นจึงสามารถเข้าใจได้ว่าเป็นเครื่องมืออย่างหนึ่งเพีอให้ธุรกิจบรรลุเป้าหมายกำไรสูงสุด อย่างไรก็ตาม การที่การจ้างงานลักษณะนี้ปรากฏในหน่วยงานภาครัฐ ซึ่งไม่ได้มีเป้าหมายที่กำไรสูงสุด เป็นประเด็นที่น่าคิดไม่น้อยว่าเป็นเพราะเหตุใด

หากคำตอบคือ รัฐต้องการลดภาระค่าใช้จ่ายด้านบุคลากร เพราะสิทธิประโยชน์ของการเป็นข้าราชการนั้นล้วนแล้วแต่เป็นภาระทางการเงินในระยะยาวสำหรับผู้รัฐทั้งสิ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งเงินบำนาญและการเบิกจ่ายค่ารักษาพยาบาล ทั้งของตัวข้าราชการเองและครอบครัว ซึ่งประเด็นเรื่องสิทธิประโยชน์ของข้าราชการมีการถกเถียงกันในสังคมมานานแล้ว ในประเด็นที่ว่า สิทธิประโยชน์การรักษาพยาบาลของข้าราชการมีความได้เปรียบกว่าประชาชนทั่วไปมากทั้งในระบบบัตรทองและประกันสังคม ซึ่งเมื่อคิดเป็นตัวเลขที่รัฐต้องเป็นผู้จ่ายแล้วก็พบว่าค่าใช้จ่ายต่อหัวด้านการรักษาพยาบาลของข้าราชการสูงกว่าบัตรทองหลายเท่า (ข้อมูลจาก พ.ร.บ งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2561 พบว่า สวัสดิการรักษาพยาบาลราชการได้รับการอุดหนุน 12,676 บาท/คน ในขณะที่หลักประกันสุขภาพหรือบัตรทองอยู่ที่ประมาณ 2,592 บาท/คน) อย่างไรก็ตาม นี่ไม่ใช่เหตุผลที่น่ารับฟังนักสำหรับกรณีการไม่บรรจุคนเข้าเป็นข้าราชการดังที่ได้กล่าวไปในตอนต้น

เพราะหากรัฐเห็นว่าข้าราชการได้รับสิทธิ์ที่มากเกินไปจริงๆ สิ่งที่รัฐควรทำก็คือแก้ไขกฎหมายเพื่อลดสิทธิ์ของข้าราชการลง และประกาศให้สาธารณะชนรับทราบว่าต่อไปนี้ข้าราชการบรรจุใหม่ทุกคนจะได้รับสิทธิอย่างไรบ้าง เพื่อให้ทุกคนที่ต้องการสมัครเข้าทำงานราชการได้รับรู้และตัดสินใจด้วยข้อมูลที่ครบถ้วนถูกต้อง หรือหากรัฐเห็นว่าสิทธิ์ที่ข้าราชการได้รับอยู่นั้นเหมาะสมดีแล้ว รัฐก็ต้องให้สถานะและสภาพการจ้างของผู้ปฏิบัติงานแบบเดียวกันอย่างเท่าเทียมโดยไม่แบ่งแยกเป็นข้าราชการ พนักงานราชการ อัตราจ้าง ลูกจ้างชั่วคราว หรือชื่อเรียกอื่นใด ไม่เช่นนั้นแล้วประเทศไทยก็จะอยู่ในสภาพที่ตัวรัฐเองเป็นผู้ฝ่าฝืนกฎหมายเสียเอง และแน่นอนว่าการกระทำเช่นนี้ของรัฐมิได้มีส่วนในการช่วยส่งเสริมประสิทธิภาพของระบบราชการแต่อย่างใด ตรงกันข้ามผู้ที่ต้องตกอยู่ในสภาพการจ้างงานที่ไม่เท่าเทียมเหล่านี้ล้วนขาดขวัญกำลังใจที่จะทุ่มเททำงานให้เกิดประสิทธิภาพ

ตะวัน วรรณรัตน์

ภาควิชาสังคมศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์มหาวิทยาลัยศิลปากร