ระบบแบงก์ไทย ปล่อยกู้ รับฝาก ได้กำไรเท่าไหร่

ระบบแบงก์ไทย ปล่อยกู้ รับฝาก ได้กำไรเท่าไหร่

ในช่วงที่ดอกเบี้ยเงินฝากของไทยอยู่ในระดับต่ำมานานอย่างต่อเนื่อง

เลยอาจทำให้เกิดข้อสงสัยว่าธนาคารพาณิชย์ไทยได้ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ย หรือ spread สูงเกินไปหรือไม่ เพราะปัจจุบันอัตราดอกเบี้ยเงินฝากออมทรัพย์ของธนาคารพาณิชย์ไทยเฉลี่ยเพียง 0.5% ในขณะที่ดอกเบี้ยงินกู้ขั้นต่ำของลูกค้ารายใหญ่ (MLR) เฉลี่ยสูงถึง 6.3% แต่หากลองเทียบส่วนต่างดอกเบี้ยเงินกู้และเงินฝากของไทยกับต่างประเทศ จะเห็นว่า spread ของธนาคารไทยที่ 5.8% ก็อยู่ใกล้เคียงกับเพื่อนบ้านอย่าง อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และมาเลเซียที่ spread อยู่ที่ประมาณ 8.2% 6% และ 4% ตามลำดับ

แต่จริงๆ การดูแค่ spread ของดอกเบี้ยเงินกู้กับเงินฝากอาจจะทำให้เราเห็นภาพไม่ครบนะครับ เพราะการปล่อยสินเชื่อคนละประเภท หรือปล่อยให้รายใหญ่กับรายเล็ก ธนาคารก็คิดดอกเบี้ยต่างกัน อีกทั้งรายได้จากดอกเบี้ยก็ไม่ได้มาจากการปล่อยสินเชื่อเพียงอย่างเดียว แต่ยังมาจากดอกเบี้ยจากการลงทุนอื่นๆ อีก เช่น ตราสารหนี้ ตราสารทุน ในขณะที่ฝั่งเงินฝากก็มีดอกเบี้ยหลายระดับ อัตราดอกเบี้ยเงินฝากที่ให้รายใหญ่ก็ไม่เท่ากับรายเล็กเช่นกัน และก็ไม่ได้มาจากเงินฝากเพียงอย่างเดียว แต่ยังมาจากการกู้ยืมจากธนาคารกลาง และกู้ยืมจากตลาดเงินตลาดทุนด้วย

ดังนั้น เพื่อให้เห็นภาพที่ครบขึ้น เราอาจหันมาดู Net Interest Margin หรือ NIM แทน ซึ่งก็คือรายได้จากดอกเบี้ยทั้งหมดหักด้วยรายจ่ายดอกเบี้ยทั้งหมดเทียบกับสินทรัพย์ที่ก่อให้เกิดรายได้ โดยไตรมาสหนึ่งที่ผ่านมา NIM ของธนาคารพาณิชย์ไทยอยู่ที่ประมาณ 3% หมายความว่า จากสินทรัพย์ที่ก่อให้เกิดรายได้ 100 บาท ธนาคารสามารถสร้างรายได้สุทธิจากดอกเบี้ยได้ 3 บาท ซึ่งถือว่าอยู่ในระดับกลางๆ เมื่อเทียบกับ NIM ของประเทศเพื่อนบ้านที่อยู่ในช่วงระหว่าง 1.4-6.4%

แต่การดูแค่ NIM ก็ยังขาดต้นทุนสำคัญอีกอย่างของการปล่อยสินเชื่อ ซึ่งก็คือความเสี่ยงของสินเชื่อ หรือ risk cost ที่ปัจจุบันอยู่ที่ประมาณ 0.8% ของสินทรัพย์ที่ก่อให้เกิดรายได้ เพราะธนาคารต้องกันเงินสำรอง (provision) ไว้เผื่อมีการผิดนัดชำระ โดยธนาคารจะตั้ง provision มากหรือน้อยขึ้นอยู่กับการจัดชั้นความเสี่ยงของสินทรัพย์ ถ้าสินทรัพย์มีความเสี่ยงมากธนาคารก็จะต้องตั้ง provision มาก ซึ่งทำให้กำไรสุทธิของธนาคารลดลง

โดยเราเริ่มเห็นการตั้ง provision เร่งตัวสูงขึ้นหลังจากที่คุณภาพสินเชื่อเริ่มด้อยลงตั้งแต่ช่วงปี 2013 โดยสัดส่วน NPL ต่อยอดสินเชื่อทั้งหมดเพิ่มขึ้นจาก 2.15% มาอยู่ที่ 2.94% หรือประมาณ 4.5 แสนล้านบาทในช่วงไตรมาส 1 ที่ผ่านมา ซึ่งสินเชื่อส่วนนี้เป็นส่วนที่ธนาคารต้องตั้งสำรองเต็ม 100% ทำให้ provision ในไตรมาสแรกอยู่ที่ประมาณ 3.4 หมื่นล้านบาท

ถ้าเทียบง่ายๆ จากข้อมูลในไตรมาสล่าสุดนะครับ เมื่อธนาคารปล่อยสินเชื่อออกไป 100 บาท จะได้รายได้จากดอกเบี้ยมา 4.4 บาท ซึ่งจะถูกหักเป็นรายจ่ายดอกเบี้ยไป 1.4 บาท และยังโดนหัก risk cost อีก 0.8 บาท ทำให้รายได้ดอกเบี้ยสุทธิจริงๆ แล้วเหลือ 2.2 บาท

ซึ่งตัว risk cost นี้ เพิ่มสูงขึ้นหลังธนาคารเพิ่มการตั้งสำรองตาม IFRS9 ที่เป็นมาตรฐานการรายงานทางการเงินฉบับใหม่ ที่จะเริ่มบังคับใช้ในปี 2020 เพราะสินเชื่อที่เริ่มมีปัญหาแต่ยังไม่ถึงขั้นเป็นหนี้เสียอย่างสินเชื่อกล่าวถึงพิเศษ (SM) ที่ปัจจุบันอยู่ในระดับสูงถึง 4 แสนล้าน หรือ 2.56% ของสินเชื่อทั้งหมด และกลุ่มที่อยู่ในระหว่างการปรับโครงสร้างหนี้ อาจต้องมีการตั้งสำรองเพิ่มขึ้นหรืออาจต้องตั้งเต็ม 100%

ดังนั้น ในช่วงที่เหลือของปี แม้ risk cost จะยังอยู่ในระดับสูง แต่คงไม่ได้สูงขึ้นไปกว่านี้มาก เนื่องจากหลายๆธนาคารเร่งตั้งสำรองไปแล้ว ดูได้จาก loan loss coverage ratio ของระบบธนาคารพาณิชย์ไทยที่ล่าสุดขึ้นไปแตะระดับ 150% แล้ว อย่างไรก็ตาม NIM อาจถูกกระทบจากการขยายตัวของสินเชื่อที่อาจชะลอลงตามการชะลอของเศรษฐกิจ